จารึกอักษรจีนที่วัดมัชฌิมาวาส

จารึก

จารึกอักษรจีนที่วัดมัชฌิมาวาส

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2567 23:19:30 )

ชื่อจารึก

จารึกอักษรจีนที่วัดมัชฌิมาวาส

อักษรที่มีในจารึก

จีน

ศักราช

ไม่ปรากฏศักราช

ภาษา

จีน

ด้าน/บรรทัด

ไม่ทราบจำนวนด้านและจำนวนบรรทัด

วัตถุจารึก

หินแกรนิต

ลักษณะวัตถุ

เสาประตูกำแพงแก้ว

ขนาดวัตถุ

สูง 175 ซม. กว้าง 28 ซม. หนา 63 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

ในหนังสือ อนุสรณีย์ สุชาติ รัตนปราการ กำหนดเป็น “จารึกภาษาจีนที่เสาหินประตูกำแพงแก้ว พระอุโบสถวัดมัชฌิมาวาส”

ปีที่พบจารึก

พุทธศักราช 2526 (เดือนเมษายน)

สถานที่พบ

พระอุโบสถวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

ผู้พบ

Mr. Shoji Ito ชาวญี่ปุ่น

ปัจจุบันอยู่ที่

พระอุโบสถวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา (สำรวจเมื่อ 26 กุมภาพันธ์-1 มีนาคม 2561)

พิมพ์เผยแพร่

อนุสรณีย์ สุชาติ รัตนปราการ ([กรุงเทพฯ] : ทายาทตระกูลรัตนปราการ ร่วมกับสถาบันทักษิณคดีศึกษา, 2528).

ประวัติ

จารึกนี้อยู่บนเสาประตูกำแพงแก้วทางทิศเหนือของอุโบสถวัดมัชฌิมาวาส 2 ประตู ประตูละ 4 เสา รวม แต่ละเสาจารึกเป็นภาษาจีน 9 คำ รวมทั้ง 8 เสาเป็นโคลง 1 บท พระอุโบสถหลังปัจจุบันถูกสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2394-2408 (สมัย ร. 4) เป็นอาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูน แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งอยู่บนฐานสูง มีกำแพงแก้วและรั้วเหล็กล้อมรอบ ส่วนเสมาคู่ 8 หลัก คาดว่าเป็นของเดิมที่ย้ายมาจากพระอุโบสถเก่าซึ่งสร้างในสมัย ร. 1 ในอดีต มีการถกเถียงกันในวงวิชาการอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับข้อความจารึกดังกล่าว เนื่องจากวารสารศิลปวัฒนธรรม ได้นำบทสัมภาษณ์ ผศ. สืบแสง พรหมบุญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สัมภาษณ์เมื่อ 13 พ.ค. 2526) ตีพิมพ์ลงในคอลัมน์สโมสรศิลปวัฒนธรรมเรื่อง “จารึกภาษาจีนอันเนื่องมาจากศรีวิชัย” สาระสำคัญในบทความกล่าวว่า Mr. Shoji Ito ผู้พบจารึกนี้เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2526ได้อ่านจารึกร่วมกับ ดร. สืบแสง พรหมบุญ โดยมีข้อสรุปว่าจารึกหลักนี้ถูกสร้างขึ้นใน ค.ศ. 1798 (พ.ศ. 2341) ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 และกล่าวว่าข้อความในจารึกกล่าวย้อนหลังถึงชื่อสถานที่เกี่ยวกับรัฐ Ho Ling ที่เคยกล่าวไว้ในบันทึกของหลวงจีนอี้จิง สมัยราชวงศ์ซ้อง ราวพุทธศตวรรษที่ 12 ซึ่งระบุว่ารัฐดังกล่าวตั้งอยู่ใกล้กับอาณาจักรศรีวิชัยที่เข้าใจกันว่าอยู่ ทางตอนใต้ของประเทศไทย ทำให้นักประวัติศาสตร์ตื่นเต้นกันมาก เพราะช่วยคลี่คลายปัญหาเรื่องที่ตั้งของอาณาจักรศรีวิชัย หลังจากบทความนี้แพร่หลายออกไป ม.จ. จันจิรายุ รัชนี ได้ถ่ายสำเนาบทความนี้ให้แก่ ศาสตราจารย์สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ และรับสั่งว่าให้ดำเนินการแก้ความเข้าใจผิดนี้โดยด่วน จึงมีการนำเรื่องนี้ไปเสนอให้พิจารณาในการประชุมทางวิชาการเรื่อง ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนำคำแปลของ สุชาติ รัตนปราการไปให้ร่วมกันพิจารณา ซึ่งต่อมา วารสารศิลปวัฒนธรรม ได้นำเอกสารที่ ศาสตราจารย์สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ใช้ประกอบคำบรรยายไปตีพิมพ์

เนื้อหาโดยสังเขป

กล่าวถึงคุณงามความดีของเจ้าพระยาผู้เป็นใหญ่แห่งตระกูลวู (ตระกูล ณ สงขลา) ความมั่นคงของเมืองสงขลา และการเสด็จมาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์หนึ่ง

ผู้สร้าง

เจ้าพระยาผู้เป็นใหญ่แห่งตระกูลวู (ตระกูล ณ สงขลา)

การกำหนดอายุ

ศาสตราจารย์สุทธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์ สันนิษฐานว่า จารึกนี้ น่าจะถูกสร้างขึ้นพร้อมกับอุโบสถ คือ ระหว่าง พ.ศ. 2394-2408 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2548, จาก :
1) สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์, “ดร. สุชาติ รัตนปราการ กับความเป็นผู้คงแก่เรียน,” ใน อนุสรณีย์ สุชาติ รัตนปราการ ([กรุงเทพฯ] : ทายาทตระกูลรัตนปราการ ร่วมกับสถาบันทักษิณคดีศึกษา, 2528).
2) ศิลป์ชัย ชิ้นประเสริฐ, วัดมัชฌิมาวาส = Wat Matchimawat (กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2526).

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายจารึกจาก : อนุสรณีย์ สุชาติ รัตนปราการ ([กรุงเทพฯ] : ทายาทตระกูลรัตนปราการ ร่วมกับสถาบันทักษิณคดีศึกษา, 2528)