จารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images
  • images
  • images
  • images

ชุดคำค้น 20 คำ

อายุ-จารึก พ.ศ. 1890, อายุ-จารึก พ.ศ.1904, อายุ-จารึก พ.ศ.1905, อายุ-จารึกพุทธศตวรรษที่ 19, อายุ-จารึกพุทธศตวรรษที่ 20, ยุคสมัย-จารึกสมัยสุโขทัย, วัตถุ-จารึกบนหิน, วัตถุ-จารึกบนหินแปร, ลักษณะ-จารึกบนหลักสี่เหลี่ยม, ลักษณะ-จารึกบนหลักสี่เหลี่ยมทรงกระโจม, ศาสนา-จารึกในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู, ที่อยู่ปัจจุบัน-พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ปทุมธานี, เรื่อง-ประวัติศาสตร์เมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย, บุคคล-กษัตริย์และผู้ครองกรุงสุโขทัย, บุคคล-กษัตริย์และผู้ครองกรุงสุโขทัย-พระมหาธรรมราชาที่ 1, บุคคล-กษัตริย์และผู้ครองกรุงสุโขทัย-พญาเลอไทย, บุคคล-พระมหากัลยาณเถระ, บุคคล-พญาฦาไทย, บุคคล-พระธรรมราชาที่ 1, บุคคล-พญาเลอไทย,

จารึกวัดป่ามะม่วง (ภาษาเขมร)

จารึก

จารึกวัดป่ามะม่วง (ภาษาเขมร)

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2566 11:18:32 )

ชื่อจารึก

จารึกวัดป่ามะม่วง (ภาษาเขมร)

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

สท. 3, สท./3, หลักที่ 4 จารึกวัดป่ามะม่วง อักษรขอม ภาษาเขมร, ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร พุทธศักราช 1904, 99/295/2550

อักษรที่มีในจารึก

ขอมสุโขทัย

ศักราช

พุทธศักราช 1904

ภาษา

เขมร

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 4 ด้าน มี 168 บรรทัด ด้านที่ 1, 2, 3 มี ด้านละ 56 บรรทัด ด้านที่ 4 มี 16 บรรทัด

วัตถุจารึก

หินแปร

ลักษณะวัตถุ

หลักสี่เหลี่ยม ทรงกระโจม หรือทรงยอ (ชำรุด)

ขนาดวัตถุ

กว้าง 30 ซม. สูง 200 ซม. หนา 29 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “สท. 3 (สท./3)”
2) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 กำหนดเป็น “หลักที่ 4 จารึกวัดป่ามะม่วง อักษรขอม ภาษาเขมร”
3) ในหนังสือ จารึกสมัยสุโขทัย กำหนดเป็น “ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร พุทธศักราช 1904”
4) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก กำหนดเป็น “99/295/2550”

ปีที่พบจารึก

พุทธศักราช 2376

สถานที่พบ

เนินปราสาทเมืองเก่า ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (สำรวจข้อมูล 22 กุมภาพันธ์ 2564)

พิมพ์เผยแพร่

1) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 ([กรุงเทพฯ] : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2521), 74-86.
2) จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526), 222-241.

ประวัติ

ศิลาจารึกหลักนี้ เรียกกันว่า “จารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร” นับว่าเป็นศิลาจารึกที่สำคัญอีกหลักหนึ่ง ที่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สุโขทัย ในพุทธศตวรรษที่ 20 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2376 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ขณะทรงผนวชอยู่ ได้เสด็จจาริกธุดงค์ไปยังหัวเมืองแถบเหนือของประเทศไทย เสด็จถึงเมืองสุโขทัย ทรงพบศิลาจารึกหลักนี้และศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง พร้อมด้วย พระแท่นมนังศิลาบาตร ที่เนินปราสาทตำบลเมืองเก่า ทอดพระเนตรเห็นว่าเป็นของสำคัญ จึงโปรดให้นำลงมาเก็บรักษาไว้ที่วัดราชาธิวาส กรุงเทพฯ ครั้นเมื่อประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร โปรดให้ย้ายศิลาจารึกทั้งสองหลัก มาเก็บรักษาไว้ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ครั้งเสด็จเสวยราชย์แล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำศิลาจารึกดังกล่าวไปตั้งไว้ที่ศาลาราย ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายศิลาจารึกทั้งสองหลักมารวมกับศิลาจารึกหลักอื่นๆ ที่พบในภายหลัง เก็บรักษาไว้ที่ตึกถาวรวัตถุหน้าวัดมหาธาตุฯ ซึ่งเป็นสถานที่ทำการของหอพระสมุดวชิรญาณ หอสมุดสำหรับพระนครในสมัยนั้น คำศิลาจารึกหลักนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศ โปรดให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พร้อมด้วยล่ามเขมรอ่านและแปล ความที่แปลได้นี้ได้พิมพ์ไว้ในหนังสือ วชิรญาณ รายเดือน เล่ม 1 ฉบับที่ 3 ปี 1246 หน้า 239 เป็นครั้งแรก พิมพ์ในหนังสือ เรื่องเมืองสุโขทัย หน้า 11 เป็นครั้งที่ 2 และพิมพ์ในหนังสือ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 1 หน้า 152 เป็นครั้งที่ 3

