จารึกพระธาตุร้างบ้านแร่

จารึก

จารึกพระธาตุร้างบ้านแร่

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2566 09:24:41 )

ชื่อจารึก

จารึกพระธาตุร้างบ้านแร่

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

สน. 4

อักษรที่มีในจารึก

ไทยน้อย

ศักราช

พุทธศักราช 1893

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 12 บรรทัด

ลักษณะวัตถุ

รูปใบเสมา

ขนาดวัตถุ

กว้าง 42 ซม. สูง 79 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “สน. 4”
2) ในหนังสือ ศิลาจารึกอีสานสมัยไทย-ลาว กำหนดเป็น “จารึกพระธาตุร้างบ้านแร่”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

สถานีอนามัยบ้านแร่ (วัดธาตุศรีบุญเรือง) ตำบลแร่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร

ผู้พบ

อาจารย์สุรัตน์ วรางรัตน์ และคณะนักศึกษา จากวิทยาลัยครูสกลนคร

ปัจจุบันอยู่ที่

สถานีอนามัยบ้านแร่ (วัดธาตุศรีบุญเรือง) ตำบลแร่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร

พิมพ์เผยแพร่

ศิลาจารึกอีสานสมัยไทย-ลาว (กรุงเทพฯ : คุณพินอักษรกิจ, 2530), 225-227.

ประวัติ

ศิลาจารึกหลักนี้เพิ่งค้นพบเมื่อ อาจารย์สุรัตน์ วรางรัตน์ แห่งวิทยาลัยครูสกลนคร พานักศึกษาไปศึกษานอกสถานที่ ภายหลังได้พาอาจารย์ธวัช ปุณโณทก ไปศึกษาเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2527 พบเฉพาะท่อนบนและท่อนล่าง เดือนสิงหาคม 2527 อาจารย์ธวัช ปุณโณทก ได้นำภาพนิ่งจารึกหลักนี้มาเสนอในที่ประชุมนานาชาติเรื่อง ไทยศึกษา ที่กรุงเทพฯ ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ได้แสดงความเห็นและให้ความสนใจแก่จารึกหลักนี้มาก อาจารย์ธวัช ปุณโณทก จึงได้ให้นักศึกษาผู้ช่วยวิจัยไปค้นหาส่วนของจารึกที่ยังหลงเหลืออีกครั้งหนึ่ง และพบส่วนที่ขาดไปได้ครบสมบูรณ์

เนื้อหาโดยสังเขป

ข้อความจารึกกล่าวถึงการอุทิศที่ดินให้แก่วัดของเจ้านายระดับพระยา และแสน ซึ่งเป็นหัวหน้าชุมชนในละแวกนั้น

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

ข้อความจารึกบรรทัดที่ 4 ระบุ จ.ศ. 712 คือ พ.ศ. 1893 ตรงกับปีที่พระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา และก่อนพระเจ้าฟ้างุ้มครองเมืองหลวงพระบาง (พ.ศ. 1896) ถึง 3 ปี ถ้าศักราชที่ปรากฏในจารึกนี้ถูกต้อง จารึกหลักนี้จะเป็นจารึกอักษรไทยน้อยที่มีอายุเก่าที่สุดที่พบขณะนี้ และเป็นรูปแบบตัวอักษรไทยน้อยที่ได้พัฒนาไปแล้ว คือมีรูปแบบเฉพาะตัวห่างจากอักษรไทยสุโขทัยสมัยพระเจ้าลิไท ที่ร่วมสมัยเดียวกัน จากการศึกษารูปแบบของตัวอักษรในศิลาจารึกพระธาตุร้างบ้านแร่นี้ น่าจะต้องทบทวนทฤษฎีที่ว่าอักษรไทยน้อยได้แบบอย่างไปจากตัวอักษรไทยสกุลพ่อขุนรามคำแหง ถ้าปรากฏหลักฐานอื่นๆ สนับสนุนอีกส่วนหนึ่ง

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : นวพรรณ ภัทรมูล, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2549, จาก :
ธวัช ปุณโณทก, “จารึกพระธาตุร้างบ้านแร่,” ใน ศิลาจารึกอีสานสมัยไทย-ลาว : ศึกษาทางด้านอักขรวิทยาและประวัติศาสตร์อีสาน (กรุงเทพฯ : คุณพินอักษรกิจ, 2530), 225-227.

ภาพประกอบ

ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-14, ไฟล์; Sn_0400_c)