อายุ-จารึกพุทธศตวรรษที่ 12, ยุคสมัย-จารึกสมัยเจนละ, วัตถุ-จารึกบนหิน, วัตถุ-จารึกบนหินทราย, ลักษณะ-จารึกบนใบเสมา, ที่อยู่ปัจจุบัน-จารึกวัดบ้านกู่จาน จังหวัดยโสธร, ศาสนา-จารึกในพระพุทธศาสนา, ศาสนา-จารึกในพระพุทธศาสนา นิกายมหายาน, เรื่อง-พิธีกรรมทางศาสนา, เรื่อง-พิธีกรรมทางศาสนา-ประดิษฐานพระพุทธรูป, เรื่อง-การบริจาคและการทำบุญ, เรื่อง-การบริจาคและการทำบุญ-ถวายไทยธรรม, เรื่อง-การสรรเสริญบุคคล-พระพุทธเจ้า,
โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2567 21:58:13 )
ชื่อจารึก |
จารึกบ้านกู่จาน |
ชื่อจารึกแบบอื่นๆ |
ยส. 7 |
อักษรที่มีในจารึก |
ปัลลวะ |
ศักราช |
พุทธศตวรรษ 12 |
ภาษา |
สันสกฤต |
ด้าน/บรรทัด |
จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 8 บรรทัด |
วัตถุจารึก |
ศิลา ประเภทหินทราย |
ลักษณะวัตถุ |
รูปใบเสมา |
ขนาดวัตถุ |
กว้าง 97 ซม. สูง 77 ซม. หนา 16 ซม. |
บัญชี/ทะเบียนวัตถุ |
1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “ยส. 7” |
ปีที่พบจารึก |
พุทธศักราช 2541 |
สถานที่พบ |
ดอนปู่ตา บ้านกู่จาน ตำบลกู่จาน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร |
ผู้พบ |
ไม่ปรากฏหลักฐาน |
ปัจจุบันอยู่ที่ |
ทิศใต้ของพระอุโบสถ วัดกู่จาน ตำบลกู่จาน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร (สำรวจเมื่อ 2 กันยายน 2563) |
พิมพ์เผยแพร่ |
วารสารศิลปากร ปีที่ 42 ฉบับที่ 4 (กันยายน-ตุลาคม 2542) : 89-93. |
ประวัติ |
เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 ได้ดำเนินการตรวจสอบแหล่งโบราณคดีบ้านกู่จาน ตำบลกู่จาน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ได้พบศิลาจารึกหลักรูปทรงใบเสมาหลักหนึ่ง ที่ด้านหลังพระอุโบสถวัดบ้านกู่จาน จากการสอบถามราษฎรในพื้นที่ ทำให้ทราบว่าจารึกหลักนี้ แต่เดิมจารึกหลักนี้ อยู่รวมกลุ่มอยู่กับกลุ่มใบเสมาบริเวณดอนปู่ตา ทางเหนือของหมู่บ้าน ต่อมาราษฎรได้ย้ายมาเก็บรักษาไว้ที่วัดบ้านกู่จาน จารึกหลักนี้ อาจารย์ชะเอม แก้วคล้าย ได้อ่าน-แปล แล้วนำไปตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในวารสารศิลปากร ปีที่ 42 ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2542 โดย อาจารย์ชะเอม แก้วคล้าย ได้ให้ความเห็นว่าจารึกบ้านกู่จานนี้ เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการนับถือพุทธศาสนามหายาน ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 เนื่องจาก ถึงแม้ว่าเนื้อหาของจารึกเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาก็ตาม แต่ภาษาที่ใช้กลับเป็นภาษาสันสกฤต ต่างจากจารึกที่พบที่จังหวัดนครปฐม และลพบุรี ที่ช่วงเวลาเดียวกัน ที่มีเนื้อหาเป็นพุทธศาสนา แต่ใช้ภาษาบาลี การที่เป็นจารึกพุทธศาสนาที่ใช้ภาษาสันสกฤตนี้ เป็นลักษณะของลัทธิมหายาน นอกจากนั้นแล้ว การเรียกพระพุทธรูป ในจารึกบ้านกู่จานนี้ ก็ใช้คำว่า “ศรีฆนํ” ซึ่งเป็นคำที่ใช้เฉพาะในพุทธศาสนาลัทธิมหายานเท่านั้น |
เนื้อหาโดยสังเขป |
เนื่องจากจารึกมีอักษรที่ชำรุดและลบเลือนมาก จึงจับใจความได้แต่เพียงว่า จารึกนี้ เป็นจารึกของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน กล่าวถึงการประดิษฐานพระพุทธรูป พุทธศาสนิกชนร่วมกันทำบุญถวายจีวร และมีการสรรเสริญพระพุทธเจ้าโดยผู้ถึงพระโพธิญาณ |
ผู้สร้าง |
ไม่ปรากฏหลักฐาน |
การกำหนดอายุ |
กำหนดอายุจากรูปอักษรปัลลวะ ได้อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 นอกจากนี้ อาจารย์ชะเอม แก้วคล้าย ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า รูปสระ “อิ” กับ สระ “อี” คล้ายกันกับจารึกเขาน้อย จารึกเขารัง จารึกพระเจ้าภววรมันที่ 2 ซึ่งน่าจะอยู่ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าภววรมันที่ 2 ซึ่งครองราชสมบัติระหว่าง พ.ศ. 1178-1198 หรือ ปลายพุทธศตวรรษที่ 12 |
ข้อมูลอ้างอิง |
เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก : |
ภาพประกอบ |
ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-01, ไฟล์; YS_003) |