จารึกเยธมฺมาฯ บนพระพุทธรูปศิลา

จารึก

จารึกเยธมฺมาฯ บนพระพุทธรูปศิลา

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2566 14:28:57 )

ชื่อจารึก

จารึกเยธมฺมาฯ บนพระพุทธรูปศิลา

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

รบ. 2, หลักที่ 31 จารึกเยธมฺมาฯ บนพระพุทธรูปศิลา วัดมหาธาตุ ราชบุรี

อักษรที่มีในจารึก

หลังปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 13-14

ภาษา

บาลี

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 2 บรรทัด

วัตถุจารึก

ศิลาสีเขียว

ลักษณะวัตถุ

พระพุทธรูปยืน ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์

ขนาดวัตถุ

พระพุทธรูปสูง 196 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “รบ. 2”
2) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 กำหนดเป็น “หลักที่ 31 จารึกเยธมฺมาฯ บนพระพุทธรูปศิลา วัดมหาธาตุ ราชบุรี”
3) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 กำหนดเป็น “จารึกเยธมฺมาฯ บนพระพุทธรูปศิลา”

ปีที่พบจารึก

พุทธศักราช 2497

สถานที่พบ

วัดเพลง (ร้าง) ตำบลหลุมดิน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี

ผู้พบ

พระธรรมเสนานี เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี

ปัจจุบันอยู่ที่

พระอุโบสถวัดมหาธาตุวรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี

พิมพ์เผยแพร่

1) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 (พระนคร : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2508), 3-4.
2) จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 72-74.
3) จารึกในประเทศไทย เล่ม 1, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2559), 319-321.

ประวัติ

ศิลาจารึกหลักนี้ จารึกอักษรอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ (ด้านหลัง) ของพระพุทธรูปยืนปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ซึ่งทำด้วยศิลาสีเขียว ศิลปะแบบทวารวดี พระธรรมเสนานีเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี พบที่วัดเพลง (ร้าง) ตำบลหลุมดิน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี และได้นำมาเก็บรักษาไว้ในพระอุโบสถ วัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี เมื่อประมาณ พ.ศ. 2497 ต่อในปี พ.ศ. 2508 ได้มีการอ่านและนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ใน ประชุมศิลาจารึกภาคที่ 3 โดยใช้ชื่อว่า หลักที่ 31 จารึกเยธมฺมาฯ บนพระพุทธรูปศิลา วัดมหาธาตุ ราชบุรี และ ในปี พ.ศ. 2529 ได้รับการอ่านและแปลอีกครั้งโดย ร.ต.ท. แสง มนวิทูร เพื่อตีพิมพ์ในหนังสือชุด จารึกในประเทศไทย

เนื้อหาโดยสังเขป

คาถา เย ธมฺมาฯ นี้ นับว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นคาถาคัดมาจากพระวินัยปิฎก มหาวรรค มหาขันธกะ ตอนพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะบรรพชา โดยมีเรื่องย่อว่า “สมัยนั้น สัญชัยปริพาชก (ปริพาชก คือ นักบวชที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา) อาศัยอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยบริษัทปริพาชกหมู่ใหญ่ จำนวน 250 คน และสมัยนั้น สารีบุตรและโมคคัลลานะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักสัญชัยปริพาชก ต่างทำกติกากันว่า ใครได้บรรลุอมตธรรมก่อน จงบอกแก่อีกคนหนึ่ง สารีบุตรปริพาชกได้เห็นพระอัสสชิเข้าไปสู่กรุงราชคฤห์ เพื่อบิณฑบาต มีความเลื่อมใสในความสงบเสงี่ยมเรียบร้อยของท่าน จึงรอจนได้โอกาสก็เข้าไปถามถึงหลักธรรมในศาสนาที่ท่านบวช ท่านกล่าวหลักธรรมเพียงย่อๆ ให้ฟังว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น สารีบุตรได้ฟังก็ได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วนำมาเล่าให้โมคคัลลานะฟัง โมคคัลลานะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม จึงพากันไปลาปริพาชก 250 คน เพื่อจะไปบวชในสำนักพระบรมศาสดา แต่ปริพาชกเหล่านั้นขอไปด้วย จึงพร้อมกันไปลาสัญชัยผู้เป็นอาจารย์ สัญชัยขอให้อยู่กันบริหารหมู่คณะถึง 3 ครั้ง แต่สาริบุตรกับโมคคัลลานะไม่ยอม คงลาไป พร้อมทั้งปริพาชก อีก 250 คน สัญชัยเสียใจ ถึงอาเจียนเป็นโลหิต เมื่อปริพาชกทั้งหลาย ได้ไปเฝ้าทูลขอบวชในพระพุทธศาสนาต่อพระผู้มีพระภาคก็ได้รับพระพุทธานุญาตให้เป็นภิกษุ ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา (พระไตรปิฎกฉบับประชาชน ภาค 4 ความย่อแห่งพระไตรปิฎก เล่ม 4, 2539, หน้า 217)”

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

เดิมกำหนดอายุตามรูปแบบอักษรปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 นอกจากนี้ ร.ต.ท. แสง มนวิทูร ได้ให้ความเห็นว่า รูปอักษรของจารึกนี้ เหมือนกันกับศิลาจารึกเยธมฺมาฯ บนแผ่นอิฐ (สพ. 4) ฉะนั้นจึงประมาณอายุให้อยู่ในพุทธศตวรรษที่ 12 แต่ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 ฉบับที่พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2559 ระบุว่าเป็นอักษรหลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 13-14

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลจาก : ตรงใจ หุตางกูร, วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2546, จาก :
1) คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี, “จารึกหลักที่ 31,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 : ประมวลจารึกที่พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางของประเทศไทย อันจารึกด้วยอักษรและภาษาไทย, ขอม มอญ, บาลีสันสกฤต (พระนคร : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี, 2508), 3-4.
2) มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, “พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะบรรพชา,” ใน พระวินัยปิฎก เล่ม 4 มหาวรรค ภาค 1 และ อรรถกถา, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2536), 122-128.
3) มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, “อรรถกถาสารีปุตตโมคคัลลานบรรพชา,” ใน พระวินัยปิฎก เล่ม 4 มหาวรรค ภาค 1 และ อรรถกถา, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2536), 130-133.
4) ยอร์ช เซเดส์, “บันทึกเกี่ยวกับจารึกที่พระปฐมเจดีย์,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 : จารึกทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้ = Recueil des inscriptions du Siam deuxieme partie : inscriptions de Dvaravati, de Crivijaya et de Lavo ([กรุงเทพฯ] : กรมศิลปากร, 2504), 3.
5) สุชีพ ปุญญานุภาพ, พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน, พิมพ์ครั้งที่ 16 (กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2529), 217.
6) แสง มนวิทูร, “จารึกเยธมฺมาฯ บนพระพุทธรูปศิลา,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 : อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12-14 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 72-74.
7) แสง มนวิทูร, “จารึกเยธมฺมาฯ บนพระพุทธรูปศิลา,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 : อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 11-14 พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2559), 319-321.

ภาพประกอบ

ภาพสำเนาจารึกจาก : จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529)