จารึกวัดโพธิ์ร้าง

จารึก

จารึกวัดโพธิ์ร้าง

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2566 10:04:18 )

ชื่อจารึก

จารึกวัดโพธิ์ร้าง

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

นฐ. 9, กพช. เลขที่ 40/2519, จารึกวัดโพ (ร้าง)

อักษรที่มีในจารึก

ปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 12

ภาษา

มอญโบราณ

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 7 บรรทัด แตกออกเป็น 2 ชิ้น ชิ้นที่ 1 มี 4 บรรทัด ชิ้นที่ 2 มี 3 บรรทัด

วัตถุจารึก

ศิลา ประเภทหินชนวน

ลักษณะวัตถุ

หลักจารึกชำรุดแตกออกเป็น 2 ชิ้น

ขนาดวัตถุ

กว้าง 37.7 ซม. ยาว 31 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “นฐ. 9”
2) กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำหนดเป็น “กพช. เลขที่ 40/2519”
3) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 กำหนดเป็น “จารึกวัดโพ (ร้าง)”
4) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 กำหนดเป็น “จารึกวัดโพธิ์ร้าง”

ปีที่พบจารึก

พุทธศักราช 2495

สถานที่พบ

วัดโพธิ์ร้าง อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม

พิมพ์เผยแพร่

1) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2504), 53-58.
2) จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 27-33.
3) ข่าวสารมอญ ปีที่ 8 ฉบับที่ 35 (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2545) : 9-11.
4) จารึกในประเทศไทย เล่ม 2, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2559), 39-43.

ประวัติ

เมื่อประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 ได้มีการค้นพบศิลาจารึก 2 ชิ้น ที่วัดโพธิ์ร้าง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่แต่ครั้งโบราณ อยู่ทางทิศใต้ของโรงเรียนราชินีบูรณะ (โรงเรียนสตรี ประจำจังหวัดนครปฐม) หรือ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์ ต่อมา ศ. ยอร์ช เซเดส์ได้ทำการศึกษาและนำไปตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสเสนอต่อบัณฑิตสถานทางจารึกและอักษรศาสตร์ ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2495 โดยบทความมีชื่อว่า “จารึกที่วัดโพ (ร้าง) จังหวัดนครปฐม” ต่อมาในราวปี พ.ศ. 2504 ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล และนายฉ่ำ ทองคำวรรณ ได้แปลเป็นภาษาไทยและได้ตีพิมพ์รวมอยูในหนังสือ “ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 จารึกทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้” ในในการอ่านและแปลของ ศ. ยอร์ช เซเดส์ ในครั้งนั้น ได้อ่านและอธิบายศัพท์เพียงอย่างเดียว ไม่ได้แปลความหมายออกมาเป็นประโยค ทั้งนี้อาจเพราะจารึกมีข้อความที่ชำรุดมากนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม ในรูปที่ 18 ซึ่งเป็นรูปภาพของจารึกวัดโพธิ์ร้างนี้นั้น ก็ได้นำคำแปลโดยสังเขปทั้งที่เป็นภาษาไทยและฝรั่งเศสลงตีพิมพ์ไว้ด้วย ต่อมา ในราวปี พ.ศ. 2529 กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้มอบหมายให้ เทิม มีเต็ม และจำปา เยื้องเจริญ ได้อ่านและแปลจารึกหลักนี้ให้สมบูรณ์ในเรื่องของคำอ่านและคำแปลมากยิ่งขึ้น สำหรับประวัติของวัดโพธิ์ร้างนั้น แต่เดิมจะเรียกชื่ออย่างไรสืบไม่ได้ แต่จากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลท้องถิ่นเกี่ยวกับวัดนี้โดย อาจารย์เจษฎ์ ปรีชานนท์ อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนโยธินบูรณะ ทำให้ได้ข้อมูลว่า เมื่อราวกลางรัชกาลสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กรุงรัตนโกสินทร์ มีพระภิกษุรูปหนึ่งได้ไปจากวัดโพธิ์ ท่าเตียน (วัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพมหานคร) ได้เข้าพักอาศัยอยู่จำพรรษาที่วัดเก่าแห่งนี้ พระภิกษุที่มาจากวัดโพธิ์ ท่าเตียน ชื่อว่า “ทิม” ชาวบ้านแถบย่านนั้นเรียกกันว่า “อาจารย์ทิม” หรือ “หลวงตาทิม” ท่านได้สร้างกุฏิขึ้นหลังหนึ่งสำหรับเป็นที่อาศัย ตัวกุฏิเป็นโรงโถง หลังคามุงด้วยจาก ตอนด้านหน้ากุฏิเป็นพื้นดินเปิดโล่ง ส่วนด้านหลังยกพื้นกั้นเป็นห้องสำหรับอาศัยจำวัด เนื่องจากพระอาจารย์ทิมท่านได้ไปจากวัดโพธิ์ฯ ชาวบ้านในย่านนั้นจึงได้พากันเรียกวัดเก่านั้นว่า “วัดโพธิ์” ครั้นต่อมา พระอาจารย์ทิมได้ถึงแก่มรณภาพ (ราว พ.ศ. 2459-2460) นับแต่นั้นมาก็ไม่ปรากฏว่ามีพระภิกษุรูปใดไปอยู่จำพรรษาที่วัดโพธิ์นั้นอีก จึงทำให้วัดร้าง ชาวบ้านจึงเรียกว่า “วัดโพธิ์ร้าง” ดังนั้น จารึกอักษรปัลลวะ ภาษามอญโบราณที่พบที่วัดร้างจึงได้ชื่อว่า “จารึกวัดโพธิ์ร้าง”

