พิพิธภัณฑ์จาวยองเฉลิมพระเกียรติ วัดป่าตาล


ที่อยู่:
วัดป่าตาล หมู่ 4 ต.บวกค้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ 50130
โทรศัพท์:
080-1352589 พระอาจารย์สมุห์มงคล ฐิตมฺงคโล
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 09.00-18.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2542
ของเด่น:
ปั๊บสา, คัมภีร์ใบลาน, ของใช้พื้นบ้าน
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์จาวยอง วัดป่าตาล

          ป้ายตัวอักษรขนาดใหญ่ “ที่นี่ป่าตาล ตามรอยวิถีคนยอง” และป้าย “บ้านป่าตาล ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตถวิถี” ที่ติดอยู่บนผนังบ้านจำลองหน้าวัด เป็นที่สะดุดตาเมื่อเราเดินเข้ามาในเขตวัดป่าตาล ตำบลบวกค้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่  เมื่อก้าวเข้ามาภายในวัด พบกลุ่มพ่ออุ้ยแม่อุ้ยกว่าสิบคนกำลังนั่งทำตุงใยแมงมุมเพื่อใช้ประดับประดับในวัด   พ่ออุ้ยท่านหนึ่งลุกเดินเข้ามาและเชื้อเชิญเราให้ไปไหว้พระสิงห์ยอง พระคู่บ้านองค์สำคัญอายุกว่า 400 ปี ที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ และอธิบายเชิญชวนด้วยภาษาคำเมืองว่าวัดมีพิพิธภัณฑ์ เดินเข้าไปชมได้

ยองคือใคร

          คำว่า “ยอง” อาจไม่คุ้นหูสำหรับคนจากภาคอื่นๆ คำนี้ปรากฎอยู่ทั้งในชื่อพิพิธภัณฑ์ ป้ายท่องเที่ยวหน้าวัด   ข้อมูลจากหนังสือ “การคงอยู่และการปรับเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไท : กรณีศึกษาหมู่บ้านยอง ตำบลบวกค้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่” โดยรัตนาพร  เศรษฐกุล อธิบายว่า

“ยอง” เป็นชื่อเรียกกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทและมีถิ่นฐานบ้านเกิดอยู่ที่เมืองยอง ซึ่งอยู่ในประเทศพม่าในปัจจุบัน ภาคเหนือของไทยมีชุมชนชาวยองกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ เช่น เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย น่าน และแพร่

ชาวยองในตำบลบวกค้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ อพยพมาจากเมืองยองในพม่า จากการศึกษาทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์บอกเล่า บริเวณที่ตั้งถิ่นฐานของชาวยองในปัจจุบันเป็นแหล่งชุมชนโบราณที่มีความเจริญมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรหริภุญไชยและบ้านนา หลักฐานที่ว่าชาวยองมาตั้งถิ่นฐานอยู่มาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ เป็นหลักฐานบันทึกของวัดบวกค้างเกี่ยวกับการสร้างวัดในสมัยพระเจ้าเจ็ดตนหรือสมัย “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ซึ่งมีการอพยพผู้คนจำนวนมากมาตั้งถิ่นฐานในล้านนา ผู้คนจากเมืองยองได้อพยพมาอยู่ที่ลำพูนและเขตใกล้เคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำบลบวกค้าง ซึ่งเป็นเขตติดต่อระหว่างอำเภอสันกำแพงกับกิ่งอำเภอบ้านธิของจังหวัดลำพูน

ในตำบลบวกค้างมีสิบสองหมู่บ้านที่ผู้คนมีเชื้อสายยอง หนึ่งในนั้นคือบ้านป่าตาล ซึ่งชาวบ้านตั้งชื่อตามต้นไม้ที่อยู่ในหมู่บ้านคือต้นตาล เป็นการตั้งชื่อหมู่บ้านเหมือนกับหมู่บ้านคนไททั่วๆ ไป

ในเชิงวิชาการมีข้อถกเถียงว่าคนลื้อกับคนยองคือกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันหรือไม่ พบว่ามีความเห็นต่างๆ กันเกี่ยวกับชื่อยองและลื้อ มีการแบ่งแยกระหว่างภาษาลื้อและยอง นำไปสู่การแบ่งกลุ่มคนที่พูดภาษาลื้อว่าเป็น “ไทลื้อ” ที่พูดภาษายองว่า “ไทยอง” โดยอ้างถึงข้อแตกต่างเล็กน้อยของทั้งสองภาษา แต่ในประเด็นนี้ยังมีความสับสนอยู่มาก เพราะคนที่พูดภาษายองบางกลุ่มก็เรียกตนเองเป็นลื้อ เช่น ยองที่ลำปาง ดังนั้นการใช้ลักษณะทางภาษาศาสตร์อาจไม่สามารถแบ่งกลุ่มคนได้อย่างชัดเจนตายตัวนัก อย่างไรก็ตามนักวิชาการหลายคนลงความเห็นว่า ยองคือลื้อกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ที่เมืองยอง ส่วนคำว่าไทหรือไตนั้น โดยทั่วไปนักวิชาการจะใช้เป็นคำเรียกกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท แล้วเติมหน้าชื่อเฉพาะเพื่อกำหนดกลุ่มคนให้ชัดเจน เช่น ไทลื้อ ไทเขิน ไทใหญ่ เป็นต้น

