จารึกถ้ำนารายณ์

จารึก

จารึกถ้ำนารายณ์

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2566 10:45:58 )

ชื่อจารึก

จารึกถ้ำนารายณ์

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

จารึกถ้ำเขาวง, จารึกบนผนังปากถ้ำนารายณ์, สบ. 1

อักษรที่มีในจารึก

ปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 12

ภาษา

มอญโบราณ

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 3 บรรทัด

วัตถุจารึก

ศิลา

ลักษณะวัตถุ

พื้นผนังปากถ้ำ

ขนาดวัตถุ

แนวบรรทัดมีความยาว 50 ซม. ระหว่างบรรทัด 1 ถึง 3 กว้าง 15 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “สบ. 1”
2) ในหนังสือ จารึกโบราณรุ่นแรกพบที่ลพบุรีและใกล้เคียง กำหนดเป็น “จารึกถ้ำเขาวง หรือ จารึกถ้ำนารายณ์”
3) ในวารสาร ศิลปากร กำหนดเป็น “จารึกบนผนังปากถ้ำนารายณ์”
4) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 กำหนดเป็น “จารึกถ้ำนารายณ์”

ปีที่พบจารึก

พุทธศักราช 2523

สถานที่พบ

ปากถ้ำนารายณ์ (หรือ ถ้ำเขาวง) ตำบลเขาวง อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

ผู้พบ

นายภูธร ภูมะธน หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี

ปัจจุบันอยู่ที่

บนผนังปากถ้ำนารายณ์ ด้านเหนือ ตำบลเขาวง อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

พิมพ์เผยแพร่

1) จารึกโบราณรุ่นแรกพบที่ลพบุรีและใกล้เคียง (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2524), 51-55.
2) วารสาร ศิลปากร ปีที่ 28 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม 2527) : 53-57.
3) จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 42-47.
4) ข่าวสารมอญ ปีที่ 9 ฉบับที่ 39 (กรกฎาคม-สิงหาคม 2546), 12-13.
5) จารึกในประเทศไทย เล่ม 2, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2559), 47-50.

ประวัติ

ถ้ำนารายณ์นี้ ชาวบ้านเรียกกันว่า ถ้ำเขาวง อยู่ในเขตท้องที่ ตำบลพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2523 นายภูธร ภูมะธน หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี สำรวจพบจารึกนี้ และต่อมาในปี พ.ศ. 2524 ได้นำคำอ่าน-แปลออกตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในหนังสือ “จารึกโบราณรุ่นแรกพบที่ลพบุรีและใกล้เคียง” ต่อมาจึงมีการชำระแก้ไขคำอ่าน-แปลใหม่อีกครั้ง โดยนำมาตีพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือ “จารึกในประเทศไทย เล่ม 2” เมื่อปี พ.ศ. 2529 ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 พงศ์เกษม สนธิไทย ได้อ่าน-แปลความหมายและวิเคราะห์รูปอักษรอีกครั้ง โดยนำไปตีพิมพ์ใน ข่าวสารมอญ, ปีที่ 9 ฉบับที่ 37 (มีนาคม-เมษายน 2546) โดยท่านได้ให้ความเห็นว่า ภาษาในจารึกหลักนี้ เป็นภาษาที่แสดงให้เห็นถึงการลงอาคม หรือ การแทรกเสียงกลางพยางค์ (medial cluster) ซึ่งเป็นลักษณะธรรมชาติของตระกูลภาษามอญ-เขมร แต่เป็นการแทรกเสียงกลางพยางค์ที่แปลกมาก เพราะมีทั้งการใช้ตัวพยัญชนะซ้อนกันตามอักขรวิธีมอญ ยุคกลางและยุคใหม่ และเขียนติดต่อกันไปโดยไม่ใช้ตัวเชิงอักษร ลักษณะดังกล่าวคล้ายกับการทดลองฝีมือของชนมอญรุ่นแรกๆ ที่เริ่มใช้อักษรในการจารึกภาษาของตน

เนื้อหาโดยสังเขป

เป็นการเฉลิมฉลองปูชนียวัตถุ โดยการนำของพ่อลุงสินายธะพร้อมกับชาวเมืองอนุราธปุระ

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุตามรูปแบบของตัวอักษรปัลลวะ ได้อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2546, จาก :
1) เทิม มีเต็ม และจำปา เยื้องเจริญ, “จารึกถ้ำเขาวง หรือ จารึกถ้ำนารายณ์,” ใน จารึกโบราณรุ่นแรกพบที่ลพบุรีและใกล้เคียง (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2524), 51-55.
2) เทิม มีเต็ม และจำปา เยื้องเจริญ, “จารึกถ้ำนารายณ์,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 : อักษรปัลลวะ อักษรมอญ พุทธศตวรรษที่ 12-21 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 42-47.
3) เทิม มีเต็ม และจำปา เยื้องเจริญ, “จารึกบนผนังปากถ้ำนารายณ์,” ศิลปากร 28, 3 (กรกฎาคม 2527) : 53-57.
4) พงศ์เกษม สนธิไทย, “ข้อคิดจากจารึกถ้ำนารายณ์ (สบ. 1),” ข่าวสารมอญ 9, 39 (กรกฎาคม-สิงหาคม 2546) : 12-13.

ภาพประกอบ

ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-20, ไฟล์; SB_001)