จารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

คำอ่าน-แปล

พระราชสาส์นถึงพระเจ้าดอนฟิลิปแห่งโปรตุเกส

จารึก

พระราชสาส์นถึงพระเจ้าดอนฟิลิปแห่งโปรตุเกส

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2566 14:19:28 )

ชื่อจารึก

พระราชสาส์นถึงพระเจ้าดอนฟิลิปแห่งโปรตุเกส

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

หนังสือพระราชสาส์นอักษรไทย ภาษาไทย สมัยอยุธยา

อักษรที่มีในจารึก

ไทยอยุธยา

ศักราช

พุทธศักราช 2161

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

มี 46 บรรทัด (ไม่ทราบจำนวนหน้ากระดาษ)

วัตถุจารึก

กระดาษ

ลักษณะวัตถุ

แผ่นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

ในวารสาร ศิลปากร ปีที่ 4 ฉบับที่ 4 (กันยายน 2503) กำหนดเป็น “หนังสือพระราชสาส์นอักษรไทย ภาษาไทย สมัยอยุธยา”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

หอสมุดแห่งชาติ (Babiothèque Nationnale) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ผู้พบ

ขจร สุขพานิช

ปัจจุบันอยู่ที่

หอสมุด Bodleian มหาวิทยาลัย Oxford ประเทศอังกฤษ

พิมพ์เผยแพร่

1) วารสาร ศิลปากร ปีที่ 4 ฉบับที่ 4 (กันยายน 2503) : 43-54.
2) วารสาร ศิลปากร ปีที่ 4 ฉบับที่ 5 (มกราคม 2504) : 27-50.

ประวัติ

ขจร สุขพานิช ได้พบภาพถ่ายของราชสาส์นนี้ที่หอสมุดแห่งชาติ ประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันเป็นสมบัติของหอสมุด Bodleian มหาวิทยาลัย Oxford ประเทศอังกฤษ ซึ่งทำการซื้อจากนาง Edward Bernard เมื่อ ค.ศ. 1698 (ตรงกับ พ.ศ. 2241 สมัยพระเพทราชา) เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ ได้ปรึกษากับ นายตรี อมาตยกุล จึงตกลงกันให้มีหนังสือไปถึงเจ้าหน้าที่หอสมุด Bodleian ให้ทำ Photostat (ถ่ายสำเนา) ส่งมาที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ ประสาร บุญประคอง ได้อ่านและตีพิมพ์ใน นิตยสารศิลปากร ปีที่ 4 เล่ม 3 เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2503 ชื่อบทความ “พระราชสาส์น อักษรไทย ภาษาไทย สมัยอยุธยา : เป็นภาพถ่ายได้มาจากมหาวิทยาลัยออกสฟอรด ณ ประเทศอังกฤษ” และมีการนำมาตีพิมพ์อีกครั้งในบทความเรื่อง “การต่างประเทศในแผ่นดินพระเอกาทศรฐ” ของ ขจร สุขพานิช ใน นิตยสาร ศิลปากร ปีที่ 4 เล่ม 5 มกราคม พ.ศ. 2504 โดยการพิมพ์ทั้ง 2 ครั้ง ได้เสนอว่า “พระเอกาทศรุทธ” ที่ปรากฏในพระราชสาส์น น่าจะหมายถึง พระเอกาทศรถ แต่ต่อมา ในบทความเรื่อง สอบศักราชปีรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปากร ปีที่ 11 เล่ม 2-4 เดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 ได้กล่าวถึงพระราชสาส์นนี้โดยแก้ไขเป็น รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งใช้หลักฐานจากการสอบศักราชในการครองราชย์จากเอกสารไทยและต่างประเทศประกอบกัน ขจร สุขพานิช สันนิษฐานว่า พระเอกาทศรถ ครองราชย์ระหว่างพ.ศ. 2418-2453 ส่วน พระเจ้าทรงธรรม ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2153-2168 ในขณะที่นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่า พระเอกาทศรถ ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2148-2163 ส่วนพระเจ้าทรงธรรมครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2163-2171 อย่างไรก็ตาม ปีที่ครองราชย์ของพระเอกาทศรถและสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมนั้น ยังเป็นที่ถกเถียงกันทางวิชาการ จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่า พ.ศ. 2161 นั้น อยู่ในรัชกาลของพระมหากษัตริย์พระองค์ใด

เนื้อหาโดยสังเขป

กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาโปรดให้มีพระราชสาส์นเพื่อสร้างสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าดอนฟิลลิป กษัตริย์โปรตุเกส โดยผ่านไปทางอุปราชแห่งเมืองกัว ประเทศอินเดีย

ผู้สร้าง

สมเด็จพระเอกาทศรถ หรือ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

การกำหนดอายุ

ขจร สุขพานิช กำหนดอายุโดยใช้หลักฐานจากเอกสารโบราณของประเทศโปรตุเกสว่า พระราชสาส์นนี้ถูกเขียนขึ้นใน พ.ศ. 2161

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) ขจร สุขพานิช, “การต่างประเทศในแผ่นดินพระเอกาทศรถ,” ศิลปากร 4, 5 (มกราคม 2504) : 27-50.
2) ขจร สุขพานิช, “สอบศักราชปีรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ,” ใน อยุธยาคดี, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2545), 16-140.
3) ประสาร บุญประคอง, “พระราชสาส์น อักษรไทย ภาษาไทย สมัยอยุธยา,” ศิลปากร 4, 5 (กันยายน 2503), 43-54.