พิพิธภัณฑ์จาวยอง วัดป่าตาล

พิพิธภัณฑ์จาวยองเฉลิมพระเกียรติ วัดป่าตาล ริเริ่มขึ้นราวปี พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นปีเดียวกับปีมหามงคลสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 เจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา เป็นความร่วมมือระหว่างวัดและชุมชน  แกนนำคือท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน พระอาจารย์สมุห์มงคล ฐิตมฺงคโล ท่านมีความสนใจด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นลูกหลานคนยองในชุมชนป่าตาล บวชเรียนตั้งแต่อายุยังน้อย เป็นที่เคารพศรัทธาของคนในชุมชนและมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและรื้อฟื้นวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นของชุมชน ท่านเล่าย้อนให้ฟังถึงจุดประสงค์ในการก่อตั้งว่า

“รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ของคนยองในอดีตนำมาจัดแสดง เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มาศึกษาเรียนรู้...ข้าวของบางอย่างในปัจจุบันไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว จึงขอชาวบ้านแล้วรวบรวมนำมาจัดแสดงที่นี่”

พิพิธภัณฑ์มีอาคารจัดแสดง 3 หลัง และ 4 ส่วนจัดแสดง ประกอบด้วย

1.       เรือนคนยองจำลอง เป็นอาคารไม้ใต้ถุนโล่งขนาดไม่ใหญ่นัก ดัดแปลงจากหลองข้าวหรือยุ้งข้าวเพื่อจัดแสดงเสมือนหนึ่งเป็นเรือนอาศัยของคนยอง ใต้ถุนชั้นล่างจัดแสดงกี่ทอผ้า แปลงผักที่ดูปลูกผักอย่างเป็นจริงเป็นจังมาก  ซึ่งเจ้าอาวาสเล่าว่า อยากจะให้มีภูมิทัศน์ที่สวยงามสำหรับนักท่องเที่ยวมาถ่ายภาพ ส่วนชั้นบนจัดแสดง หุ่นสวมเสื้อผ้าหญิงชาวยอง  ติดกันเป็นเครื่องปั่นฝ้ายและอิดฝ้าย คล้ายจะบอกว่าเป็นกิจกรรมปั่นฝ้ายทอผ้าเป็นของแม่หญิง ด้านข้างมีฟูกนอน ตู้ไม้จัดแสดงเครื่องเขิน บนฝาผนังมีภาพถ่ายเก่าเป็นภาพวัดในเมืองยอง ภาพพระภิกษุยอง การแต่งยองของผู้หญิงเมืองยอง  ส่วนนอกชานด้านข้างจำลองครัวไฟ มีทั้งก้อนเส้าเตาไฟ ถ้วยชามหม้อไห กระบุงตะกร้า

2.       ห้องเรียนจำลอง เป็นอาคารติดดินชั้นเดียวเทพื้นซีเมนต์ ประตูด้านหน้าติดป้ายคำอธิบายประวัติหมู่บ้านยองในตำบลบวกค้าง ภายในมีกระดานดำติดบนผนังด้านในสุด มีโต๊ะเรียนและเก้าอี้ไม้วางเรียงจำนวนหนึ่ง  ท่านเจ้าอาวาสให้ข้อมูลว่า เนื่องจากสมัยก่อนวัดป่าตาลมีโรงเรียน แต่เนื่องจากจำนวนนักเรียนลดน้อยลง และโรงเรียนได้ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ใช้ไวทบอร์ดแทนกระดานดำ รวมถึงเก้าอี้และโต๊ะเรียนจำนวนมากที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ถูกวางกองทิ้งรวมกันอยู่ ท่านรู้สึกเสียดายจึงขอมาจัดแสดงจำลองเป็นห้องเรียนสมัยก่อน  

