Dataset

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส
Posted 9 มิ.ย. 2564 16:25:23 ( Updated 21 ก.ค. 2565 16:41:16 )

     แต่เดิมการสร้างรูปเคารพหรือพระพุทธรูปยังไม่มีปรากฏ พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจึงนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรมคำสั่งสอน  และพระสงฆ์ ไว้เป็นที่สูงสุด ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าทรงดับขันธ์ปรินิพานไปแล้ว เหล่าพุทธศาสนิกชนผู้เลื่อมใสศรัทธาจึงอยากจะมีสิ่งที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า จึงได้เกิดสังเวชนียสถานซึ่งเป็นเสมือนสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า 4 แห่ง ได้แก่ สถานที่ประสูติ ณ ลุมพินีวัน สถานที่ตรัสรู้ ณ ต้นโพธิ เมืองคยา สถานที่แสดงปฐมเทศนา ณ ป่าอิสิมฤคทายวัน และสถานที่ปรินิพาน ณ ต้นรังคู่ เมืองกุสินารา ส่วนการสร้างพระพุทธรูปที่เป็นรูปเคารพเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้ากนิษกะ แห่งราชวงศ์กุษาณะ ราวพุทธศตวรรษที่ 7 ซึ่งโปรดให้มีการสร้างพระพุทธรูปตามลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการในคัมภีร์พุทธศาสนา แต่ผู้สร้างได้คัดเลือกลักษณะสำคัญของมหาบุรุษมาบ้างประการเท่านั้น เช่น มีขนระหว่างคิ้ว เรียกว่า อุณาโลม มีส่วนบนของศีรษะนูนสูงขึ้นคล้ายสวมมงกุฎ เรียกว่า อุณหิส หรืออุษณีษะ หรือพระเกตุมาลา นอกจากนี้ ยังมีพระรัศมีที่เปล่งออกมาจากพระเศียรของพระพุทธรูป ทำเป็นตุ่มกลมคล้ายดอกบัวตูม หรือชูสูงขึ้นคล้ายเปลวไฟ เป็นต้น

     สำหรับประเทศไทย คติการสร้างพระพุทธรูปเริ่มปรากฎขึ้นในสมัยทวารวดี หลังประเทศอินเดียเกือบ 1000 ปี โดยประเทศไทยรับพุทธศาสนาผ่านประเทศศรีลังกา ซึ่งในช่วงเวลานั้นเกิดรัฐต่างๆ เช่น นครศรีธรรมราช ล้านนา สุโขทัย และหริภุญชัย

     คติความเชื่อเกี่ยวกับสร้างพระพุทธรูปนั้น สันนิษฐานว่าอาจมาพร้อมกับพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาในแต่ละสมัย จนกลายเป็นคติความเชื่อที่สัมพันธ์กับรูปแบบการสร้างพระพุทธรูปแบบศิลปะสมัยต่างๆ ส่วนวัสดุที่ในการสร้างพระพุทธรูปมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสำริด ดินเผา ศิลา เงิน ทองคำ และปูนปั้น นอกจากนี้ยังมีความน่าสนในตรงที่บริเวณฐานพระพุทธรูปบางชิ้นมีการจารึกข้อความต่างๆ ไว้ อาทิ วันที่สร้าง ผู้สร้าง การอุทิศผลบุญให้แก่ผู้ล่วงลับ และการปรารถนาซึ่งนิพพาน เป็นต้น

     ชุดข้อมูลจารึกชุดนี้ ได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับจารึกบริเวณฐานพระพุทธรูป อาทิ


จารึกฐานพระพุทธรูปยืนวัดมหาธาตุเมืองลพบุรี อักษรหลังปัลลวะ ภาษาสันสกฤต พุทธศตวรรษที่ 13-14

จารึกฐานพระพุทธรูปยืนวัดมหาธาตุเมืองลพบุรี เนื้อหาโดยสังเขปกล่าวถึง  “อารชวะ” ผู้เป็นราชโอรสของพระราชาแห่งศามพูกะ เป็นผู้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้น
 


จารึกฐานพระฤาษีวัชมฤค อักษรฝักขาม ภาษาบาลี, ไทย พุทธศักราช 2147

จารึกฐานพระฤาษีวัชมฤค เนื้อหาโดยสังเขปคือ พ.ศ. 2147 สมเด็จบรมบพิตรพระเป็นเจ้าเมืองเชียงแสน พร้อมทั้งพระมหาสมเด็จราชครู วัดพระหลวง และพระสังฆโมลี ร่วมกันสร้างรูปพระฤาษีตนนี้ ต่อจากนั้นเป็นคำไหว้พระธาตุบนดอยตุง

------------------
อ้างอิง
กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรรม, พระพุทธรูปปางต่างๆ. พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2558.
มูลนิธิโครงการสารานุกรมสำหรับเยาวชน, ความหมาย ที่มา และคติการสร้างพระพุทธรูป, https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=29&chap=2&page=t29-2-infodetail01.html 
วิกิพีเดีย, พระพุทธรูป, https://th.wikipedia.org/wiki/พระพุทธรูป
จารึกฐานพระพุทธรูปยืนวัดมหาธาตุเมืองลพบุรี, https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/923
จารึกฐานพระฤาษีวัชมฤค, https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/1441