จารึกวัดธาตุอุปสมาราม (บ้านโก่ม)

จารึก

จารึกวัดธาตุอุปสมาราม (บ้านโก่ม)

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2567 19:10:32 )

ชื่อจารึก

จารึกวัดธาตุอุปสมาราม (บ้านโก่ม)

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

จารึกศรีพุมเวียงจันทน์, อด. 5

อักษรที่มีในจารึก

ไทยน้อย

ศักราช

พุทธศักราช 2134

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 6 บรรทัด

วัตถุจารึก

หินทราย สีเทา

ลักษณะวัตถุ

รูปใบเสมา

ขนาดวัตถุ

กว้าง 44 ซม. สูง 62 ซม. หนา 12 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “อด. 5”
2) ในหนังสือ ศิลาจารึกอีสานสมัยไทย-ลาว กำหนดเป็น “จารึกวัดธาตุอุปสมาราม (บ้านโก่ม)”
3) ในวารสาร ศิลปากร ปีที่ 35 ฉบับที่ 4 (2535) กำหนดเป็น “จารึกศรีพุมเวียงจันทน์”

ปีที่พบจารึก

8 กุมภาพันธ์ 2535

สถานที่พบ

ในอุโบสถ วัดธาตุอุปสมาราม หมู่ที่ 3 บ้านโก่ม ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

ผู้พบ

เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการหนังสือตัวเขียนและจารึก กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร

ปัจจุบันอยู่ที่

ในอุโบสถ วัดธาตุอุปสมาราม หมู่ที่ 3 บ้านโก่ม ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

พิมพ์เผยแพร่

1) ศิลาจารึกอีสานสมัยไทย-ลาว (กรุงเทพฯ : คุณพินอักษรกิจ, 2530), 279-280.
2) วารสารศิลปากร ปีที่ 35 ฉบับที่ 4 (2535) : 56-60.

ประวัติ

จารึกหลักนี้ นางสาวก่องแก้ว วีระประจักษ์ นายเทิม มีเต็ม และนางสาวพิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการหนังสือตัวเขียนและจารึก กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร สำรวจพบเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 ระหว่างเดินทางไปปฎิบัติราชการจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ร่วมกับคณะเจ้าหน้าที่ของหน่วยศิลปากรที่ 7 จังหวัดขอนแก่น วันที่ 5-9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 เพื่อสำรวจและหาข้อสมมุติฐานเกี่ยวกับแหล่งโบราณสถาน บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี โดยการวิเคราะห์ร่องรอยที่หลงเหลืออยู่ในแหล่งโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ ภูพระบาทและหาข้อมูลอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงมาประกอบการพิจารณา การสำรวจจารึกส่วนใหญ่ จะได้ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ของหน่วยศิลปากรที่ 7 แล้วจึงเดินทางไปอ่านและทำสำเนาจารึก แต่จารึกหลักนี้พบโดยการบอกเล่าของชาวบ้านและเจ้าอาวาสวัดโนนศิลาอาสน์วนา ราม (วัดหนอง) ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ว่ามีจารึกอยู่ในโบสถ์วัดธาตุอุปสมาราม หมู่ 3 บ้านโก่ม ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เจ้าหน้าที่ฯ จึงเดินทางไปขอดูและทำสำเนาจารึก สอบถามประวัติความเป็นมาของจารึกหลักนี้ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 เล่าว่าเห็นจารึกหลักนี้อยู่ในโบสถ์มานานหลายสิบปีแล้ว ภายหลังพบหลักฐานว่าจารึกหลักนี้เคยตีพิมพ์แล้วในหนังสือศิลาจารึกอีสานสมัย ไทย-ลาว ของ รศ. ธวัช ปุณโณทก เมื่อ พ.ศ. 2530 โดยได้รับทุนสนับสนุนโครงการวิจัยจากมูลนิธิโตโยต้า แห่งประเทศญี่ปุ่น พ.ศ. 2527-2529

เนื้อหาโดยสังเขป

ได้กล่าวถึงนาม ศรีภูมิเมืองเวียงจันทน์ (ศรีพุมเวียงจันทน์) คล้ายกับว่าจะเป็นผู้ถวายข้าโอกาส ตอนท้ายมีคำสาปแช่งผู้ที่มาทำลายทรัพย์สินที่บริจาค พร้อมกับบอกเขตเนื้อที่ด้วย (คงหมายถึงที่วัด)

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

ข้อความจารึกบรรทัดที่ 1 ระบุ จ.ศ. 953 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2134 อันเป็นสมัยที่พระหน่อเมืองปกครองราชอาณาจักรล้านช้าง (พ.ศ. 2134-2141)

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : นวพรรณ ภัทรมูล, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2549, จาก :
1) ธวัช ปุณโณทก, “จารึกวัดธาตุอุปสมาราม (บ้านโก่ม),” ใน ศิลาจารึกอีสานสมัยไทย-ลาว : ศึกษาทางด้านอักขรวิทยาและประวัติศาสตร์อีสาน (กรุงเทพฯ : คุณพินอักษรกิจ, 2530), 279-280.
2) พิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ, “จารึกศรีพุมเวียงจันทน์,” ศิลปากร 35, 4 (2535) : 56-60.
3) สิลา วีระวงส์, เรียบเรียง ; สมหมาย เปรมจิตต์, แปล, ประวัติศาสตร์ลาว, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ : มติชน, 2540), 110-111.

ภาพประกอบ

ภาพสำเนาจารึกจาก : ศิลาจารึกอีสานสมัยไทย-ลาว (กรุงเทพฯ : คุณพินอักษรกิจ, 2530)