3.       อาคารพิพิธภัณฑ์ปั๊บสา เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว ภายในจัดแสดงตู้พระธรรม ปั๊บสา คัมภีร์ใบลานของวัด ปั๊บสาส่วนหนึ่งจัดแสดงไว้ในตู้กระจก คลี่ให้เห็นตัวอักษรและเนื้อหาบางส่วน ปั๊บอีกส่วนหนึ่งยังถูกมัดและห่อด้วยผ้าห่อคัมภีร์วางจัดแสดงไว้บนชั้นจัดแสดง ปั๊บสาแต่ละผูกมีการทำป้ายทะเบียนระบุชื่อคัมภีร์ จำนวนผูก วัสดุ เรื่อง ผู้สร้าง ปีที่สร้าง ซึ่งเจ้าอาวาสให้ข้อมูลว่ามีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่มาช่วยจัดทำ

บนฝาผนังอาคารมีป้ายนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับปั๊บสา  พยัญชนะสระหรือภาษาเขียนล้านนา คติธรรมล้านนา เช่น ป้ายคำศัพท์คำอ่านคำแปลของตัวเขียนล้านนา ป้ายตัวอย่างคำสอนหรือคติธรรมล้านนาที่เขียนและเรียบเรียงโดยพ่อหนานสัมฤทธิ์ มณีเกี๋ยง จากโรงเรียนรวมศูนย์วัดป่าตาล

4.       ด้านข้างอาคารพิพิธภัณฑ์ปั๊บสา ได้รับการต่อเติมและมีตู้กระจกเรียงราย ภายในจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นของวัดป่าตาลและของที่ชาวบ้านถวายวัด เช่น ถ้วยชามกระเบื้อง ป้านชา กระโถน ปิ่นโต พานเครื่องเขิน ครกไม้ ตาชั่ง เตารีดถ่าน ทีวีขาวดำรุ่นเก่า ระนาด เป็นต้น

หากเดินลึกเข้าไปในด้านหลังอาคาร เป็นส่วนต่อเติมใหม่ที่กำลังเตรียมจัดแสดงประวัติความเป็นมาของคนยอง ในวันที่สำรวจมีป้ายคำอธิบายอิงค์เจ็ทขนาดสูงเท่าตัวคน มีเนื้อหาและภาพประกอบ โดยมีหัวเรื่องใหญ่ได้แก่ ยองคือใคร ประวัติความเป็นมาของชาวยองในอดีต เมืองยองและวิถีชีวิตคนยองและความเปลี่ยนแปลง และมีภาพถ่ายคนยองที่เมืองยอง ประเทศพม่า ที่กำลังเตรียมนำมาติดตั้ง ซึ่งท่านเจ้าอาวาสเล่าว่า เนื้อหาและภาพถ่ายส่วนใหญ่ได้มาจากหนังสือและสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต

 

ในความเห็นของผู้เขียน ความน่าสนใจของวัดป่าตาล อาจจะไม่ใช่ตัวพิพิธภัณฑ์หรือการจัดแสดงที่เห็นแต่เพียงอย่างเดียว กลุ่มแม่บ้าน และกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มานั่งทำกิจกรรมภายในวัด ทำให้วัดป่าตาลมีชีวิตชีวา แม้ปัจจุบันวัดลงความสำคัญลงในแง่ความเลื่อมใสศรัทธาในศาสนา แต่วัดป่าตาลยังมีบทบาทอื่นๆ  ที่สำคัญคือวัดถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับกิจกรรมของชุมชนวัดป่าตาล ยังคงมีบทบาทสำคัญในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มแม่บ้าน ที่เป็นการรวมกลุ่มของท้องถิ่นในการทำกิจกรรมร่วมกัน 

ในวันที่ไปเยี่ยมชม พบกลุ่มผู้สูงวัยทั้งชายหญิงกำลังขะมักเขม้นกับการทำตุงเพื่อประดับประดาทางเดินภายในวัด หลายคนบอกว่ามาช่วยวัดทำเหมือนเป็นการทำบุญ อาจกล่าวได้กลุ่มคนเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการธำรงรักษาสังคมวัฒนธรรมยองเอาไว้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคปัจจุบัน

อาคารด้านหน้าติดกับวิหารเป็นที่ตั้งของชมรมผ้าทอพื้นเมือง ที่ทางวัดสนับสนุนให้แม่บ้านเข้ามาทอผ้าเพื่อหารายได้  ทั้งนี้การทอผ้าถือเป็นความชำนาญของผู้หญิงในชุมชนที่จำเป็นต้องทอผ้าเอาไว้ใช้เองในครัวเรือน ต่อมาเมื่อมีผ้าจากโรงงานราคาถูกมาจำหน่ายทำให้ชาวบ้านค่อยๆ เลิกการทอผ้าใช้เอง จนปัจจุบันความนิยมผ้าทอพื้นเมืองมีมากขึ้นเนื่องจากการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยว ทำให้การทอผ้ากลับมาเป็นอาชีพที่ทำรายได้

