จารึกเมืองพรหมทิน 1

จารึก

จารึกเมืองพรหมทิน 1

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2566 16:01:05 )

ชื่อจารึก

จารึกเมืองพรหมทิน 1

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

ลบ. 16

อักษรที่มีในจารึก

หลังปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 13

ภาษา

บาลี

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 4 บรรทัด

วัตถุจารึก

ศิลา

ลักษณะวัตถุ

สี่เหลี่ยมผืนผ้า

ขนาดวัตถุ

กว้าง 7.4 ซม. ยาว 18 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “ลบ. 16”
2) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 กำหนดเป็น “จารึกเมืองพรหมทิน 1”

ปีที่พบจารึก

4 ตุลาคม พ.ศ. 2522

สถานที่พบ

บ้านพรหมทินใต้ ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี

ผู้พบ

นายบุญธรรม ชินดง

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี (สำรวจเมื่อ 17-20 มีนาคม 2560)

พิมพ์เผยแพร่

1) จารึกโบราณรุ่นแรกพบที่ลพบุรีและใกล้เคียง (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2524), 11-13.
2) จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 106-108.
3) จารึกในประเทศไทย เล่ม 1, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2559), 325-327.

ประวัติ

จารึกหลักนี้ นายบุญธรรม ชินดง ราษฎรบ้านพรหมทิน ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ได้พบในคราวไถนา จึงมอบให้ นางบุญช่วย ชินดง ภรรยาเก็บรักษาไว้ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2522 เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ได้ออกสำรวจหาข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนแห่งนี้ จึงได้ทราบว่า มีราษฎรพบจารึกชิ้นหนึ่ง จึงได้ขอคัดลอกและนำสำเนาส่งให้เจ้าหน้าที่จารึกกองหอสมุดแห่งชาติ 
ศิลาจารึกดังกล่าวถือเป็นหลักฐานที่ยืนยันว่าแหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินเคยเป็นที่อาศัยของกลุ่มชนที่นับถือพุทธศาสนา นอกจากนี้หลักฐานทางโบราณคดีที่พบที่ชุมชนโบราณที่เมืองพรหมทิน ประกอบด้วยหลักฐานทางโบราณคดีประเภทเศษภาชนะดินเผา หินบด ลูกปัด ฐานของสถูปก่อด้วยอิฐที่เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ก็อาจกำหนดอายุของชุมชนโบราณที่เมืองพรหมทินได้ราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 ซึ่งร่วมสมัยกับวัฒนธรรมทวารวดี แต่อย่างไรก็ตาม ชุมชนโบราณแห่งนี้ ไม่มีร่องรอยของคูน้ำคันดิน ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของชุมชนโบราณที่ได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมทวารวดี ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าชุมชนโบราณแห่งนี้เป็นชุมชนที่ไม่ใหญ่นัก หรืออาจถูกไถปรับหน้าดิน ซึ่งทำให้ร่องรอยของคูน้ำคันดินถูกปรับเป็นพื้นเรียบไปในสมัยต่อมา

เนื้อหาโดยสังเขป

คาถา เย ธมฺมาฯ นี้ นับว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นคาถาคัดมาจากพระวินัยปิฎก มหาวรรค มหาขันธกะ ตอนพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะบรรพชา โดยมีเรื่องย่อว่า “สมัยนั้น สัญชัยปริพาชก (ปริพาชก คือ นักบวชที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา) อาศัยอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยบริษัทปริพาชกหมู่ใหญ่ จำนวน 250 คน และสมัยนั้น สารีบุตรและโมคคัลลานะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักสัญชัยปริพาชก ต่างทำกติกากันว่า ใครได้บรรลุอมตธรรมก่อน จงบอกแก่อีกคนหนึ่ง สารีบุตรปริพาชกได้เห็นพระอัสสชิเข้าไปสู่กรุงราชคฤห์ เพื่อบิณฑบาต มีความเลื่อมใสในความสงบเสงี่ยมเรียบร้อยของท่าน จึงรอจนได้โอกาสก็เข้าไปถามถึงหลักธรรมในศาสนาที่ท่านบวช ท่านกล่าวหลักธรรมเพียงย่อๆ ให้ฟังว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น สารีบุตรได้ฟังก็ได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วนำมาเล่าให้โมคคัลลานะฟัง โมคคัลลานะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม จึงพากันไปลาปริพาชก 250 คน เพื่อจะไปบวชในสำนักพระบรมศาสดา แต่ปริพาชกเหล่านั้นขอไปด้วย จึงพร้อมกันไปลาสัญชัยผู้เป็นอาจารย์ สัญชัยขอให้อยู่กันบริหารหมู่คณะถึง 3 ครั้ง แต่สาริบุตรกับโมคคัลลานะไม่ยอม คงลาไป พร้อมทั้งปริพาชก อีก 250 คน สัญชัยเสียใจ ถึงอาเจียนเป็นโลหิต เมื่อปริพาชกทั้งหลาย ได้ไปเฝ้าทูลขอบวชในพระพุทธศาสนาต่อพระผู้มีพระภาคก็ได้รับพระพุทธานุญาตให้เป็นภิกษุ ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา (พระไตรปิฎกฉบับประชาชน ภาค 4 ความย่อแห่งพระไตรปิฎก เล่ม 4, 2539, หน้า 217)”