เนื้อหาโดยสังเขป

กล่าวถึงการกัลปนาของคนทรงเจ้า 2 คน ให้แก่พระอารามแห่งหนึ่ง

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุตามรูปแบบของตัวอักษรปัลลวะ ได้อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 โดย ศ.ยอร์ช เซเดส์ ได้อธิบายว่า ตัวอักษรที่ใช้จารึกบนจารึกวัดโพธิ์ร้างนี้ เก่ายิ่งกว่าตัวอักษรที่จารึกบนเสา ซึ่งค้นพบที่เมืองลพบุรี และมีรูปอักษรคล้ายกับตัวอักษรในจารึกที่เก่าที่สุด ณ ประเทศกัมพูชา จึงทำให้สันนิษฐานได้ว่ารูปอักษรที่ใช้นี้คงมีอายุอยู่ในตอนกลางของพุทธศตวรรษที่ 12 หรือ ก่อนหน้านั้นเล็กน้อย นอกจากนี้ เทิม มีเต็ม และ จำปา เยื้องเจริญ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า จารึกภาษามอญโบราณ วัดโพธิ์ร้าง ใช้รูปอักษร “ปัลลวะ” ลักษณะรูปอักษรที่ปรากฏนับว่าเป็นฝีมือชั้น “ครู” ตัวอักษรงาม แต่มิได้ปรากฏศักราชบอกระยะอายุกาลจารึกไว้ จึงไม่อาจจะทราบอายุสมัยของจารึกหลักนี้ได้ จากความเข้าใจ ในหลักฐาน และสิ่งแวดล้อมที่นำมาประกอบกัน ทำให้สันนิษฐานได้ว่า จารึกวัดโพธิ์ร้างนี้ ควรจะตกอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12 ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะได้พบการใช้รูปอักษรแบบเดียวกัน เช่น จารึกภาษาสันสกฤต และภาษาเขมรโบราณพบที่จังหวัดปราจีนบุรี คือ ศิลาจารึกเขารัง (ปจ. 1) ในจารึกเขารังมีศักราชบ่งบอกอยู่ด้วยคือ มหาศักราช 561 เมื่อเทียบเป็นพุทธศักราชแล้ว ได้แก่พุทธศักราช 1182 ด้วยการอาศัยรูปลักษณะอักษรที่เหมือนกันเป็นแนวเปรียบเทียบ จึงทำให้สามารถกำหนดอายุของจารึกภาษามอญโบราณ วัดโพธิ์ร้าง เก่าสุดได้ว่า คงจะอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2546, จาก :
1) เทิม มีเต็ม และจำปา เยื้องเจริญ, “จารึกวัดโพธิ์ร้าง,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 : อักษรปัลลวะ อักษรมอญ พุทธศตวรรษที่ 12-21 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 27-33.
2) พงศ์เกษม สนธิไทย, “ข้อคิดจากจารึกวัดโพธิ์ร้าง (นฐ. 9),” ข่าวสารมอญ 8, 35 (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2545) : 9-11.
3) ยอร์ช เซเดส์, “จารึกที่วัดโพ (ร้าง) จังหวัดนครปฐม,” แปลโดย ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล และฉ่ำ ทองคำวรรณ, ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 : จารึกทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้ = Recueil des inscriptions du Siam deuxieme partie : inscriptions de Dvaravati, de Crivijaya et de Lavo ([กรุงเทพฯ] : กรมศิลปากร, 2504), 53-58.

ภาพประกอบ

ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-20, ไฟล์; NT_001 และ NT_002)