จารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images
  • images

จารึกวัดเสมาเมือง

จารึก

จารึกวัดเสมาเมือง

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2567 22:57:31 )

ชื่อจารึก

จารึกวัดเสมาเมือง

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

นศ. 9, หลักที่ 23 ศิลาจารึกวัดเสมาเมือง, จารึกที่ 23 ศิลาจารึกที่วัดเสมาเมือง

อักษรที่มีในจารึก

หลังปัลลวะ

ศักราช

พุทธศักราช 1318

ภาษา

สันสกฤต

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 2 ด้าน มี 33 บรรทัด ด้านที่ 1 มี 29 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 4 บรรทัด

วัตถุจารึก

ศิลา

ลักษณะวัตถุ

แผ่นรูปใบเสมา

ขนาดวัตถุ

กว้าง 50 ซม. สูง 104 ซม. หนา 9 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “นศ. 9”
2) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ 2 กำหนดเป็น “หลักที่ 23 ศิลาจารึกวัดเสมาเมือง”
3) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 กำหนดเป็น “จารึกที่ 23 ศิลาจารึกที่วัดเสมาเมือง”
4) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 กำหนดเป็น “จารึกวัดเสมาเมือง”

ปีที่พบจารึก

2450

สถานที่พบ

วัดเสมาเมือง ตำบลเวียงศักดิ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ผู้พบ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร (สำรวจเมื่อ 31 ตุลาคม 2564)

พิมพ์เผยแพร่

1) ประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ 2 (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2472), 37-40.
2) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2504), 21-26.
3) จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 187-222.

ประวัติ

ประวัติเรื่องตำแหน่งเดิมของจารึกหลักนี้ยังคงหาข้อสรุปไม่ได้ เนื่องจาก มีข้อมูลกล่าวถึงหลายกระแส แต่อย่างไรก็ตาม หอสมุดแห่งชาติได้สรุปข้อมูลเป็นเบื้องต้นไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งยังเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เสด็จตรวจราชการหัวเมืองชายทะเลตะวันตก ได้มีรับสั่งให้นำจารึกซึ่งพบในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราชนั้น เข้ามาเก็บรักษาไว้หอสมุดแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติได้สรุปข้อมูลที่กล่าวถึงที่มาของจารึกหลักนี้ไว้เป็นข้อๆ ดังนี้คือ
1. วัดเสมาเมือง ตำบลเวียงศักดิ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช : หลักฐานเก่ามีหมายเหตุไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงนำจารึกหลักนี้มาแต่ตำบลเวียงศักดิ์ แขวงเมืองนครศรีธรรมราช คราวเสด็จตรวจราชการหัวเมืองชายทะเลตะวันตก ได้โปรดเกล้าประทานไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และได้นำมาตรวจอ่าน เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2450 และข้อมูลนี้ก็มีกล่าวถึงอีกในหนังสือ “ประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ 2 ฉบับภาษาไทย (พ.ศ. 2472)” ความว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้มาจากวัดเสมาเมือง ตำบลเวียงศักดิ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วได้รับสั่งให้ย้ายมาเก็บรักษาไว้ที่หอพระสมุดวชิรญาณ และยังมีข้อมูลจากบันทึกของนายประสาร บุญประคอง เมื่อ พ.ศ. 2510 ที่กล่าวว่า ศิลาจารึกนี้ในขั้นแรกคิดกันว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้มาจากตำบลเวียงสระ ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อมาพระสงฆ์รูปหนึ่งซึ่งเป็นชาวนครศรีธรรมราชมาเห็นเข้า จำได้ว่าศิลาจารึกหลักนี้เคยอยู่ในวัดเสมาเมืองที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
2. ตำบลเวียงสระ อำเภอบ้านนา จังหวัดสุราษฏร์ธานี : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้มาจาก ตำบลเวียงสระ แล้วได้รับสั่งให้ย้ายมาเก็บรักษาไว้ที่หอพระสมุดวชิรญาณ ข้อมูลนี้มีปรากฏอยู่ในหนังสือ “ประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ 2 ฉบับภาษาฝรั่งเศส (พ.ศ. 1472)”
3. วัดเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี : ในสำเนาหนังสือของพระยาคงคาวราธิบดี สมุหเทศาภิบาลมณฑลสุราษฎร์ ฉบับลงวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2460 ว่าได้ส่งศิลาจารึกจำนวน 2 หลักมายังพระนคร แต่เมื่อหอสมุดแห่งชาติตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่าจารึกทั้ง 2 หลักดังกล่าวตรงกับจารึกวัดหัวเวียงเมืองไชยา 1 (หลักที่ 24 หรือ สฏ. 3) และ จารึกวัดหัวเวียงเมืองไชยา 2 (หลักที่ 24 ก. หรือ สฏ. 4) แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเปรียบเนื้อหาที่ปรากฏในจารึกที่กล่าวถึงปราสาทอิฐ 3 หลัง กับหลักฐานทางโบราณคดีที่วัดเวียงแล้ว ก็น่าสนใจว่ามีเนื้อหาที่สอดคล้องกันยิ่ง กล่าวคือ ใน อำเภอไชยานั้น นอกจากจะมีโบราณสถานสำคัญเนื่องในพระพุทธมหายานคือพระบรมธาตุไชยาแล้ว ยังมีโบราณสถานที่ก่อด้วยอิฐอีก 3 หลังคือ วัดเวียง วัดหลง และ วัดแก้ว ซึ่งเป็นแนวเรียงกัน ดังนั้น ประเด็นที่ว่าจารึกวัดเสมาเมืองนี้ มาจากที่ไหน ถ้าพิจารณาตามหลักฐานทางโบราณคดีแล้ว ก็มีความเป็นได้สูงว่าน่าจะมาจากอำเภอไชยาได้เช่นกัน ซึ่งตัวจารึกเองอาจถูกเคลื่อนย้ายจากไชยาไปยังเก็บรักษาไว้ที่วัดเสมาเมืองมานานแล้วก็เป็นได้ ในเมื่อขณะนี้ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ฐานข้อมูลชุดนี้จึงขอนำเสนอข้อมูลตามที่หอสมุดแห่งชาติได้พิมพ์เผยแพร่ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 ที่ระบุไว้เป็นเบื้องต้นว่า พบที่วัดเสมาเมือง ตำบลเวียงศักดิ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

