หนังสือออกพระวิสุทธสุนธรถึงเมอร์สิเออร์ มาร์กีส์ เดอ เซนเญอเล

จารึก

หนังสือออกพระวิสุทธสุนธรถึงเมอร์สิเออร์ มาร์กีส์ เดอ เซนเญอเล

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2566 15:07:18 )

ชื่อจารึก

หนังสือออกพระวิสุทธสุนธรถึงเมอร์สิเออร์ มาร์กีส์ เดอ เซนเญอเล

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

หนังสือออกพระวิสุทธสุนธรถึงมูสูสิงแฬร

อักษรที่มีในจารึก

ไทยอยุธยา

ศักราช

พุทธศักราช 2230

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 30 บรรทัด

วัตถุจารึก

กระดาษแข็งสีขาว

ลักษณะวัตถุ

แผ่นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

ขนาดวัตถุ

กว้าง 24 ซม. ยาว 34 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) ประชุมจดหมายเหตุสมัยอยุธยา ภาค 1 กำหนดเป็น “หนังสืออกพระวิสูตรสุนทร”
2) คู่มือนิทรรศการความสัมพันธ์ไทยกับฝรั่งเศส 300 ปี “สมเด็จพระนารายณ์ และ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14” กำหนดเป็น “หนังสือจากออกพระวิสุทธสุนทรถึง มาร์กีส์ เดอ เซนเญอเล (Monsieur le marquis de seignelay)”
3) หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ปารีส กำหนดเป็น “C1 23, f.75” (C ย่อมาจาก Carton หมายถึง กล่อง ส่วน f ย่อมาจาก folio หมายถึง หน้า)

ปีที่พบจารึก

2427

สถานที่พบ

หอสมุดทหารเรือ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ผู้พบ

พลตรี พระยาสิงหเสนี (สะอาด สิงหเสนี)

ปัจจุบันอยู่ที่

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ปารีส ประเทศฝรั่งเศส

พิมพ์เผยแพร่

1) JOURNAL OF THE SIAM SOCIETY XIV-2(1921), (7)-(39).
2) ประชุมจดหมายเหตุสมัยอยุธยา ภาค 1 : 17.
3) คู่มือนิทรรศการความสัมพันธ์ไทยกับฝรั่งเศส 300 ปี “สมเด็จพระนารายณ์และพระเจ้าหลุยส์ที่ 14” (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2530) : 49.

ประวัติ

สมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่งตั้งออกพระวิสุทธสุนธรเป็นราชทูตเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โดยเดินทางไปพร้อมกับเรือของคณะทูตฝรั่งเศสซึ่งมาเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์และเดินทางกลับเมื่อเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2228 ถึงเมืองเบรสท์ (Brest) ในเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2229 เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วคณะทูตไทยได้ออกจากฝรั่งเศสเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2230 และกลับถึงเมืองไทยในเดือนกันยายนของปีเดียวกัน ในขณะที่เรือหยุดพัก ณ แหลมกู๊ดโฮปเป็นเวลา 2 สัปดาห์ระหว่างเดินทางกลับ ออกพระวิสุทธสุนธรได้เขียนจดหมาย 3 ฉบับเป็นการขอบคุณเมอร์สิเออร์ มาร์กีส์ เดอ เซนเญอเล (Monsieur le marquis de seignelay) อัครมหาเสนาบดีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14, เมอร์สิเออร์ เดอ ลายี (Monsieur de Lagny) ผู้อำนวยการบริษัทอีสต์อินเดียฝรั่งเศส และ บาทหลวง ฟรองซัว เดอ ลา แชส (François de la Chaise) บาทหลวงประจำพระองค์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ตามลำดับ โดยเขียนด้วยอักษรและภาษาไทยและมีล่ามไทยพร้อมด้วยบาทหลวงตาชาร์ด (Tachard) ช่วยกันแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส ใน พ.ศ. 2427 พลตรีพระยาสิงหเสนี (สะอาด สิงหเสนี) ขณะเป็นร้อยโทผู้ช่วยราชการทูตไทยประจำกรุงปารีสได้ทำสำเนาเอกสารไทยสมัยอยุธยาจำนวน 3 ฉบับจากหอสมุดทหารเรือ กรุงปารีส ได้แก่ “หนังสือจากออกพระวิสุทธสุนธรถึง เมอร์สิเออร์ มาร์กีส์ เดอ เซนเญอเล” (จดหมายฉบับที่ 1) “หนังสือออกพระวิสุทธสุนธร ถึง เมอร์สิเออร์ เดอ ลายี” (จดหมายฉบับที่ 2) และ “หนังสือสัญญาค้าขายระหว่างไทยกับฝรั่งเศส” โดยมีการตีพิมพ์ในวารสารสยามสมาคม เมื่อ พ.ศ. 2464 (JOURNAL OF THE SIAM SOCIETY) XIV-2(1921). ชื่อบทความ “SIAMESE DOCUMENTS OF THE SEVENTEENTH CENTURY” โดย ศาสตราจารย์ G. CŒDÈS ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเป็นผู้อำนวยการหอสมุดวชิรญาณ ต่อมามีการตีพิมพ์ในประชุมจดหมายเหตุสมัยอยุธยา ภาค 1 เมื่อ พ.ศ. 2510 และพิมพ์อีกครั้งในคู่มือนิทรรศการความสัมพันธ์ไทยกับฝรั่งเศส 300 ปี “สมเด็จพระนารายณ์ และ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14” ซึ่งจัดขึ้นโดยกรมศิลปากรของไทยและกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศสโดยจัดแสดงที่กรุงปารีส ระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน ถึง 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 และที่เมืองเบรสท์ ประเทศฝรั่งเศส จนถึงวันที่ 27 ตุลาคม ในปีเดียวกัน จากนั้นจึงจัดแสดงที่ประเทศไทย ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพ ฯ ระหว่างวันที่ 17 ธันวาคม ถึง 31 มกราคม พ.ศ. 2530 จากนั้นย้ายไปที่พิพิธภัณฑสภานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ลพบุรี อนึ่ง จตุพร ศิริสัมพันธ์ ได้วิเคราะห์ถึงลายมือที่ปรากฏในหนังสือจากออกพระวิสุทธสุนทรถึงเมอร์สิเออร์ มาร์กีส์ เดอ เซนเญอเล นี้ไว้ในวิทยานิพนธ์เรื่อง “สรรพนามในบันทึกและจดหมายของโกษาปาน : การศึกษาตามแนวภาษาศาสตร์เชิงสังคม” ว่าหนังสือหรือจดหมายฉบับนี้เขียนด้วยอักษรไทยสมัยอยุธยาที่เป็นอักษรประดิษฐ์ซึ่งเรียกว่า “อักษรไทยย่อ” ลายมือบรรจง ตัวอักษรมีลักษณะเหลี่ยม ปลายเส้นพยัญชนะหยักตวัดคล้ายอักษรขอม

