จารึกวัดจันทึก

จารึก

จารึกวัดจันทึก

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2567 23:02:35 )

ชื่อจารึก

จารึกวัดจันทึก

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

นม. 14, K.1009, เลขทะเบียนโบราณวัตถุที่ 26/17/2508, 26/5/2508, 26/4/2508

อักษรที่มีในจารึก

ปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 12

ภาษา

สันสกฤต

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 1 บรรทัด

วัตถุจารึก

ศิลาประเภทหินทรายสีแดง

ลักษณะวัตถุ

ฐานบัวรองรับพระพุทธรูปศิลปสมัยทวารวดี ทำด้วยศิลาทรายสีแดง มีความยาวรอบฐานบัวทั้งสิ้น 223 ซม. สภาพชำรุดแตกหักเป็นบางส่วน โดยเฉพาะส่วนที่เป็นจารึก ซึ่งแต่เดิมคงมีการจารึกเป็นตอนๆ เรียงกันเป็นแถวโดยรอบฐานบัว

ขนาดวัตถุ

กว้าง 80 ซม. สูง 16 ซม. หนา 33 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “นม. 14”
2) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 กำหนดเป็น “จารึกวัดจันทึก”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

วัดจันทึก ตำบลจันทึก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา (สำรวจ 20 มกราคม 2563)

พิมพ์เผยแพร่

1) จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 144-146.
2) สังคมและวัฒนธรรมในประเทศไทย (กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2542), 388-394.

ประวัติ

จารึกนี้ แต่เดิมเข้าใจกันว่า มีข้อความอยู่ 2 ตอน ทางหอสมุดแห่งชาติได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นหมายเลข นม. 14 และได้อ่าน-แปลเผยแพร่ไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 : อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12-14 ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2532 คณะอาจารย์จากภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี ได้ไปสำรวจจารึกที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ระหว่างสำรวจอยู่นั้น คุณศิริพรรณ ธีรศิริโชติ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานฯ ได้นำจารึกอักษรปัลลวะชิ้นหนึ่ง มีความยาวประมาณ 28 ซม. มาให้ดูว่าจะตรงตามบัญชีจารึกที่นำไปหรือไม่ เมื่อได้พิจารณาดูลักษณะวัตถุและรูปแบบตัวอักษรแล้ว จึงได้ลงความเห็นว่า จารึกชิ้นนั้นเป็นส่วนหนึ่งของฐานบัวรองรับพระพุทธรูป ซึ่งได้จากวัดจันทึก ทั้งนี้เพราะทำด้วยศิลาประเภทเดียวกัน สามารถนำมาต่อกันเป็นวงได้ และมีหมายเลขวัตถุเดียวกัน อีกทั้งยังจารึกด้วยอักษรปัลลวะ ที่มีรูปแบบเหมือนกับจารึก 2 ตอนที่ทางหอสมุดแห่งชาติได้อ่าน-แปลและพิมพ์เผยแพร่ไปแล้วอีกด้วย ส่วนของฐานบัวชิ้นใหม่นี้ มีข้อความอยู่ 2 ตอน ตอนแรกเหลือตัวอักษรอยู่เพียง 2 ตัวสุดท้าย ตอนที่ 2 มีใจความครบถ้วน และตอนนี้เองที่มีจารึกคำว่า “ทวารวตี” ปรากฏอยู่

เนื้อหาโดยสังเขป

เนื้อความกล่าวว่า พระเทวีของเจ้าแห่งทวารวดี ทรงบัญชาให้พระธิดาสร้างพระพุทธรูป

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุตามรูปแบบของตัวอักษรปัลลวะ ได้อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 โดยจากการเปรียบเทียบรูปอักษรของจารึกวัดจันทึก กับรูปอักษรปัลลวะที่พบในภาคกลางของประเทศไทย ซึ่งอยู่ในกลุ่มวัฒนธรรมทวารวดีนั้น พบว่ามีความคล้ายคลึงกันมาก จึงทำให้กล่าวได้ว่าจารึกอักษรปัลลวะในจารึกวัดจันทึกนี้ เป็นจารึกร่วมสมัยกับจารึกอักษรปัลลวะที่พบในภาคกลางของประเทศไทย ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกุร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) กรรณิการ์ วิมลเกษม และจิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา, “ชื่อทวารวดีในจารึกวัดจันทึก,” ใน สังคมและวัฒนธรรมในประเทศไทย (กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2542), 388-394.
2) ชะเอม แก้วคล้าย, “จารึกวัดจันทึก,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 : อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12-14 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 144-146.

ภาพประกอบ

ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-06, ไฟล์; NM_033)