จารึกพระยาศรียศราช วัดหงส์รัตนารามฯ

จารึก

จารึกพระยาศรียศราช วัดหงส์รัตนารามฯ

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2567 13:00:32 )

ชื่อจารึก

จารึกพระยาศรียศราช วัดหงส์รัตนารามฯ

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

หลักที่ 293 จารึกพระยาศรียศราช วัดหงส์รัตนารามฯ, จารึกบนฐานพระพุทธรูปทองในพระวิหารวัดหงส์รัตนารามธนบุรี

อักษรที่มีในจารึก

ไทยสุโขทัย

ศักราช

พุทธศักราช 1966

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 3 บรรทัด

วัตถุจารึก

ทองเนื้อผสมนวโลหะ

ลักษณะวัตถุ

ฐานของพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ

ขนาดวัตถุ

สูงจากฐาน 183 ซม. ขนาดหน้าตัก 160 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 กำหนดเป็น “หลักที่ 293 จารึกพระยาศรียศราช วัดหงส์รัตนารามฯ”
2) ในหนังสือ งานจารึกและประวัติศาสตร์ กำหนดเป็น “จารึกบนฐานพระพุทธรูปทองในพระวิหารวัดหงส์รัตนารามธนบุรี”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

ผู้พบ

พระสุขุมธรรมาจารย์ เจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร

ปัจจุบันอยู่ที่

พระวิหารวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

พิมพ์เผยแพร่

1) ที่ระลึกงานสมโภชพระพุทธรูปทองโบราณ วัดหงส์รัตนาราม (2501).
2) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 (กรุงเทพฯ : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2534), 63-69.
3) งานจารึกและประวัติศาสตร์ (นครปฐม : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน, 2534), 77.

ประวัติ

พระพุทธรูปทองเนื้อผสมนวโลหะสมัยสุโขทัยองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบมีวรรณะสีทองอ่อนดุจทองคำแท้ แต่เดิมนั้น หุ้มปูนพอกไว้ให้มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปสมัยกรุง รัตนโกสินทร์ ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารร้าง (พระอุโบสถเดิม) ของวัดหงส์รัตนารามฯ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ฝั่งธนบุรี เนื่องจากยังไม่พบจดหมายเหตุหรือหมายรับสั่งเกี่ยวกับพระพุทธรูปองค์นี้ จึงไม่อาจกำหนดเวลาที่แน่นอนว่าได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญองค์นี้ ลงมาจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่เมื่อใด หรือ รัชกาลไหน เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2499 พระสุขุมธรรมาจารย์ เจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนารามฯ พบว่าพระพุทธรูปปูนปั้นองค์นี้มีรอยกะเทาะตรงบริเวณพระพักตร์ เห็นเป็นสีทองสุกอยู่ภายใน ต่อมาเมื่อสร้างศาลาตรีมุขเสร็จจึงได้เคลื่อนย้ายมาประดิษฐานที่ศาลาตรีมุข และได้กะเทาะปูนออกหมดทั้งองค์ พร้อมทั้งขัดทำความสะอาด ในการนี้ นายฉ่ำ ทองคำวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านจารึกโบราณของกรมศิลปากร จึงได้ไปอ่านจารึกที่ฐานพระพุทธรูปไว้ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 ดังมีในรายละเอียดในหนังสือ ที่ระลึกงานสมโภชพระพุทธรูปทองโบราณ วัดหงส์รัตนารามฯ 2501 ต่อมาศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้อ่านและแก้ไขปีศักราชกับวรรณยุกต์ใหม่บางคำ ตีพิมพ์อยู่ในบทความเรื่อง “จารึกบนฐานพระพุทธรูปทองในวัดหงส์รัตนารามฯ”

เนื้อหาโดยสังเขป

ข้อความในจารึกหลักนี้ กล่าวถึง พระยาศรียศราช คือ เจ้าเมืองเฉลียง (ศรีสัชนาลัย-สวรรคโลก) และมีบทบาทต่อมาในประวัติศาสตร์การเมือง การสงครามและพุทธศาสนาในราชอาณาจักรสุโขทัย ยุคร่วมสมัยกับสมเด็จพระบรมราชาธิราช (เจ้าสามพระยา) แห่งกรุงศรีอยุธยา ดังที่ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ได้สรุปไว้ในผลงานที่อ้างแล้วข้างต้นว่า “จารึกหลักนี้ยืนยันข้อความในตำนานมูลศาสนา วัดป่าแดง (เชียงตุง) ซึ่ง กล่าวว่า สมัยเจ้าสามพระยาสุโขทัยถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน มีพระยาบาล (บรมปาลมหาธรรมราชา) ครองพิษณุโลก พระยารามครองสุโขทัย พระยาเชลียงครองเชลียง และพระยาแสนสอยดาวครองกำแพงเพชร ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับปลีก เลขที่ 222, 2/ก, 104 มัดที่ 27 มีรายละเอียดว่า ตอนยกทัพไปพระยาเชลียงไว้เมืองสวรรคโลกแก่เจ้าราชศรียศ ผู้เป็นบุตร ส่วนตำนานมูลศาสนา ฝ่ายวัดสวนดอก (วัดยางควง เชียงตุง ต้นฉบับได้จากวัดบ้านเอื้อมลำปาง) กล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. 1972 พระยาเมืองเชลียง ชื่อ ไสยศรียศ และจารึกสมเด็จพระมหามุนีรัตนโมลี (ดู จารึกในประเทศไทย เล่ม 5 หน้า 169) พ.ศ. 1963 กล่าวว่า เสด็จพ่อพระยาสอยเสวยราชย์ในบุรีศรีกำแพงเพชร ส่วนวันศุกร์ขึ้น 3 ค่ำ เดือนแปด ตรงกับวันรวงเม็ดและ วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 1963”

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

จารึกระบุปี พ.ศ. 1967 ซึ่งเป็นการนับแบบลังกา ถ้านับแบบไทยปัจจุบันจะตรงกับปี พ.ศ. 1966

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2546, จาก :
1) ฉ่ำ ทองคำวรรณ, เทิม มีเต็ม และประเสริฐ ณ นคร, “หลักที่ 293 จารึกพระยาศรียศราช วัดหงส์รัตนารามฯ,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 : ประมวลจารึกที่พบในประเทศไทยและต่างประเทศ (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2534), 63-69.
2) เทิม มีเต็ม และประเสริฐ ณ นคร, “จารึกสมเด็จพระมหามุนีรัตนโมลี,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 5 : อักษรธรรมและอักษรไทย พุทธศตวรรษที่ 19-24 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 167-170.
3) ประเสริฐ ณ นคร, “ตำนานมูลศาสนา ฝ่ายวัดป่าแดง เชียงตุง ปริวัตรจากใบลาน วัดบุพพาราม บ้านเอื้อม จ. ลำปาง,” ใน ตำนานมูลศาสนา เชียงใหม่ เชียงตุง (กรุงเทพฯ : สมาคมประวัติศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี, 2527), 135-209.
4) ประเสริฐ ณ นคร, “หลักฐานข้อมูลใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยทางด้านจารึก : เรื่องที่ 2 จารึกบนฐานพระพุทธรูปทองในพระวิหารวัดหงส์รัตนารามธนบุรี,” ใน งานจารึกและประวัติศาสตร์ของ ประเสริฐ ณ นคร (นครปฐม : โรงพิมพ์ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน, 2534), 74.

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายจารึกจาก : ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 (กรุงเทพฯ : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2534)