เนื้อหาโดยสังเขป

ความในจารึกเป็นคำยอพระเกียรติของพญาฦาไทย (พระธรรมราชาที่ 1) ทั้งเพื่อจะให้เป็นที่ระลึก การที่พระองค์ทรงอาราธนาพระมหาสามีสังฆราชจากลังการูปหนึ่ง มาที่เมืองสุโขทัยเมื่อ มหาศักราช 1283 (พ.ศ. 1905) และการซึ่งพระองค์ได้ทรงพระราชศรัทธา ออกทรงผนวช ข้อความนี้จะได้เรียบเรียงและจารึกลงในศิลา ในปีเดียวกับปีที่มีงานสมโภชนั้นๆ หรือจะได้จารึกต่อมาภายหลัง ก็ไม่สามารถจะทราบได้ เพราะด้านที่ 3 ของศิลานั้นได้ลบเลือนไปเสียแทบสิ้นแล้ว ด้านที่ 1 ในตอนต้นกล่าวถึงเรื่องพญาฦาไทยเสด็จออกจากเมืองศรีสัชนาลัย ไปปราบจลาจลในเมืองสุโขทัย เมื่อ ม.ศ. 1269 (พ.ศ. 1890) ที่เกิดจลาจลนั้นเห็นจะเป็นด้วยเหตุ พญาเลอไทย พระชนกพึ่งสิ้นพระชนม์ครั้งนั้น เมื่อได้เมืองแล้ว พญาฦาไทยได้ทำพระราชพิธีราชาภิเษกในกรุงสุโขทัย ตอนที่ 2 เป็นคำยอพระเกียรติของพญาฦาไทยธรรมราชา ตอนนี้ชำรุดเสียหายมาก แต่สันนิษฐานได้บ้าง เพราะในศิลาจารึกภาษาไทย (หลักที่ 5) มีเนื้อความอย่างเดียวกัน ข้างสุดท้ายด้านที่ 1 กล่าวถึงเรื่องประดิษฐานรูปพระอิศวร พระนารายณ์ พระ (คเณศ) ในเทวาลัยมหาเกษตรที่ป่ามะม่วง ด้านที่ 2 ตอนต้นเป็นคำสรรเสริญพระปัญญาของพญาฦาไทยทรงรู้ศิลปานุศิลทั้งปวง และได้แก้ไขศักราช ตอนที่ 2 กล่าวถึงงานรับพระมหาสามีสังฆราช และการซึ่งพญาฦาไทยได้ทรงผนวช ด้านที่ 3 ชำรุดเหลือที่จะอ่านได้ ด้านที่ 4 เป็นข้อความตักเตือนสัตบุรุษ ให้รีบเร่งทำบุญกุศล และข้างสุดท้ายกล่าวถึงคาถา ซึ่งพระมหาสามีสังฆราชได้จารึกไว้ในป่ามะม่วง (คือหลักที่ 6)

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

ศักราชที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักนี้มี 3 แห่งคือ ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 1 ความว่า “1269 ศกปีกุน” เป็นมหาศักราชตรงกับพุทธศักราช 1890 และบรรทัดที่ 51 ความว่า “1271 ศกปีฉลู” เป็นมหาศักราชตรงกับพุทธศักราช 1892 ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 11 ความว่า “1283 ปีฉลู” เป็นมหาศักราชตรงกับพุทธศักราช 1904 การคำนวณปีพุทธศักราชดังกล่าวใช้แบบคติของไทย ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร อธิบายว่า ศิลาจารึกหลักนี้คงจารึกขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1904

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2546, จาก :
1) ยอร์ช เซเดส์, “ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร พุทธศักราช 1904,” ใน จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526), 222-241.
2) ยอร์ช เซเดส์, “หลักที่ 4 ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง อักษรขอม ภาษาเขมร จังหวัดสุโขทัย,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 : เป็นจารึกกรุงสุโขทัยที่ได้พบก่อน พ.ศ. 2467 ([กรุงเทพฯ] : คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2521), 74-86

ภาพประกอบ

1) ภาพสำเนาจารึกจาก : จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526)
2) ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากการสำรวจภาคสนาม : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำรวจเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2566