จารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

คำอ่าน-แปล

จารึกดอนเมืองเตย

จารึก

จารึกดอนเมืองเตย

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2566 17:40:58 )

ชื่อจารึก

จารึกดอนเมืองเตย

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

ยศ. 6, K. 1082

อักษรที่มีในจารึก

ปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 12

ภาษา

สันสกฤต

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 4 บรรทัด

วัตถุจารึก

ศิลา

ลักษณะวัตถุ

สี่เหลี่ยมผืนผ้า

ขนาดวัตถุ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “ยส. 6”
2) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 กำหนดเป็น “จารึกดอนเมืองเตย”

ปีที่พบจารึก

พุทธศักราช 2526

สถานที่พบ

เมืองโบราณดอนเมืองเตย บ้านสงเปือย ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร

ผู้พบ

เจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรที่ 6 จังหวัดนครราชสีมา

ปัจจุบันอยู่ที่

สำนักสงฆ์ดงเมืองเตยซึ่งอยู่ในบริเวณโบราณสถานดงเมืองเตย บ้านสงเปือย ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร (สำรวจข้อมูลเมื่อ 3 มีนาคม 2563)

พิมพ์เผยแพร่

1) วารสาร ศิลปากร ปีที่ 29 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม 2528) : 70-73.
2) จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 168-175.
3) ทะเบียนโบราณสถาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 251 - 253.
4) เมืองอุบลราชธานี (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532), 196-213.
5) แหล่งท่องเที่ยวอีสานล่าง ([กรุงเทพฯ] : กรมศิลปากร, 2533), 77.
6) วารสาร วัฒนธรรมไทย ปีที่ 35 ฉบับที่ 11 (สิงหาคม 2541), 17-20.
7) วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดยโสธร (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการ จัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, 2542), 118.
8) รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ การตรวจสอบพิกัดสถานที่พบและเก็บรักษาของจารึกรุ่นก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 ในประเทศไทย เพื่อพัฒนาภูมิสารสนเทศจารึกชาติ ปีที่ 2 : จารึกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก เล่ม 1 (กรุงเทพ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2564), 118-120.

ประวัติ

พ.ศ.2526 หัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ 6 ได้พบแผ่นหินทรายมีอักษรปัลลวะจารึกอยู่ 1 แผ่นมี 4 บรรทัด บรรทัดละ 4 วรรค ณ บริเวณโบราณสถานดอนเมืองเตย บ้านสงเปือย ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร จากนั้น หน่วยศิลปากรที่ 6 ได้ถ่ายภาพจารึกนี้ โดยถ่ายภาพเป็น 4 ช่วง คือ ภาพที่ 1 เป็นภาพของวรรคที่ 1 ของบรรทัดที่ 1-4 ภาพที่ 2 เป็นภาพของวรรคที่ 2 ของบรรทัดที่ 1-4 ภาพที่ 3 เป็นภาพของวรรคที่ 3 ของบรรทัดที่ 1-4 และภาพที่ 4 เป็นภาพของวรรคที่ 4 ของบรรทัดที่ 1-4 จากนั้น หน่วยศิลปากรที่ 6 ได้ส่งภาพถ่ายทั้ง 4 นี้ให้แก่กองหอสมุดแห่งชาติ เพื่อให้เจ้าหน้าที่อ่าน-แปลเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2526 แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการรายงานข้อมูลไม่ละเอียดรัดกุมของหน่วยศิลปากรที่ 6 จึงทำให้เจ้าหน้าของกองหอสมุดแห่งชาติเข้าใจว่า ภาพทั้ง 4 นี้ เป็นแผ่นศิลาจารึก 4 แผ่น ดังนั้น เมื่อ นายชะเอม แก้วคล้าย ได้อ่านและแปล จึงสรุปออกมาว่า จารึกทั้ง 4 แผ่นนี้ ความไม่สัมพันธ์กัน ทั้งนี้ เพราะเข้าใจว่า ภาพจารึกแต่ละภาพ แทนจารึกแต่ละแผ่น แต่อย่างไรก็ตาม นายชะเอม แก้วคล้าย ได้วิเคราะห์จารึกหลักนี้อีกครั้งและพบว่าอันที่จริงแล้วสำเนาจารึกทั้ง 4 แผ่นนี้ เป็นสำเนาของจารึกแผ่นเดียวกัน แต่แยกทำสำเนาแยกกัน ดังนั้นเมื่อนำสำเนาจารึกทั้ง 4 ชิ้น มาเรียงต่อกันให้ถูกต้องแล้ว ก็สามารถอ่านและแปลความหมายได้ จึงได้นำคำอ่านและแปลใหม่นี้ลงตีพิมพ์ในหนังสือ “เมืองอุบลราชธานี” เมื่อปี พ.ศ. 2532 ส่วนโบราณสถานดงเมืองเตย หรือ ดอนเมืองเตยนั้น มีลักษณะเป็นชุมชนโบราณที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบเป็นรูปวงกลม ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากบ้านสงเปือยไปทางทิศตะวันออกประมาณ 1 กิโลเมตร ปัจจุบันไม่มีประชาชนตั้งบ้านเรือนอยู่ แต่มีพระสงฆ์เข้าไปตั้งสำนักสงฆ์ ณ บริเวณที่มีซากฐานโบราณสถานที่ก่อด้วยอิฐ โบราณสถานแห่งนี้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 ตอนที่ 34 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479