เนื้อหาโดยสังเขป

ออกพระวิสุทธสุนธรและคณะทูตกล่าวแสดงความซาบซึ้งใจที่ได้รับความสะดวกสบายระหว่างการพำนักอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสและพรรณาถึงบุญญาธิการของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ตอนท้ายขอให้กรุงศรีอยุธยาและฝรั่งเศสมีสัมพันธไมตรีอันดีต่อกันสืบไป

ผู้สร้าง

ออกพระวิสุทธสุนธร (พระยาโกษาธิบดี (ปาน))และคณะทูต

การกำหนดอายุ

แม้ว่าพุทธศักราชที่ปรากฏในจดหมายคือ “ศักราช 2231” แต่ ข้อความข้างเคียงระบุว่า “นพศก” ซึ่งหมายถึงจุลศักราชที่ลงท้ายด้วยเลข 9 ในที่นี้คือ จ.ศ. 1049 ซึ่งจะตรงกับ พ.ศ. 2230 ประกอบกับหลักฐานการกลับกรุงศรีอยุธยาของออกพระวิสุทธสุนทรและคณะซึ่งเดินทางมาถึงตั้งแต่ พ.ศ. 2230 สอดคล้องกับเอกสารของทางฝรั่งเศสที่ระบุคริสต์ศักราช 1687 ตรงกับ พ.ศ. 2230 เช่นกัน ดังนั้น จึงมีการสันนิษฐานว่า ศักราช 2231 ที่ปรากฏในเอกสารเป็นการใช้เกณฑ์แบบลังกาและพม่าซึ่งบวกด้วย 1182 เมื่อเทียบกับปัจจุบันจะเกินไป 1 ปี

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) G. CŒDÈS, SIAMESE DOCUMENTS OF THE SEVENTEENTH CENTURY, JOURNAL OF THE SIAM SOCIETY XIV-2(1921), (7)-(39).
2) กรมศิลปากร, คู่มือนิทรรศการ ความสัมพันธ์ไทยฝรั่งเศส 300 ปี “สมเด็จพระนารายณ์และพระเจ้าหลุยส์ที่ 14” (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2530).
3) “--------,” สมเด็จพระนารายณ์ และ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 : บทวิเคราะห์ทางวิชาการเกี่ยวกับสัมพันธภาพไทย-ฝรั่งเศสรัชสมัยสมเด้จพระนารายณ์ (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2530).
4) คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี, “หนังสือออกพระวิสูตรสุนทร,” ใน ประชุมจดหมายเหตุ สมัยอยุธยา ภาค 1 (พระนคร : โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายรัฐมนตรี,2510), 17.
5) จตุพร ศิริสัมพันธ์, สรรพนามในบันทึกและจดหมายของโกษาปาน : การศึกษาตามแนวภาษาศาสตร์เชิงสังคม (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาไทย ภาควิชาภาษาตะวันออก บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2529).