อายุ-จารึกพุทธศตวรรษที่ 10, อายุ-จารึกพุทธศตวรรษที่ 11, อายุ-จารึกพุทธศตวรรษที่ 12, อายุ-จารึกพุทธศตวรรษที่ 10-11, ยุคสมัย-จารึกสมัยทวารวดี, วัตถุ-จารึกบนดินเผา, ลักษณะ-จารึกบนตราดินเผา, ที่อยู่ปัจจุบัน-จารึกในพิพิธภัณฑ์จันเสน นครสวรรค์, ศาสนา-จารึกในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู, เรื่อง-การสรรเสริญเทพเจ้า, เรื่อง-การสรรเสริญเทพเจ้า-พระพรหม, เรื่อง-การสรรเสริญเทพเจ้า-พระวิษณุ, เรื่อง-การสรรเสริญเทพเจ้า-พระศิวะ,
โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2567 18:13:30 )
ชื่อจารึก |
จารึกบนตราดินเผาเมืองจันเสน 8 (เลขทะเบียน 2995/38) |
ชื่อจารึกแบบอื่นๆ |
4/29 ตราดินเผา ทะเบียนเลขที่ 2995/38 |
อักษรที่มีในจารึก |
ปัลลวะ, พราหมีสมัยราชวงศ์คุปตะ |
ศักราช |
พุทธศตวรรษ 10-11 และ 12 |
ภาษา |
สันสกฤต |
ด้าน/บรรทัด |
จำนวนด้าน 2 ด้าน มี 2 บรรทัด (ด้านละ 1 บรรทัด) |
วัตถุจารึก |
ดินเผา |
ลักษณะวัตถุ |
ตรา (sealings) สีน้ำตาล สภาพชำรุด |
ขนาดวัตถุ |
เส้นผ่าศูนย์กลาง 4.7 หนา 2.6 ซม. |
บัญชี/ทะเบียนวัตถุ |
พิพิธภัณฑ์จันเสน กำหนดเป็น “จส. 2995/38” |
ปีที่พบจารึก |
ไม่ปรากฏหลักฐาน |
สถานที่พบ |
เมืองจันเสน ตำบลจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ |
ผู้พบ |
ชาวบ้านตำบลจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ |
ปัจจุบันอยู่ที่ |
พิพิธภัณฑ์จันเสน ตำบลจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ |
พิมพ์เผยแพร่ |
1) สังคมและวัฒนธรรมจันเสน เมืองแรกเริ่มในลุ่มลพบุรี-ป่าสัก (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์, 2539), 190-197. |
ประวัติ |
ตราดินเผาชิ้นนี้ถูกพบในบริเวณเนินดินที่เรียกว่า “โคกจันเสน” ภายในเมืองโบราณจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ชาวบ้านได้พบตราดินเผาจำนวนหนึ่งขณะทำการเกษตรกรรม จึงนำมาถวายแก่วัดจันเสนซึ่งมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ในเวลาต่อมา จารึกนี้มีลักษณะเป็นรอยนูนต่ำขึ้นมาจากพื้นผิวของตราดินเผา โดยปรากฏทางด้านหน้าและด้านข้าง จารึกทางด้านหน้าอยู่ใต้ภาพโคนอนหมอบ ตรีศูล และครุฑ (ด้านบนของโคเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว) ศ. ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์ กล่าวไว้ในบทความเรื่อง “ศิลปโบราณวัตถุพบที่จังหวัดนครสวรรค์ ก่อนพุทธศตวรรษที่ 19” ในหนังสือ นครสวรรค์ : รัฐกึ่งกลาง ว่า ภาพในลักษณะดังกล่าวเลียนแบบมาจาก เหรียญทองแดงในสมัยพระเจ้าจันทรคุปตะที่ 2 ของอินเดีย (พ.ศ. 923-957) มีการอ่าน-แปล และตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2539 ในบทความชื่อ “จารึกดินเผาประทับตรา อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ประมาณพุทธศตวรรษที่ 14” โดย ชะเอม แก้วคล้าย ในหนังสือ สังคมและวัฒนธรรมจันเสน เมืองแรกเริ่มในลุ่มลพบุรี-ป่าสัก ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อนำรายได้บำรุงพิพิธภัณฑ์จันเสน ต่อมา ใน พ.ศ. 2547 มีอ่านจารึกดังกล่าวอีกครั้ง โดย Prof. Dr. Ravindra Vasishtha จากมหาวิทยาลัย Delhi ผศ. ดร. จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา ผศ. กรรณิการ์ วิมลเกษม และ อ. ชัยณรงค์ กลิ่นน้อย จากภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ข้อมูลเกี่ยวกับจารึกรวมทั้งคำอ่าน-คำแปลในครั้งล่าสุดนี้ปรากฏใน วิทยานิพนธ์เรื่อง “การศึกษาความหมายและรูปแบบของตราประทับสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี” ของ อนันต์ กลิ่นโพธิ์กลับ ซึ่งเป็นการศึกษาความหมายและลักษณะทางประติมานวิทยา พื่อศึกษาเปรียบเทียบและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของตราประทับ ที่พบในเมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี กับเมืองโบราณอื่นๆ ตราประทับที่พบมีทั้งที่ปรากฏตัวอักษรและเป็นรูปภาพต่างๆ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ตราประทับ (seals) คือ ตราที่ต้องนำไปประทับบนวัสดุอื่น จึงจะได้ภาพหรืออักษรที่เกิดจากการกดประทับในด้านกลับกัน และตรา (sealings) ซึ่งมีรูปหรืออักษรในด้านที่สามารถอ่านได้โดยไม่ต้องกดประทับ อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นในเรื่องอายุของตัวอักษรรวมไปถึงคำอ่าน-คำแปล ยังไม่เป็นที่ยุติ |
เนื้อหาโดยสังเขป |
เนื้อหาด้านที่ 1 จากการแปล 2 ครั้ง มีความแตกต่างกันเล็กน้อย กล่าวคือ เทิม มีเต็ม แปลว่า “พระศิวะ พระพรหม และ พระวิษณุ” ในขณะที่ Prof. Dr. Ravindra Vasishtha และ ผศ. ดร. จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา แปลว่า “พระศิวะผู้ยิ่งใหญ่” สำหรับเนื้อหาด้านที่ 2 จากการแปลของ เทิม มีเต็ม คือ “สายสัมพันธ์ประจำเผ่า” ส่วนท่านอื่นๆ ยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ |
ผู้สร้าง |
ไม่ปรากฏหลักฐาน |
การกำหนดอายุ |
ด้านที่ 1 กำหนดอายุจากรูปแบบอักษรพราหมีสมัยราชวงศ์คุปตะ ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 10-11 ส่วนด้านที่ 2 นั้น ผศ. กรรณิการ์ วิมลเกษม วิเคราะห์ว่าเป็นอักษรปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 ในขณะที่ Prof. Dr. Ravindra Vasishtha และ ผศ. ดร. จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา สันนิษฐานว่าเป็นอักษรพราหมี ภาษาปรากฤต แต่ยังไม่สามารถวินิจฉัยถึงอายุได้ |
ข้อมูลอ้างอิง |
เรียบเรียงข้อมูลโดย: ตรงใจ หุตางกูร, นวพรรณ ภัทรมูล และพันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2549, จาก: |
ภาพประกอบ |
ภาพถ่ายจารึกจาก : การศึกษาความหมายและรูปแบบของตราประทับสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี (กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547) |