โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2567 18:38:39 )
ชื่อจารึก |
จารึกขลุง |
ชื่อจารึกแบบอื่นๆ |
Nouvelles Inscriptions de Chantaboun : Inscription de Khălŭng, K. 503 |
อักษรที่มีในจารึก |
ปัลลวะ |
ศักราช |
พุทธศตวรรษ 12 |
ภาษา |
สันสกฤต |
ด้าน/บรรทัด |
จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 4 บรรทัด |
วัตถุจารึก |
หินทรายสีแดง |
ลักษณะวัตถุ |
ชิ้นส่วนจารึกแตกหักมาจากแท่งหินทรงสามเหลี่ยมด้านเท่า |
ขนาดวัตถุ |
กว้างด้านละ 18 ซม. |
บัญชี/ทะเบียนวัตถุ |
1) ในวารสาร Bulletin de l’École Française d’Éxtrême-Orient XXIV กำหนดเป็น “Nouvelles Inscriptions de Chantaboun : Inscription de Khălŭng” |
ปีที่พบจารึก |
พุทธศักราช 2461 |
สถานที่พบ |
ใกล้ที่ว่าการอำเภอขลุง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี |
ผู้พบ |
หลวงธรรมาภิมัณฑ์ |
ปัจจุบันอยู่ที่ |
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร (ข้อมูลจากซองเก็บสำเนาจารึกของภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร-สำรวจเมื่อ 9 ธันวาคม 2565) |
พิมพ์เผยแพร่ |
1) Bulletin de l’École Française d’Éxtrême-Orient XXIV (1924) : 352-353. |
ประวัติ |
จารึกหลักนี้ ถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรกใน วารสารสำนักฝรั่งเศสปลายบูรพาทิศ (Bulletin de l’École Française d’Éxtrême-Orient) ฉบับที่ 24 ปี พ.ศ. 2467 โดย ศ. ยอร์ช เซเดส์ ได้รายงานเกี่ยวกับจารึกพบใหม่ที่มณฑลจันทบูร (ปัจจุบันคือ จังหวัดจันทบุรี) จำนวน 3 ชิ้น ในบทความชื่อ กัมพูชาศึกษา (Etudes Cambodgiennes) หัวข้อที่ 18 เรื่อง “การขยายตัวของอาณาจักรกัมพูชาไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ในคริสตศตวรรษที่ 7 (ราวพุทธศตวรรษที่ 13) (จารึกหลักใหม่พบที่จันทบูร)” จารึกดังกล่าวพบที่อำเภอขลุง จังหวัดจันทบูร มีประวัติว่ามีผู้ใหญ่บ้านผู้หนึ่งขุดพบโดยบังเอิญ ในขณะที่กำลังทำสวนพริกไทย ซึ่งตั้งอยู่ข้างๆ ศาลเจ้า ใกล้กันกับที่ว่าการอำเภอขลุงที่อยู่สุดปลายคลอง ต่อมา หลวงธรรมาภิมัณฑ์ เจ้าหน้าที่หอพระสมุดวชิรญาณทราบเรื่องจึงได้แจ้งให้ ศ. ยอร์ช เซเดส์ ทราบเมื่อปี พ.ศ. 2461 เรื่องราวเกี่ยวกับจารึกขลุงนี้ ดูเหมือนว่าจะมีกล่าวถึงอยู่แต่ใน วารสารฝรั่งเศสปลายบูรพาทิศเท่านั้น เนื่องจากตรวจสอบแล้วไม่ปรากฏว่า ทางหอสมุดแห่งชาติได้มีการอ่าน และแปลจารึกหลักดังกล่าวแต่อย่างใด |
เนื้อหาโดยสังเขป |
เนื่องจากจารึกชำรุดมาก จึงทราบแต่เพียงว่า เป็นจารึกที่กล่าวถึงการทำบุญโดยพระราชาพระองค์หนึ่งไม่ทราบพระนาม เนื่องจากตรงที่เป็นพระนามชำรุดหายไป ซึ่งอาจมีนามว่า ศรีจานทรายณนาถะ อันเป็นนามที่ปรากฏในอีกบรรทัดต่อมา |
ผู้สร้าง |
ไม่ปรากฏหลักฐาน |
การกำหนดอายุ |
ศ. ยอร์ช เซเดส์ ได้สรุปรูปแบบอักษรไว้พอสังเขปว่าเป็นอักษรที่ใช้กันโดยทั่วไปในคริสตศตรรษที่ 7 หรือ ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ซึ่งก็ร่วมสมัยกันกับจารึกวัดสระบาปและจารึกวัดทองทั่ว ซึ่งทางหอสมุดแห่งชาติได้กำหนดอายุตามตัวอักษรเป็นอักษรปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 ดังนั้น ในเบื้องต้นนี้ จึงขอกำหนดอายุไว้ที่พุทธศตวรรษที่ 12 |
ข้อมูลอ้างอิง |
เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก : |
ภาพประกอบ |
1) ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 |