จารึกซับจำปา 3

จารึก

จารึกซับจำปา 3

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2566 12:54:22 )

ชื่อจารึก

จารึกซับจำปา 3

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

จารึกเมืองซับจำปา 3, ลบ. 8

อักษรที่มีในจารึก

ปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 12

ภาษา

สันสกฤต, บาลี

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 3 บรรทัด

วัตถุจารึก

ศิลา

ลักษณะวัตถุ

ชิ้นส่วนแตกหักจากเสาแปดเหลี่ยม

ขนาดวัตถุ

กว้าง 19 ซม. สูง 36.5 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “ลบ. 8”
2) ในหนังสือ จารึกโบราณรุ่นแรกพบที่ลพบุรีและใกล้เคียง กำหนดเป็น “จารึกเมืองซับจำปา 3”
3) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 กำหนดเป็น “จารึกซับจำปา 3”

ปีที่พบจารึก

พุทธศักราช 2514-2518

สถานที่พบ

บ้านซับจำปา ตำบลซับจำปา อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี

ผู้พบ

เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี (สำรวจเมื่อ 17-20 มีนาคม 2560)

พิมพ์เผยแพร่

1) จารึกโบราณรุ่นแรกพบที่ลพบุรีและใกล้เคียง (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2524), 26-27.
2) จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 103-105.

ประวัติ

ศิลาจารึกชิ้นนี้คงจะเป็นชิ้นส่วนที่แตกหักจากเสาแปดเหลี่ยมที่ใช้เป็นเสารองพระธรรมจักร ซึ่งขุดค้นพบที่แหล่งโบราณคดีบ้านซับจำปา ตำบลซับจำปา อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี โดยกรมศิลปากร ในระหว่างการขุดค้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2514-กรกฎาคม พ.ศ. 2518 ต่อมาได้เคลื่อนย้ายมาเก็บรักษาไว้ที่คลังเก็บโบราณวัตถุพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 เจ้าหน้าที่กองหอสมุดแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจและถ่ายภาพจารึกหลักนี้ และได้มอบให้ ชะเอม แก้วคล้าย นักภาษาโบราณ ของกองหอสมุดแห่งชาติเป็นผู้อ่าน-แปล เพื่อตีพิมพ์ลงในหนังสือ จารึกโบราณรุ่นแรกพบที่ลพบุรีและใกล้เคียง เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสเปิดห้องนิทรรศการเรื่อง จารึกพบที่จังหวัดลพบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี สำหรับในการอ่านครั้งแรกนี้ ชะเอม แก้วคล้าย ได้อธิบายไว้ว่า คำที่ปรากฏทุกคำน่าจะเป็นภาษาบาลี นอกจาก คำว่า “สปฺตม” เท่านั้นที่เป็นภาษาสันสกฤต ต่อมา ในปี พ.ศ. 2529 ชะเอม แก้วคล้าย ได้ให้คำอธิบายเพิ่มเติมไว้ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 ว่า คำทุกคำที่ปรากฏในจารึกทั้งหมดเป็นภาษาบาลี นอกจาก “สปฺตม” เท่านั้น ที่เป็นภาษาสันสกฤต แต่ว่า ถ้าเส้นอักษร “ป” ไม่ติดกัน ก็อาจจะอ่านเป็น “สนฺตา” ก็ได้

เนื้อหาโดยสังเขป

ศิลาจารึกชิ้นนี้คงจะเป็นชิ้นส่วนที่แตกหักจากเสาแปดเหลี่ยมที่ใช้เป็นเสารองพระธรรมจักร ซึ่งในวัฒนธรรมทวารวดีจะพบว่า เสาแปดเหลี่ยมที่ให้รองพระธรรมจักรนี้ จะนิยมจารึกพระธรรมไว้ ตัวอย่างที่สำคัญ เช่น จารึกซับจำปา 1 ซึ่งมีจารึกพระธรรมไว้ถึง 4 บท คือ เย ธมฺมาฯ คำพรรณนาถึงพระอริยสัจ 4 พุทธอุทาน และพระธรรมบท แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อความที่พบบนจารึกซับจำปา 3 นี้ ไม่ครบถ้วน และอ่านได้เป็นส่วนน้อย จึงไม่สามารถหาที่มาได้ว่าเป็นข้อความที่นำมาจากพระธรรมบทใด

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุจากรูปอักษรปัลลวะ ได้อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2546, จาก :
1) ชะเอม แก้วคล้าย, “จารึกเมืองซับจำปา 3,” ใน จารึกโบราณรุ่นแรกพบที่ลพบุรีและใกล้เคียง (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2524), 26-27.
2) ชะเอม แก้วคล้าย, “จารึกซับจำปา 3,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 : อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12-14 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 103-105.

ภาพประกอบ

ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-19, ไฟล์; LB_003)