จารึกวัดสระกำแพงใหญ่

จารึก

จารึกวัดสระกำแพงใหญ่

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2566 08:35:05 )

ชื่อจารึก

จารึกวัดสระกำแพงใหญ่

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

ศก. 1, K.374

อักษรที่มีในจารึก

ขอมโบราณ

ศักราช

พุทธศักราช 1585

ภาษา

เขมร

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 24 บรรทัด

วัตถุจารึก

ศิลา ประเภทหินทราย

ลักษณะวัตถุ

กรอบประตู

ขนาดวัตถุ

กว้าง 54 ซม. สูง 265 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “ศก. 1”
2) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 3 กำหนดเป็น “จารึกวัดสระกำแพงใหญ่”

ปีที่พบจารึก

พุทธศักราช 2512

สถานที่พบ

ซุ้มประตูกำแพงศาสนสถาน วัดสระกำแพงใหญ่ ตำบลสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

ซุ้มประตูกำแพงศาสนสถาน ด้านตะวันออก วัดสระกำแพงใหญ่ ตำบลสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ (ข้อมูลวันที่ 2 มกราคม 2563)

พิมพ์เผยแพร่

1) วารสาร ศิลปากร ปีที่ 26 ฉบับที่ 6 (มกราคม 2526) : 59-62.
2) จารึกในประเทศไทย เล่ม 3 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 171-175.