เนื้อหาโดยสังเขป

กล่าวถึงพระศรีมานประวรเสนะ ผู้เป็นใหญ่ในเมืองศังขปุระ และการสร้างลิงคโลก ซึ่งบุตรีของโกรญจพาหุ คนที่สิบสองที่ได้เป็นผู้มีอำนาจได้สร้างไว้ ข้อความในจารึกแสดงว่าโบราณสถานแห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ที่นับถือพระศิวะ และในช่วงเวลานั้น บริเวณดอนเมืองเตย รวมทั้งชุมชนใกล้เคียงก็คงจะเคยเป็นเมืองที่มีชื่อว่า “ศังขปุระ” ซึ่งคงจะมีความสัมพันธ์ในฐานะเมืองในปกครองของอาณาจักรเจนละ ที่แผ่อำนาจเข้ามาในเขตลุ่มแม่น้ำมูล-ชี ในช่วงเวลาดังกล่าว ดังได้พบจารึกของกษัตริย์เจนละที่มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 12-13 เป็นจำนวนหลายหลักในจังหวัดอุบลราชธานี บุรีรัมย์ และขอนแก่น

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุตามตัวอักษรปัลลวะ ซึ่งนิยมใช้กันมากในราวพุทธศตวรรษที่ 12 นอกจากนี้ ชะเอม แก้วคล้าย ยังให้ความเห็นว่า ลักษณะของรูปอักษรส่วนมากจะเหมือนกันกับจารึก เย ธมฺมาฯ ของจังหวัดนครปฐม และจารึกวัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลธานี จึงจัดให้อยู่ในพุทธศตวรรษที่ 12

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) กรมศิลปากร, ทะเบียนโบราณสถาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เล่ม 1 จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดยโสธร (กรุงเทพฯ : โครงการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2529), 251-253.
2) กรมศิลปากร, แหล่งท่องเที่ยวอีสานล่าง (กรุงเทพฯ : เอกสารกองโบราณคดี หมายเลข 8/2533 กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2533), 77.
3) ชะเอม แก้วคล้าย, “จารึกดอนเมืองเตย,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 : อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12-14 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 168-175.
4) ชะเอม แก้วคล้าย, “ศิลาจารึกดอนเมืองเตย อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-13,” ศิลปากร 29, 2 (พฤษภาคม 2528) : 70-73.
5) เทิม มีเต็ม และชะเอม แก้วคล้าย, “จารึกสำคัญที่พบในเขตจังหวัดอุบลราชธานีและยโสธร,” ใน เมืองอุบลราชธานี (กรุงเทพฯ : กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2532), 196-213.
6) นพวรรณ สิริเวชกุล, “ย้อนรอยเมืองเตย เมืองโบราณของยโสธร,” วัฒนธรรมไทย 35, 11 (สิงหาคม 2541), 17-20.
7) รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, "จารึกดอนเมืองเตย," ใน รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ การตรวจสอบพิกัดสถานที่พบและเก็บรักษาของจารึกรุ่นก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 ในประเทศไทย เพื่อพัฒนาภูมิสารสนเทศจารึกชาติ ปีที่ 2 : จารึกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก เล่ม 1 (กรุงเทพ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2564), 118-120.

ภาพประกอบ

1) ภาพสำเนาจารึกจาก : เมืองอุบลราชธานี (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532)
2) ภาพจากการสำรวจ : รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ การตรวจสอบพิกัดสถานที่พบและเก็บรักษาของจารึกรุ่นก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 ในประเทศไทย เพื่อพัฒนาภูมิสารสนเทศจารึกชาติ ปีที่ 2 : จารึกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก เล่ม 2 (กรุงเทพ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2564), 54-55.