จารึกธรรมจักร (นครปฐม)

จารึก

จารึกธรรมจักร (นครปฐม)

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2567 18:03:13 )

ชื่อจารึก

จารึกธรรมจักร (นครปฐม)

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

พระธรรมจักรศิลา จารึกภาษาบาลี ได้มาจากจังหวัดนครปฐม, จารึกธรรมจักร, กท . 29

อักษรที่มีในจารึก

ปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 12

ภาษา

บาลี

ด้าน/บรรทัด

จารึกอยู่บนบริเวณส่วนต่างๆ ของธรรมจักร ได้แก่ ดุม กง และ กำ

วัตถุจารึก

ศิลา

ลักษณะวัตถุ

รูปธรรมจักร

ขนาดวัตถุ

เส้นผ่าศูนย์กลาง ของวงล้อธรรมจักร 98 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “กท. 29”
2) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 กำหนดเป็น “พระธรรมจักรศิลา จารึกภาษาบาลี ได้มาจากจังหวัดนครปฐม”
3) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 กำหนดเป็น “จารึกธรรมจักร”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

บริเวณพระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

ผู้พบ

พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

พิมพ์เผยแพร่

1) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 ([พระนคร] : กรมศิลปากร, 2504), 46-52.
2) จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 59-64.

ประวัติ

วงล้อธรรมจักรที่ค้นพบในจังหวัดนครปฐมมีอยู่ด้วยกันหลายวง ซึ่งเป็นธรรมจักรในพระพุทธศาสนา เนื่องจากพบประติมากรรมรูปกวางหมอบอยู่ใกล้กับวงล้อธรรมจักร ซึ่งหมายถึงธรรมจักรซึ่งพระพุทธองค์ทรงหมุน (คือ สั่งสอน) เมื่อประทานปฐมเทศนา ณ ป่ามฤคทายวัน ศ. ยอร์ช เซเดส์ ได้เขียนเล่าไว้ในบทความเรื่อง พระธรรมจักรศิลา จารึกภาษาบาลี ได้มาจากจังหวัดนครปฐม ตีพิมพ์ในวารสาร Artibus Asiae เล่มที่ 19 ตอนที่ 3/4 ปี 1956 (พ.ศ. 2499) เพื่อเป็นที่ระลึกแก่นายปิแอร์ ดูป็องต์ (Pierre Dupont) ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ .2504 ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล และนายฉ่ำ ทองคำวรรณ ได้แปลเป็นภาษาไทยแล้วนำมาตีพิมพ์ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 ความว่า “ก่อนที่ นายปิแอร์ ดูป็องต์ จะถึงแก่กรรมเล็กน้อย เขาได้บอกข้าพเจ้าว่า มีธรรมจักรที่น่าสนใจมากอีกวงหนึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ เขาเองก็ได้ทราบความข้อนี้มาจากสหายของเรา คือ นายอเล็กซานเดอร์ บี กริสวอล์ส (Alexander B. Griswold) ธรรมจักรวงนี้ได้ขุดค้นพบระหว่างบริเวณพระปฐมเจดีย์ และพระประโทน และปัจจุบันนี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ธรรมจักรวงนี้ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 95 เซนติเมตร และรวมทั้งฐานด้วย สูง 1.09 เมตร มีลวดลายอย่างละเอียดและสวยงามสลักอยู่บนกงทั้งสองหน้า คือเป็นรูปบัวบาน 8 กลีบ หรือ 9 กลีบ และมีลายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนชั้นกลาง กำทั้ง 15 ซี่นั้น ทำรูปคล้ายเสา คือมีฐานอยู่บนดุม ฐานของกำเหล่านี้มีลวดลายคล้ายรูปใบไม้ประดับ บนยอดกำมีรูปคล้ายบัวหัวเสาอยู่ติดกับกง สำหรับดุมนั้นก็คล้ายกับวงธรรมจักรอื่นๆ คือ แทนที่จะมีรูเจาะผ่านกลางตลอด กลับมีรอยเจาะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสอยู่ทั้งสองด้านรอยเจาะรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสทั้งสองด้านนี้ ยังไม่ทราบกันแน่ว่าใช้ทำอะไร” พระธรรมจักรวงนี้ ต่อมาพระวรวงศ์พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ประทานยืม ให้จัดแสดงไว้ในห้องทวารวดี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จนถึงปัจจุบัน