เนื้อหาโดยสังเขป

ด้านที่ 1 เนื้อความตอนต้นเป็นการสรรเสริญความยิ่งใหญ่ของพระเจ้ากรุงศรีวิชัย ช่วงต่อมากล่าวถึงพระบรมราชโองการให้พระเถระนามว่าชยันตะ สร้างปราสาทอิฐ 3 หลัง เพื่อถวายให้เป็นที่ประทับแด่พระมนุษยพุทธ พระโพธิสัตว์ปัทมปาณี และ พระโพธิสัตว์วัชรปาณี ต่อมาเมื่อชยันตเถระมรณภาพ ลูกศิษย์ของท่านคืออธิมุกติเถระ ได้สร้างปราสาทอิฐขึ้นอีก 2 หลัง ใกล้ๆ กัน ส่วนด้านที่ 2 นั้น กล่าวว่า พระเจ้ากรุงศรีวิชัยพระองค์นี้ พระนามว่า “ศรีมหาราชา” เป็นมหากษัตริย์ในไศเลนทรวงศ์ ยิ่งใหญ่เหนือกษัตริย์ทั้งปวง เปรียบได้ดั่งพระวิษณุองค์ที่ 2

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

จารึกด้านที่ 1 บรรทัดที่ 26 บอกมหาศักราช 697 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 1318

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) ยอร์ช เซเดส์, “จารึกที่ 23 ศิลาจารึกที่วัดเสมาเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 : จารึกทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้ = Recueil des inscriptions du Siam deuxieme partie : inscriptions de Dvaravati, de Crivijaya et de Lavo ([กรุงเทพฯ] : กรมศิลปากร, 2504), 21-26.
2) ยอร์ช เซเดส์, “จารึกนครศรีธรรมราช การแปลความหมายในปัจจุบัน” ย่อใจความโดย ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล, ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 : จารึกทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้ = Recueil des inscriptions du Siam deuxieme partie : inscriptions de Dvaravati, de Crivijaya et de Lavo ([กรุงเทพฯ] : กรมศิลปากร, 2504), 59-66.
3) ยอร์ช เซเดส์, “หลักที่ 23 ศิลาจารึกวัดเสมาเมือง เมืองนครศรีธรรมราช,” ใน ประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ 2 : จารึกกรุงทวารวดี เมืองละโว้ และประเทศราชขึ้นแก่กรุงศรีวิชัย ([กรุงเทพฯ] : โรงพิมพ์พิพรรฒนากร, 2472), 37-40.
4) ยอร์ช เซเดส์ และคณะ, “จารึกวัดเสมาเมือง,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 : อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12-14 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 187-222.

ภาพประกอบ

ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-21, ไฟล์; Ns_0901_c และ Ns_0902_c)