จารึกฐานรองพระธรรมจักร

จารึก

จารึกฐานรองพระธรรมจักร

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2567 12:06:58 )

ชื่อจารึก

จารึกฐานรองพระธรรมจักร

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

สพ. 1

อักษรที่มีในจารึก

ปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 12

ภาษา

บาลี

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 4 บรรทัด

วัตถุจารึก

ศิลา

ลักษณะวัตถุ

ฐานสี่เหลี่ยมตรงกลางมีช่องสี่เหลี่ยมสำหรับสวมเสารองพระธรรมจักร

ขนาดวัตถุ

กว้าง 37 ซม. สูง 36 ซม. หนา 14 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “สพ. 1”
2) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 กำหนดเป็น “จารึกฐานรองพระธรรมจักร”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

ตำบลทุ่งขวาง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม

พิมพ์เผยแพร่

จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 98-99.

ประวัติ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

เนื้อหาโดยสังเขป

คาถาที่จารึกนี้ อาจเรียกอย่างง่ายๆ ได้ว่า “คำพรรณาถึงพระอริยสัจ 4” ซึ่งเป็นคาถาบทหนึ่งกล่าวว่า ธรรมจักรนี้เป็นของพระพุทธเจ้า ประกอบด้วย อริยสัจ 4 เมื่อหมุนธรรมจักร 3 รอบ จะเกิดอาการ 12 ประการของ สัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ คาถาบทนี้ มีปรากฏบน ขอบชั้นใน (ดุม 1) ของ “จารึกธรรมจักร 1 (นครปฐม)” หรือ “กท. 29” มีความตรงกับทุกประการ นอกจากนี้ยังพบว่า เป็นคาถา 1 ใน 4 ที่จารึกบน “จารึกเสาแปดเหลี่ยม 1 (ซับจำปา)” หรือ “ลบ. 17” ด้วยเช่นกัน ศ. ยอร์ช เซเดส์ ได้อธิบายถึงความสำคัญของคำพรรณนาถึงพระอริยสัจ 4 ไว้ในคราวที่ท่านเขียนถึงจารึกธรรมจักร 1 (นครปฐม) (เดิมคือ จารึกธรรมจักร กท. 29) ใน Artibus Asiae, vol. XIX, 1956 ไว้ว่า คาถาบทนี้ ไม่สามารถที่จะค้นหาที่มาอย่างถูกต้องได้ เนื่องจากคาถานี้ มีกล่าวอยู่ทั่วไปในคัมภีร์ต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา สำหรับการแสดงถึงญาณ 3 ประการที่เกี่ยวกับพระอริยสัจ 4 คือ เกี่ยวกับกิจที่จะต้องกระทำและกิจที่ได้ทำแล้วนั้น มีอยู่ในหนังสือ “มหาวัคค์ พระวินัยปิฎก” เช่นเดียวกับในหนังสือของพระอรรถกถาจารย์คือ “สมันตปาสาทิกา” แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่ปรากฏบนจารึก เนื่องจากบนจารึกมีความจารึกเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ 4 อย่าง แห่งความจริงของมรรค คือ การนำ เหตุ การเห็น และความสามารถ ดังนั้น ข้อความบนจารึกนี้ อาจนำมาจากคัมภีร์ “ปฏิสัมภิทามัคค์” หรือ จากหนังสือ “วิสุทธิมัคค์” ของพระพุทธโฆส และจากหนังสืออธิบายของพระธัมมปาละ ทั้งสองเล่มนี้แต่งขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 10 อย่างไรก็ดี คำสั่งสอนนี้ ก็เป็นคำสั่งสอนที่มีอยู่ในหนังสือทุกสมัย เป็นต้นว่าในหนังสือ “สารัตถสมุจจัย” ซึ่งเป็นหนังสืออธิบายของภาณวาร และคงจะแต่งขึ้นในรัชกาลของพระเจ้าปรากรมพาหุแห่งเกาะลังกา (ครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 18) อย่างไรก็ตาม ศ. ยอร์ช เซเดส์ ได้ให้ความเห็นว่า ตามความรู้ของท่าน คาถาบทนี้ ไม่ได้มีอยู่ในคัมภีร์อื่นๆ อีกเลย นอกจากในหนังสือ “สารัตถสมุจจัย” และ “ปฐมสมโพธิ” คำจารึกของจารึกธรรมจักร 1 (นครปฐม) และ จารึกเสาแปดเหลี่ยม 1 (ซับจำปา) นั้น เมื่อแปลแล้วได้ความดังนี้คือ “ธรรมจักรประกอบด้วยญาณ 3 ประการ คือความหยั่งรู้เกี่ยวกับความจริง เกี่ยวกับกิจที่ต้องกระทำ และเกี่ยวกับกิจที่ได้กระทำแล้ว หมุน 3 รอบ 4 ครั้ง มีอาการ 12 คือ ธรรมจักรของพระพุทธเจ้า” เปรียบเทียบกับเนื้อหาใน ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เรื่อง “ญาณทัสสนะมีรอบ 3 มีอาการ 12” ได้ดังนี้คือ “[16] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเราในอริยสัจ 4 นี้ มีรอบ 3 มีอาการ 12 อย่างนี้ ยังไม่หมดจดดีแล้ว เพียงใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรายังยืนยันไม่ได้ว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเราในอริยสัจ 4 นี้ มีรอบ 3 มีอาการ 12 อย่างนี้ หมดจดดีแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้น เราจึงยืนยันได้ว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ อนึ่ง ปัญญาอันรู้เห็นได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า ความพ้นวิเศษของเราไม่กลับกำเริบ ชาตินี้เป็นที่สุด ภพใหม่ไม่มีต่อไป ...” เปรียบเทียบกับเนื้อความใน ปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส คือ “... แท้จริงอาการ 12 นั้น ได้แก่ ปัญญาทั้ง 3 ประการ อันพิจารณาจำแนกไปในอริยสัจทั้ง 4 สิ่งละสามๆ จึงสิริเป็นอาการ 12 ประการด้วยกันทั้งสิ้น เหตุดังนั้น อันว่าปัญญาอันพิจารณาเวียนไปในพระจตุราริยสัจธรรมเห็นปานดังนี้ จึงได้นามว่า ธรรมจักกัปปวัตตนะ ด้วยอรรถประพฤติเวียนไปในอริยสัจธรรมทั้ง 4 แลพระสูตรอันนี้จึงชื่อว่า ธรรมจักกัปปวัตตนสูตร ...”