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

เดิมกำหนดว่าเป็นอักษรปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 นอกจากนี้ นายเทิม มีเต็ม ยังให้ข้อคิดเกี่ยวกับการกำหนดอายุไว้ดังนี้คือ
(1) ข้อความที่จารึกว่าด้วยเรื่องคาถา เย ธมฺมาฯ เป็นคาถาที่ชาวพุทธถือว่าเป็นหลักธรรมของพระพุทธศาสนา คาถาดังกล่าวนี้ เท่าที่พบส่วนมากจะจารึกไว้บนแผ่นหิน แผ่นดินเผา ซึ่งพบที่บริเวณเขตจังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี หรือในเขตท้องที่จังหวัดอื่นๆ
(2) ถึงแม้ว่าเกณฑ์ปีศักราชในจารึกจะไม่ปรากฏอยู่ แต่ก็สามารถอาศัยรูปลักษณะตัวอักษรที่ปรากฏในจารึกเป็นอักษรที่ร่วมสมัยราชวงศ์ปัลลวะที่ใช้อยู่ในสมัย “ทวารวดี” ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-12 ลักษณะของตัวอักษรอยู่ในสภาพที่ชัดเจน ตัวอักษรงาม ฝีมือของผู้จารึกนับเป็นฝีมือชั้น “ครู” โดยเฉพาะพยัญชนะแล้ว “ต” และตัว “ธ” มีลักษณะที่งามมาก สมเป็นฝีมือชั้น “ครู”
แต่ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 ฉบับที่พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2559 ระบุว่าเป็นอักษรหลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 13-14

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) เทิม มีเต็ม และแสง มนวิทูร, “จารึกเมืองพรหมทิน 1,” ใน จารึกโบราณรุ่นแรกพบที่ลพบุรีและใกล้เคียง (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2524), 11-13.
2) เทิม มีเต็ม และแสง มนวิทูร, “จารึกเมืองพรหมทิน 1,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 : อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12-14 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 106-108.
3) มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, “พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะบรรพชา,” ใน พระวินัยปิฎก เล่ม 4 มหาวรรค ภาค 1 และ อรรถกถา, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2536), 122-128.
4) มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, “อรรถกถาสารีปุตตโมคคัลลานบรรพชา,” ใน พระวินัยปิฎก เล่ม 4 มหาวรรค ภาค 1 และ อรรถกถา, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2536), 130-133.
5) ยอร์ช เซเดส์, “บันทึกเกี่ยวกับจารึกที่พระปฐมเจดีย์,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 : จารึกทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้ = Recueil des inscriptions du Siam deuxieme partie : inscriptions de Dvaravati, de Crivijaya et de Lavo ([กรุงเทพฯ] : กรมศิลปากร, 2504), 3.
6) สุชีพ ปุญญานุภาพ, พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน, พิมพ์ครั้งที่ 16 (กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2529), 217.
7) เทิม มีแต็ม และแสง มนวิทูร, “จารึกเยธมฺมาฯ บนพระพุทธรูปศิลา,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 : อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 11-14 พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2559), 325-327.

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายจารึกจาก : โครงการพัฒนาฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), สำรวจเมื่อ 26 สิงหาคม 2547