จารึกวัดมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช

จารึก

จารึกวัดมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2566 10:55:12 )

ชื่อจารึก

จารึกวัดมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

นศ. 3, หลักที่ 28 ศิลาจารึกวัดมหาธาตุเมือง นครศรีธรรมราช, จารึกที่ 28 จารึกที่วัดมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช, ศิลาจารึกวัดมหาธาตุวรวิหาร

อักษรที่มีในจารึก

ปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 12

ภาษา

มอญโบราณ

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 1 บรรทัด

วัตถุจารึก

ศิลา

ลักษณะวัตถุ

แผ่นสี่เหลี่ยม

ขนาดวัตถุ

กว้าง 18.5 ซม. ยาว 84 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “นศ. 3”
2) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ 2 กำหนดเป็น “หลักที่ 28 ศิลาจารึกวัดมหาธาตุเมือง นครศรีธรรมราช”
3) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 กำหนดเป็น “จารึกที่ 28 จารึกที่วัดมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช”
4) ในวารสาร ศิลปากร ปีที่ 28 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม 2528) กำหนดเป็น “จารึกวัดมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช”
5) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 กำหนดเป็น “จารึกวัดมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช”
6) ในหนังสือ นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช กำหนดเป็น “ศิลาจารึกวัดมหาธาตุวรวิหาร”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

วัดมหาธาตุ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

วัดมหาธาตุ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

พิมพ์เผยแพร่

1) ประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ 2 ([พระนคร] : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒนากร, 2472), 49.
2) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 ([พระนคร] : กรมศิลปากร, 2504), 38.
3) วารสาร ศิลปากร ปีที่ 28 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม 2528) : 85-88.
4) จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 38-41.
5) นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 103.
6) ข่าวสารมอญ ปีที่ 9 ฉบับที่ 38 (พฤษภาคม-มิถุนายน 2546) : 10-12.
7) จารึกในประเทศไทย เล่ม 2, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2559), 36-38.