ประวัติ

จารึกหลักนี้ปรากฏการตีพิมพ์เป็นหลักฐานครั้งแรกในรายงาน É. Aymonier (1901: 197)
ลักษณะของกลุ่มปราสาทประธานที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่เป็นปราสาท 3 หลังตั้งบนฐานเดียวกัน ซึ่งช่วงยุคสมัยของพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 1 ปราสาทเขาพระวิหารเป็นปราสาทหลังเดียวมีมุขยื่น ส่วนปราสาทเขาพนมจิซอร์ เป็นปราสาท 3 หลัง ที่ตั้งบนฐานแยกต่างหากกัน ไม่ได้รวมกันเป็นฐานเดียว ดังนั้นจึงชวนให้คิดได้ว่าปราสาทสระกำแพงใหญ่ยังคงรักษารูปแบบเดิม
อนึ่ง ที่มุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ภายในระเบียงคดมีปราสาทอีกหลังหนึ่งอยู่ แต่ในขณะเดียวกันมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือกลับไม่พบปราสาทแต่ประการใด ในประเด็นนี้ผู้วิจัยสันนิษฐานว่า อาจจะเป็นได้ว่า แต่เดิมแผนผังของปราสาทประธานที่พบในเขตลุ่มแม่น้ำมูลจะมีการทำเป็น 5 หลังบนฐานเดียวกัน โดยแบ่งเป็นแถวหน้า 3 หลัง แถวหลัง 2 หลัง เช่น ปราสาทเมืองต่ำ เป็นต้น ดังนั้นปราสาทสระกำแพงใหญ่ อาจจะมีการปรับเปลี่ยนแปลงผังปราสาทประธานให้คงเฉพาะแถวหน้า ส่วนแถวหลังแยกส่วนออกต่างหาก  แต่การที่ไม่ปรากฎที่มุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือสันนิษฐานว่า ปราสาทแห่งนี้น่าจะมีการปรับแผนการสร้าง
จากการขุดแต่งปราสาทสระกำแพงใหญ่ พบชิ้นส่วนนาคปักซึ่งปัจจุบันชิ้นส่วนเหล่านี้เก็บรักษาอยู่ในโรงเก็บโบราณวัตถุภายในวัด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เชื่อว่า ชั้นประดับหลังคาของปราสาทสระกำแพงใหญ่น่าจะเป็นทรงพุ่มซึ่งมีอายุเก่ากว่าปราสาทหินพิมาย
จากการศึกษาของ สมิทธิ ศิริภัทร์ และมยุรี วีระประเสริฐ (2533: 106, 112) พบว่า ทับหลังที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่แสดงถึงรูปแบบของทับหลังในช่วงครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 16 ซึ่งทับหลังบางชิ้นน่าจะมีการแกะสลักขึ้นก่อนสลักจารึกที่กรอบประตูโคปุระของปราสาทแห่งนี้ ซึ่ง รุ่งโรจน์  ภิรมย์อนุกูล (2564) มีความเห็นดังต่อไปนี้
ประการแรก แม้ภาพสลักจะสลักขึ้นก่อนจารึก แต่ก็มีอายุร่วมสมัยกัน ถ้าตัดประเด็นเรื่องการนิยมรูปแบบทางศิลปะที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ที่ช้ากว่าในเมืองพระนคร ก็ชวนให้คิดว่าจารึกหลักนี้สลักหลังการแกะสลักลวดลายประดับ
ประการที่สอง ปราสาทแห่งนี้อาจจะก่อสร้างจนถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 16 จนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 ทั้งนี้จากการขุดแต่งของ กรมศิลปากร (2531ข: 35) ได้ขุดพบประติมากรรมสำริดที่ปราสาทอิฐหลังทิศใต้ ประติมากรรมชิ้นนี้ที่ลูกตามีการเจาะ สันนิษฐานว่าเจาะเพื่อใส่อัญมณี 
อีกทั้งที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ยังพบประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่ที่มีการเจาะลูกตา เซาะคิ้วและหนวดเพื่อใส่อัญมณีและโลหะมีค่า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของเทคนิคประติมากรรมของศิลปะเขมรแบบบาปวน  (J. Boisselier 1966: 252-254) ซึ่งมีอายุหลังการจารึก ดังนั้นจึงทำให้เชื่อได้ว่าเมื่อมีการจารจารึกหลักนี้ก็ยังมีการประดิษฐานรูปเคารพอยู่
ประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่องค์นี้ ถ้าตีความว่าหมายถึงรูปพระศิวะหรือกมรเตงอัญ ศรีพฤเธศวร ก็จะมีปัญหาที่ตามมาคือ พระเนตรที่สามเหตุใดจึงไม่มี รวมถึงการไม่ปรากฏชฎามกุฎที่มีพระจันทร์เสี้ยวประดับอยู่  ซึ่งสัญลักษณ์ทั้ง 2 เป็นสัญลักษณ์สำคัญของพระศิวะ
ถ้าตีความว่าประติมากรรมสำริดขิ้นนี้คือ ประติมากรรมทวารบาล ก็จะเกิดปัญหาว่า ถ้าเป็นแค่ประติมากรรมทวารบาลเหตุใดจึงให้ความสำคัญจนต้องหล่อด้วยสำริด ซึ่งในปัจจุบันเรายังไม่พบหลักฐานว่ามีการหล่อทวารบาลสำริดขนาดใหญ่  อีกทั้งในศิลปะเขมรแบบบาปวนช่วงรัชกาลพระเจ้าอุทัยทิตยวรรมันที่ 2 มีการหล่อประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่คือ พระนารายณ์บรรทมสินธุ์จากปราสาทแม่บุญตะวันตก ด้วยเหตุนี้ประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่จากปราสาทสระกำแพงใหญ่จะต้องมีความสำคัญที่มากกว่าเป็นทวารบาล
นอกจากนี้โดยธรรมดาประติมากรรมทวารบาลจะประดิษฐานอยู่ข้างประตูทางเข้าบริเวณนอกปราสาท  ถ้าประติมากรรมชิ้นนี้เป็นทวารบาลจริงก็ต้องประดิษฐานนอกปราสาท  แล้วบริเวณพื้นที่ข้างประตูปราสาทมีพื้นที่เพียงพอหรือที่จะประดิษฐานประติมากรรมชิ้นนี้ได้ อีกทั้งสภาพของประติมากรรมสำริดชิ้นนี้ยังพบร่องรอยของการปิดทองจึงทำให้เชื่อได้ว่าประติมากรรมชิ้นนี้ไม่ได้ตั้งอยู่กลางแจ้ง
นอกจากนี้ถ้าเป็นประติมากรรมทวารบาลจริง เหตุใดจึงขุดพบเพียงแค่องค์เดียว อีกทั้งจากการขุดแต่งปราสาทตาเมือนธมโดยกรมศิลปากร ก็พบชิ้นส่วนของหน้าประติมากรรมสำริดที่เหมือนกับประติมากรรมสำริดที่ปราสาทสะกำแพงใหญ่ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ ซึ่งหน้าประติมากรรมสำริดชิ้นนี้ไม่ได้ทำหน้าเป็นอสูรที่จะสามารถชี้ได้ว่าเป็น
มหากาลในฐานะอสูร
พิจารณาจากทรงผมของประติมากรรมสำริดชิ้นนี้ที่เป็นทรงผมแบบหวีเสยซึ่งทรงผมมีลักษณะแตกต่างกับประติมากรรมทวารบาลจากปราสาทเมืองต่ำที่ไว้ผมมวยสามจุกที่กึ่งกลางศีรษะและประติมากรรมทวารบาลนูนต่ำที่โคปุระปราสาทบาปวน
หากแต่ทรงผมหวีเสยเหมือนภาพบุคคลในขบวนกองเกียรติยศของพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 ด้วยเหตุนี้ ผู้วิจัยจึงสันนิษฐานว่าประติมากรรมสำริดนี้อาจจะเป็นประติมากรรมรูปสนองบุคคลพระราชาที่เมืองพระนคร ซึ่งในที่นี้อาจจะเป็นพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 1 หรือพระเจ้าอุทัยทิตยวรรมันที่ 2 เพราะหลังจากช่วงระยะเวลานี้ลงไปก็เริ่มมีรูปเหมือนพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 ที่ระเบียงคดปราสาทนครวัด และ ประติมากรรมรูปพระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 
อนึ่ง ประติมากรรมสำริดชิ้นนี้เป็นประติมากรรมที่แสดงให้เห็นถึงอาณาบารมีของพระราชาเมืองพระนครที่มีต่อดินแห่งนี้ และสะท้อนให้เห็นว่าราชสำนักเมืองพระนครช่วงนั้นให้ความสำคัญแก่ปราสาทสระกำแพงใหญ่