เนื้อหาโดยสังเขป

คาถาที่ปรากฏอยู่นี้ อาจเรียกอย่างง่ายๆ ว่า “คำพรรณนาถึงพระอริยสัจ 4” โดยมีเนื้อหากล่าวเปรียบเทียบว่า จักร คือ พระธรรมของพระพุทธเจ้า ซึ่งแสดงถึงอริยสัจจ์ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค โดยหมุนวนครบ 3 รอบ เป็นสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ มีอาการ 12 อย่าง คำพรรณนาเช่นนี้ ยังพบได้ใน จารึกเสาแปดเหลี่ยม (ซับจำปา) (หรือ ลบ. 17) และ จารึกฐานรองพระธรรมจักร (สพ. 1) แต่จะมีคำต่างกันเล็กน้อย คือ ในจารึกทั้ง 2 ที่กล่าวข้างต้นจะใช้คำว่า “วตฺตํ” แต่ในขณะที่จารึกธรรมจักร 1 (นครปฐม) นี้ จะใช้คำว่า “วฏฺฏํ” สำหรับคำจารึกนี้ ศ. ยอร์ช เซเดส์ ได้กล่าวเกี่ยวกับที่มาว่า “เราไม่สามารถที่จะค้นหาที่มาอย่างถูกต้อง ของคำพรรณนาถึงพระอริยสัจ 4 ได้ เพราะเหตุว่าคำนี้มีกล่าวอยู่ทั่วไปในคัมภีร์ต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา สำหรับการแสดงถึงญาณ 3 ประการที่เกี่ยวกับพระอริยสัจ 4 คือเกี่ยวกับกิจที่จะต้องกระทำ และกิจที่ได้ทำแล้วนั้น เราจะเห็นว่ามีอยู่ในหนังสือมหาวัคค์ แห่งพระวินัยปิฏก เช่นเดียวกับในหนังสือของพระอรรถกถาจารย์ คือ สมันตปาสาทิกา แต่จารึกบนกำนั้นได้ให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์ 4 อย่าง (อัตถ) แห่งความจริงของมรรค คือ การนำ เหตุ การเห็น และความสามารถ ข้อความนี้อาจจะมาจากคัมภีร์ ปฏิสัมภิทามัคค์ หรือ จากหนังสือวิสุทธิมัคค์ ของพระพุทธโฆส และจากหนังสืออธิบายของพระธัมมปาละ ทั้งสองเล่มนี้ แต่งขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 10 อย่างไรก็ดี คำสั่งสอนนี้ก็เป็นคำสั่งสอนที่มีอยู่ในหนังสือทุกสมัย เป็นต้นว่า ในหนังสือสารัตถสมุจจัย ซึ่งเป็นหนังสืออธิบายของภาณวาร และคงจะแต่งขึ้นในรัชกาลของพระเจ้าปรากรมพาหุแห่งเกาะลังกา (ครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 18) จารึกที่มีลักษณะเป็นพิเศษที่สุดก็คือ จารึกบนดุม ได้แก่ จารึกบนขอบชั้นใน (ดุม 1) เพราะจารึกบนขอบชั้นนอก (ดุม 2) นั้นเป็นจารึกที่ไม่มีแบบที่ไหนเลย จารึกบนขอบชั้นใน (ดุม 1) เป็นคาถา ซึ่งแม้ว่าจะเห็นกันอยู่เสมอ แต่เมื่อมีสัมผัสรับกันอยู่เช่นนี้ ก็เห็นได้ว่าคงจะลอกมาจากที่อื่นทั้งคาถา ตามความรู้ของข้าพเจ้า คาถาบทนี้ไม่ได้มีอยู่ในคัมภีร์อื่นๆ อีกเลย นอกจากในหนังสือสารัตถสมุจจัย และปฐมสมโพธิ ซึ่งได้กล่าวถึงประโยชน์ 4 อย่างของมรรคด้วย แต่อายุหนังสือเหล่านี้ ก็อ่อนกว่าอายุของตัวอักษรที่ใช้จารึกบนพระธรรมจักร ซึ่งพบที่พระปฐมเจดีย์นี้เป็นแน่นอน เราจึงไม่อาจจะกล่าวได้ว่า หนังสือเล่มหนึ่งเล่มใดในสองเล่มข้างต้น เป็นที่มาของคาถาที่จารึกบนขอบดุมชั้นใน (ดุม 1) ของพระธรรมจักรได้ สิ่งที่ควรค้นหาก็คือ ที่มาของจารึกและหนังสือทั้งสองเล่มนั้น แต่ในที่นี้ เราไม่อาจจะกล่าวอะไรยิ่งไปกว่านี้ได้”

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุตามรูปแบบอักษรปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 ศ. ยอร์ช เซเดส์ได้เสนอความเห็นไว้ว่า “สิ่งแปลกประหลาดที่น่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับธรรมจักรวงนี้ก็คือ มีจารึกภาษาบาลีสั้นๆ เป็นตอนๆ สลักอยู่ทางด้านหน้าด้านหนึ่ง ตัวอักษรที่ใช้นั้น มีลักษณะใกล้เคียงกันมากกับตัวอักษรที่ใช้ในจารึกอื่นๆ ของอาณาจักรทวารวดีคือ จารึกคาถา เย ธมฺมา ที่ค้นพบในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ และจารึกที่ 16 (จารึกบนฐานพระพุทธรูปยืน วัดมหาธาตุเมืองลพบุรี อักษรหลังปัลลวะ ภาษาสันสกฤต) อักษรที่ใช้จารึกนี้มีอายุอ่อนกว่าแผ่นจารึกวัดโพธิ์ร้าง ซึ่งดูเหมือนว่าจะทำขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 11 และค้นพบที่ในบริเวณพระปฐมเจดีย์เมื่อ พ.ศ. 2495 แต่จารึกบนธรรมจักรวงนี้ ก็ยังมีอายุเก่ากว่าพุทธศตวรรษที่ 14 เพราะเหตุว่ายังใช้ตัว “ร” มีขีด 2 ขีดอยู่”

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2546, จาก :
1) ยอร์ช เซเดส์, “ภาคผนวก : พระธรรมจักรศิลา จารึกภาษาบาลี ได้มาจากจังหวัดนครปฐม,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 : จารึกทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้ = Recueil des inscriptions du Siam : deuxieme partie : inscriptions de Dvaravati, de Crivijaya et de Lavo ([พระนคร] : กรมศิลปากร, 2504), 46-52.
2) Gorge Cœdès, “Une Roue de la Loi avec inscription en Pāli provenant du site de P’ra Pathom,” Artibus Asiae XIX, 3/4 (1956) : 221.
3) ชะเอม แก้วคล้าย และบุญเลิศ เสนานนท์, “จารึกธรรมจักร,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 : อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12-14 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 59-64.

ภาพประกอบ

1) ภาพถ่ายจารึกจาก : จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529)
2) ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากการสำรวจภาคสนาม : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำรวจเมื่อ 22 ธันวาคม 2565