จารึกวัดมะกอก

จารึก

จารึกวัดมะกอก

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2568 15:35:29 )

ชื่อจารึก

จารึกวัดมะกอก

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

Inscription de Kok Cheng (Ta Praya) (K. 999), ปจ. 19, K. 999, ทะเบียนโบราณวัตถุที่ 13/2510, 99/5/2560

อักษรที่มีในจารึก

ขอมโบราณ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 16

ภาษา

เขมร

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 13 บรรทัด

วัตถุจารึก

ศิลา ประเภทหินทรายสีน้ำตาล

ลักษณะวัตถุ

รูปใบเสมา ชำรุดปลายหักทั้ง 2 ด้าน

ขนาดวัตถุ

กว้าง 32 ซม. สูง 50.5 ซม. หนา 11 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “ปจ. 19”
2) กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำหนดเป็น “13/2510”
3) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 3 กำหนดเป็น “จารึกวัดมะกอก”
4) ในหนังสือ Nouvelles Inscriptions du Cambodge II กำหนดเป็น “Inscription de Kok Cheng (Ta Praya) (K. 999)”
5) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก กำหนดเป็น “99/5/2560”

ปีที่พบจารึก

พุทธศักราช 2508

สถานที่พบ

วัดมะกอก บ้านโคกเพร็ก ตำบลทัพเสด็จ (ข้อมูลเดิมว่า ตำบลโคกแวง) อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว

ผู้พบ

เจ้าหน้าที่สถานีตำรวจ อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (สำรวจข้อมูล 6 กันยายน 2566)

พิมพ์เผยแพร่

1) วารสาร ศิลปากร ปีที่ 16 ฉบับที่ 4 (พฤศจิกายน 2515) : 63-67.
2) จารึกในประเทศไทย เล่ม 3 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 264-268.
3) Nouvelles Inscriptions du Cambodge II (Paris : École Française d’Extrême-Orient, 1996), 124-126.

ประวัติ

เจ้าหน้าที่สถานีตำรวจ อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ได้นำศิลาจารึกหลักนี้มาจากวัดมะกอก ตำบลโคกแวง (ข้อมูลใหม่ว่า ตำบลทัพเสด็จ) อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว และได้นำมามอบให้กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 5-7 กรกฎาคม 2508 กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ให้เลขทะเบียนเป็นเลขที่ 13/2510 ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ได้ลงทะเบียนไว้ในหนังสือ ศิลาจารึกประเทศเขมร (Inscriptions du Cambodge) เลขที่ K. 999 แต่ยังมิได้อ่าน-แปล ศิลาจารึกหลักนี้ได้เคยมีผู้อ่าน-แปลครั้งแรกในคราวแสดงนิทรรศการศิลปกรรม จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ถึง 14 ธันวาคม 2514 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร แต่การอ่านครั้งนี้ยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งคงจะเป็นเพราะต้องกระทำด้วยความเร่งรีบ และมิได้ตีพิมพ์เป็นหลักฐานทางวิชาการ ต่อมา นางสาวอุไรศรี วรศะริน ได้อ่าน-แปล และพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร ศิลปากร ปีที่ 16 ฉบับที่ 4 พฤศจิกายน 2515 ใช้ชื่อเรื่องว่า “คำอ่านศิลาจารึก ตำบลโคกแวง จังหวัดปราจีนบุรี” แต่ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ ได้เปลี่ยนไปใช้ชื่อจารึกตามสถานที่พบ จึงใช้ชื่อว่า ศิลาจารึกวัดมะกอก
ปัจจุบันวัดมะกอก อยู่ในพื้นที่บ้านโคกเพร็ก ตำบลทัพเสด็จ อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว จัดอยู่ในบริเวณห้วยยางซึ่งเป็นลำน้ำที่จะไหลลงทะเลสาบเขมรและเป็นลำน้ำเดียวกันกับที่พบจารึกวัดดาพระยา  
แต่อย่างไร แม้ว่าจารึกหลักนี้จะพบที่วัดมะกอกหรือวัดโคแจงก็ตาม ไม่น่าจะมีผลต่อต่อมาการแปลความทางโบราณคดี ทั้งนี้เพราะพื้นที่ทั้ง 2 ตั้งอยู่ไม่ห่างกันมากนัก
จารึกหลักนี้หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ ได้ส่งจารึกหลักนี้มาเก็บรักษาที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2550
แม้ว่า พระราชบัญญัติตั้ง จังหวัดสระแก้ว พ.ศ. 2536 ที่ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 105 วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2536  จะมีผลให้พื้นที่ที่พบจารึกจะอยู่ในเขตจังหวัดสระแก้ว แต่ทะเบียนของหอสมุดแห่งชาติยังคงใช้อักษรย่อนำหน้าจารึกว่า ปจ. (กรมศิลปากร 2542: 197)

เนื้อหาโดยสังเขป

เป็นพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ ต่อข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ให้มาจารึกพระบรมราชโองการของพระองค์ ไว้ที่ สาธุปาลิ

ผู้สร้าง

วาบศิขาพรหม และอาจารย์พัชรธรรม

การกำหนดอายุ

จารึกบรรทัดที่ 4 ปรากฏคำว่า “ศฺรี ราเชนฺทฺรวรฺมฺม” ซึ่งก็คือ พระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 ที่ครองราชย์ตั้งแต่ พ.ศ. 1487-1511 นั่นเอง จึงสันนิษฐานได้ว่าจารึกหลักนี้คงจะถูกสร้างขึ้นในรัชกาลของพระองค์

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : นวพรรณ ภัทรมูล, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) Saveros Pou, “Inscription de Kok Cheng (Ta Praya) (K. 999),” in Nouvelles Inscriptions du Cambodge II (Paris : École Française d’Extrême-Orient, 1996), 124-126.
2) อุไรศรี วรศะริน, “คำอ่านศิลาจารึก ตำบลโคกแวง จังหวัดปราจีนบุรี,” ศิลปากร 16, 4 (พฤศจิกายน 2515) : 63-67.
3) อุไรศรี วรศะริน, “จารึกวัดมะกอก,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 3 : อักษรขอม พุทธศตวรรษที่ 15-16 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 264-268.

ภาพประกอบ

1) ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-02, ไฟล์; PJ_009)
2) ภาพถ่ายจารึกจากการสำรวจภาคสนาม : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), สำรวจเมื่อ 6-8 กันยายน 2555
3) ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากการสำรวจภาคสนาม : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำรวจเมื่อ 22 ธันวาคม 2565