เนื้อหาโดยสังเขป

เรื่องราวในจารึก ได้กล่าวถึงพระกัมรเตงอัญศิวทาสคุณโทษ พระสภาแห่งกัมรเตงชคตศรีพฤทเธศวร ร่วมกับพระกัมรเตงอัญคนอื่นๆ ซื้อที่ดินอุทิศถวายแด่กัมรเตงชคตศรีพฤทเธศวร และได้ซื้อสิ่งของให้แก่บุคคลบางคนอีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงการถวายทาสให้ทำหน้าที่แต่ละปักษ์ และกล่าวถึงทรัพย์สินที่ใช้แลกเปลี่ยนในการซื้อ เช่น วัว ทองคำ และภาชนะต่างๆ เป็นต้น

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

จารึกบรรทัดที่ 1 บอกมหาศักราช 964 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 1585

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร และนวพรรณ ภัทรมูล, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) อำไพ คำโท, “จารึกวัดสระกำแพงใหญ่,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 3 : อักษรขอม พุทธศตวรรษที่ 15-16 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 171-175.
2) อำไพ คำโท, “ศิลาจารึกวัดสระกำแพงใหญ่,” ศิลปากร 26, 6 (มกราคม 2526) : 59-62.
3) รุ่งโรจน์  ภิรมย์อนุกูล, "รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ การตรวจสอบพิกัดสถานที่พบและเก็บรักษาของจารึกรุ่นก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 ในประเทศไทย เพื่อพัฒนาภูมิสารสนเทศจารึกของชาติ ปีที่ 2 : จารึกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก (ทุนอดหนุนงานวิจัย). (กรุงเทพฯ : ศมส., 2564).

ภาพประกอบ

ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-11, ไฟล์; SK_004)