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุตามรูปแบบอักษรปัลลวะ ราวพุทธศตวรรษที่ 12

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2546, จาก :
1) G. Cœdès, “Une Roue de la Loi avec inscription en Pāli provenant du site de P’ra Pathom,” Artibus Asiae XIX, 3/4, 1956 : 221.
2) ยอร์ช เซเดส์, “ภาคผนวก : พระธรรมจักรศิลา จารึกภาษาบาลี ได้มาจากจังหวัดนครปฐม,” แปลโดย ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล และ ฉ่ำ ทองคำวรรณ, จาก Une Roue de la Loi avec inscription en Pāli provenant du site de P’ra Pathom, Artibus Asiae XIX, ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 : จารึกทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้, พิมพ์ครั้งที่ 2 [แก้ไขใหม่] (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2504), 46-52.
3) อุไรศรี วรศะริน และอัญชนา จิตสุทธิญาณ, “จารึกหลักใหม่จากบริเวณจังหวัดลพบุรี,” ใน ศิลปและโบราณคดีในประเทศไทย เล่ม 2 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2518), 64-69.
4) ชะเอม แก้วคล้าย และบุญเลิศ เสนานนท์, “จารึกธรรมจักร,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 : อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12-14 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 59-64.
5) ประสาร บุญประคอง และแย้ม ประพัฒน์ทอง, “จารึกฐานพระธรรมจักร,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 : อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12-14 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 98-99.
6) มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร : ญาณทัสสนะมีรอบ 3 มีอาการ 12,” ใน พระวินัยปิฎก เล่ม 4 มหาวรรค ภาค 1 และ อรรถกถา, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2536), 47-48.
7) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส, ปฐมสมโพธิกถา (กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2540), 122-123.

ภาพประกอบ

1) ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-20, ไฟล์; SP_001)
2) ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากการสำรวจภาคสนาม : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำรวจเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2566