จารึกพระธาตุเจ้าเสด็จฯ

จารึก

จารึกพระธาตุเจ้าเสด็จฯ

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2568 14:23:28 )

ชื่อจารึก

จารึกพระธาตุเจ้าเสด็จฯ

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

ลพ. 17, ลพ./17, พช. 17, 336, ศิลาจารึก ลพ. 17 อักษรไทย ภาษาไทย จ.ศ. 973, จารึกพระธาตุเจ้าเสด็จฯ, จารึกบ้านเชียงแล(เชียงราย)

อักษรที่มีในจารึก

ฝักขาม

ศักราช

พุทธศักราช 2153

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 16 บรรทัด

วัตถุจารึก

หินทรายสีเทา

ลักษณะวัตถุ

รูปใบเสมา

ขนาดวัตถุ

กว้าง 48 ซม. สูง 65 ซม. หนา 5 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “ลพ. 17”
2) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน กำหนดเป็น “ลพ./17, พช. 17, 336”
3) ในวารสาร ศิลปากร ปีที่ 22 ฉบับที่ 3 (กันยายน 2521) กำหนดเป็น “ศิลาจารึก ลพ. 17 อักษรไทย ภาษาไทย จ.ศ. 973”
4) ในหนังสือ วิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย กำหนดเป็น “จารึกพระธาตุเจ้าเสด็จฯ”
5) จารึกล้านนา ภาค 2  กำหนดว่า "ลพ. 17 จารึกบ้านเชียงแล (เชียงราย) พ.ศ.2153"

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

จังหวัดเชียงราย

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

พิมพ์เผยแพร่

1) วารสารศิลปากร ปีที่ 22 ฉบับที่ 3 (กันยายน 2521) : 68-71.
2) วิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2533), 49-50.

ประวัติ

ศิลาจารึกหลักนี้เดิมได้มาจากจังหวัดเชียงรายแต่ไม่ปรากฏสถานที่ เจ้าหน้าที่แผนกหนังสือตัวเขียนและจารึก (ปัจจุบันเป็นงานบริการหนังสือภาษาโบราณ) กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ เดินทางไปสำรวจที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญชัย จังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2515

เนื้อหาโดยสังเขป

เป็นการบันทึกเหตุการณ์ที่น่าอัศจรรย์ โดยถือว่าพระบรมสารีริกธาตุเสด็จปาฎิหาริย์ ว่า “ธาตุพระเจ้าได้เสด็จออกมาปรากฏดุจดังพระจันทร์ เมื่อวันเพ็ญ เดือน 6 ปีจอ จุลศักราช 973” ได้กล่าวถึง (คล้ายเรื่องที่มีอยู่ในตำนาน) ว่า “พระพุทธเจ้าโคตมะ ได้มาโปรดบริษัททั้งหลาย ถึงม่อนดอย” เรื่องที่ได้มาจากจารึกหลักนี้ แสดงว่าหมดสมัยราชวงศ์กษัตริย์มังรายแล้ว และดินแดนทางภาคเหนือของประเทศไทยในขณะนั้นบางครั้งก็ตกอยู่ในอำนาจของประเทศพม่า และในบางครั้งก็ขึ้นอยู่กับพระนครศรีอยุธยา พ.ศ. 2154 เป็นรัชกาลของสมเด็จพระเอกาทศรถครองนครศรีอยุธยา เข้าใจว่าเมืองเชียงใหม่ตลอดจนล้านนา ตกอยู่ในอำนาจของพระองค์ด้วย เรื่องพระธาตุเสด็จในจารึกนี้ น่าเสียดายที่จารึกขาดหายไป จึงไม่รู้ว่า เป็นม่อนดอยอะไร หากจะให้สันนิษฐานแล้ว มั่นใจเหลือเกินว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องตำนานพระธาตุจอมกิตติที่เมืองเชียงแสน เพราะองค์พระธาตุนั้นยังตั้งอยู่บนม่อนดอยขนาดย่อมอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

ข้อความจารึกบรรทัดที่ 1 ระบุ จ.ศ. 973 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2154 อันเป็นปลายรัชสมัยของพระชัยทิพ (มองกอยต่อ) (พงศาวดารโยนก; พ.ศ. 2152-2154, ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่และโคลงมังทรารบเชียงใหม่; พ.ศ. 2151-2156)-ต้นรัชสมัยของพระช้อย (ช่วงครองราชย์ครั้งที่ 2) (พงศาวดารโยนก; พ.ศ. 2154-2157, ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่; พ.ศ. 2156-2158, โคลงมังทรารบเชียงใหม่; พ.ศ. 2156-2157)

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : นวพรรณ ภัทรมูล, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2549, จาก :
1) จำปา เยื้องเจริญ, เทิม มีเต็ม และคงเดช ประพัฒน์ทอง, “จารึกพระธาตุเจ้าเสด็จฯ,” ใน วิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2533), 49-50.
2) เทิม มีเต็ม และประสาร บุญประคอง, “คำอ่านศิลาจารึก ลพ. 17 อักษรไทย ภาษาไทย จ.ศ. 973,” ศิลปากร 22, 3 (กันยายน 2521) : 68-71.
3) สรัสวดี อ๋องสกุล, ประวัติศาสตร์ล้านนา (กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง, 2544), 254.
4) คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย. จารึกล้านนา เล่ม 1-2 : จารึกจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2551), 306-307.

ภาพประกอบ

1) ภาพสำเนาจารึกจาก : วารสารศิลปากร ปีที่ 22 ฉบับที่ 3 (กันยายน 2521)
2) ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากการสำรวจภาคสนาม : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำรวจเมื่อ 8 ธันวาคม 2566