ประวัติ

ที่วัดมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราชนี้ พบจารึกอยู่ด้วยกัน 3 หลัก คือ (1) จารึกจากวัดเสมาชัย ซึ่งเดิมอยู่ที่วัดเสมาชัย ต่อมาได้ถูกนำมาเก็บไว้ที่คลังของวัดมหาธาตุ จารึกแผ่นนี้ยาว 1 เมตร 20 เซนติเมตร กว้าง 40 เซนติเมตร หนา 10 เมตร แต่น่าเสียดายที่คำจารึก ซึ่งมี 8 บรรทัดนั้น ชำรุดเสียหมด จึงอ่านไม่ได้แม้แต่คำเดียว (2) จารึกวัดมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช (หลักที่ 28) จารึกหลักนี้ค้นพบเมื่อไหร่นั้นไม่ปรากฏหลักฐาน แต่ทราบว่าได้ถูกเคลื่อนย้ายมาเก็บรักษาที่วัดมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มานานแล้ว ศิลาจารึกหลักนี้ ต่อมา ถูกนำมาติดอยู่กับชั้นบันไดหน้าประตูคลังวัดมหาธาตุ ปัจจุบันอยู่ในระหว่างชั้น ตรงข้ามกับบันไดพิพิธภัณฑ์ของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ตัวจารึกมี 1 บรรทัด มีตัวอักษร 10 ตัว (เดิม ศ. ยอร์ช เซเดส์ กล่าวว่ามี 7 ตัว) ตัวอักษรสูงมาก คือสูงราว 8 เซนติเมตร สำหรับความเป็นมาเกี่ยวกับการศึกษาของจารึกหลักที่ 28 นี้นั้น มีความว่า ในราว ค.ศ. 1904 (พ.ศ. 2452) เดอ ลาช็องกีแอร์ (de Lajonquière) ได้กล่าวถึงจารึกหลักนี้เป็นคนแรก ในวารสาร BCAI หน้า 231 และ ต่อมาในปี ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2455) หน้า 158 แต่ภาพที่นำไปตีพิมพ์นั้น เป็นภาพหัวกลับจากของจริง ต่อมา ศ. ยอร์ช เซเดส์ ได้อ่านและศึกษาจารึกหลักนี้ และนำไปตีพิมพ์ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2472 และพิมพ์ในฉบับแก้ไขใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2504 ซึ่งในการพิมพ์ทั้ง 2 ครั้งของ ศ. ยอร์ช เซเดส์ นั้น ท่านยังไม่สามารถตีความได้ว่าเป็นจารึกภาษาอะไร แต่ก็ได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า ตัวอักษรที่ใช้จารึกนั้น เป็นอักษรคล้ายกับอักษรที่ใช้ในประเทศอินเดียเมื่อราว พ.ศ. 800-1000 ต่อมาจึงมีความเห็นใหม่ว่า น่าจะเป็นตัวอักษรที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 10-11 (พ.ศ. 901-1100) หลังจากการศึกษาของ ศ. ยอร์ช เซเดส์ ครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2504 แล้ว ก็ไม่มีผู้ใดได้ศึกษาอีก จนกระทั้งราวปี พ.ศ. 2528 กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาค เกี่ยวกับศรีวิชัย ตามโครงการโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียอาคเนย์ (SPAFA) เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับศรีวิชัย จึงทำให้มีการศึกษาข้อมูลประเภทจารึกที่พบในภาคใต้ และในครั้งนี้เองที่จารึกหลักที่ 28 นี้ได้ถูกศึกษาอีกครั้ง โดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทางด้านอักษรศาสตร์ทำให้สรุปความได้ว่า ข้อความในจารึกนี้ ต้องไม่ใช่ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และภาษาเขมรอย่างแน่นอน เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ยังมีอีกภาษาเดียวที่ได้เคยปรากฏอยู่ในจารึก ซึ่งใช้รูปอักษรรุ่นเดียวกับรูปอักษรที่ใช้ในจารึกนี้ คือรูปอักษรปัลลวะ ในพุทธศตวรรษที่ 12 นั่นคือ “ภาษามอญ” เมื่อทราบดังนี้ กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร จึงมอบหมายให้ ก่องแก้ว วีระประจักษ์ ผู้เชี่ยวชาญอักษรโบราณ เป็นผู้อ่านจารึก และจำปา เยื้องเจริญ ผู้เชี่ยวชาญภาษามอญโบราณเป็นผู้แปล ต่อมา ในปี พ.ศ. 2546 พงศ์เกษม สนธิไทย ได้อ่าน - แปล และวิเคราะห์คำจารึกใหม่อีกครั้ง โดยตีพิมพ์อยู่ใน “ข่าวสารมอญ” ปีที่ 9 ฉบับที่ 38 (3) ศิลาจารึกวัดมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช (หลักที่ 29) เป็นจารึกแผ่นใหญ่ สูง 80 เซนติเมตร กว้าง 80 เซนติเมตร หนา 14 เซนติเมตร มีอักษรข้อความ 2 ด้าน ด้านที่ 1 มี 16 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 14 บรรทัด จารึกด้วยอักษรทมิฬ ภาษาทมิฬ

เนื้อหาโดยสังเขป

เป็นคำจารึกที่ฐานของรูปเคารพอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นพระพุทธรูป หรือ เทวรูป โดยกล่าวยกย่องผู้สร้างรูปเคารพนี้

ผู้สร้าง

พ่อมายา

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุตามรูปแบบของตัวอักษรปัลลวะ ได้อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และจำปา เยื้องเจริญ, “จารึกวัดมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช,” ศิลปากร 28, 2 (พฤษภาคม 2528) : 85-88.
2) ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และจำปา เยื้องเจริญ, “จารึกวัดมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 : อักษรปัลลวะ อักษรมอญ พุทธศตวรรษที่ 12-21 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 38-41.
3) พงศ์เกษม สนธิไทย, “ข้อคิดจากจารึกวัดมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช (นศ. 3),” ข่าวสารมอญ 9, 38 (พฤษภาคม-มิถุนายน, 2546) : 10-12.
4) ยอร์ช เซเดส์, “จารึกที่ 28 จารึกที่วัดมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 : จารึกทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้ = Recueil des inscriptions du Siam deuxieme partie : inscriptions de Dvaravati, de Crivijaya et de Lavo ([กรุงเทพฯ] : กรมศิลปากร, 2504), 38.
5) ยอร์ช เซเดส์, “หลักที่ 28 ศิลาจารึกวัดมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช,” ใน ประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ 2 : จารึกกรุงทวารวดี เมืองละโว้ และประเทศราชขึ้นแก่กรุงศรีวิชัย ([กรุงเทพฯ] : โรงพิมพ์พิพรรฒนากร, 2472), 49.

ภาพประกอบ

ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-21, ไฟล์; Ns_0300_c)