ติดกันคือชมรมสมุนไพรที่ผลิตยาสมุนไพรขายและให้บริการ “ย่ำขาง” ซึ่งเป็นการบำบัดอาการเจ็บปวดตามร่างกาย โดยใช้เท้าชุบน้ำยาแล้วไปย่ำลงบนขางที่เผาไฟจนร้อนแดง แล้วจึงไปย่ำบนร่างกายหรืออวัยวะของผู้มารักษา  ภูมิปัญญาเรื่องสมุนไพรและการแพทย์พื้นบ้านของชุมชนวัดป่าตาลเป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่ หน่วยงานราชการมักเชิญชมรมฯ ไปออกงานอยู่บ่อยครั้ง ท่านเจ้าอาวาสอธิบายที่มาของชมรมว่า

          “ชมรมสมุนไพรนี้เริ่มแรกมาจากคนสมัยก่อน คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านจะมีเยอะ เวลาวัดจะทำอะไรคนเฒ่าคนแก่จะมาช่วยตลอด เลยมีคุยกันว่าเราทำโครงการทำอะไรดีไหม เลยพิจารณาว่าหมู่บ้านเรามีอะไรบ้าง ก็เห็นว่าสมุนไพรบ้านเรามีเยอะมาก บางคนแทบไม่รู้คุณประโยชน์เลย...ก็เลยว่าเราเอาอันนี้ทำเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรดีไหมเพราะว่าวัตถุดิบเรามีเยอะ ตะไคร้ ใบมะกรูด ขมิ้น ใบเต้า ใบเตย ฯลฯ ก็เลยเอาสมุนไพรในหมู่บ้านทั้งหมด เริ่มแรกเขาเอามาให้ก่อนเพราะบ้านเขามีเยอะอยู่แล้ว ทำสมุนไพรอบตัว หลักจากนั้นก็พัมนาเป็นถุงประคบสมุนพร..พอีดมีพ่อหมอกลุ่มภูมิปัญญาที่บ้านป่าซาง เขาก็เลยมาสอนเกี่ยวกับทำสมุนไพรเพิ่มเติม เป็นยาหม่อง น้ำมันเหลือง น้ำมันเขียว ก็เลยเกิดเป็นชมรมสมุนไพรชาวยองชึ้น”  

ด้วยความที่อำเภอสันกำแพงได้รับการพัฒนา ในแง่อำเภอหนึ่งที่เป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญของเชียงใหม่ มีการเติบโตของธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยวและแหล่งหัตถกรรมมาอย่างช้านาน ไม่น่าแปลกใจว่าหลายชุมชนอยู่ท่ามกลางกระแสดังกล่าว  “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” เป็นโครงการล่าสุดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่วัดป่าตาลและชุมชนได้เข้าร่วม  โดยนำเสนอจุดท่องเที่ยวและงานหัตถกรรมของคนชุมชน เช่น การทอผ้าพื้นเมือง การสานก่องข้าวจากใบตาล การจักสานต่างๆ  

ท่านเจ้าอาวาสอธิบายถึงที่มาที่วัดและชุมชนต้องการจะพัฒนาให้บ้านป่าตาลเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมว่า

“เพราะว่าหมู่บ้านเราไม่มีธรรมชาติ แต่มีประเพณีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาต่างๆ มีการทอผ้า การสานก่องข้าวของใบตาล การจักสาน ฯลฯ เราเปิดให้คนมาเรียนรู้และมาเที่ยวชมภูมิปัญญา จุดเด่นที่นี่อย่างหนึ่งก็คือชาวยอง เป็นชุมชนชาวยอง ในตำบลบวกค้างมีการศึกษาว่าเป็นตำบลเดียวในสันกำแพงที่คนยองอาศัยอยู่ประมาณ 98 % ก็เลยมีประเพณีวัฒนธรรมของคนยอง มาการจัดงานประจำปีอยู่ที่วัดประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ชื่อว่า งานสืบฮีตสานฮอยไทยอง ปีนี้จัดเป็นปีที่12... เราเริ่มมาจากงานนี้ด้วยก็เลยพัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไปอีก...”

ความภาคภูมิใจในความเป็นชาวยอง ทำให้ทั้งวัดและชาวบ้านในชุมชนร่วมกันนำเสนอและบอกเล่าให้คนนอกได้รับรู้และรู้จักวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมของคนยองผ่านสถานที่ วัตถุ งานประเพณี และกิจกรรมต่างๆ  ทั้งตัววัด พระสิงห์ยอง พิพิธภัณฑ์ ชมรมทอผ้า ชมรมสมุนไพร และงาน “สืบฮีตสานฮอยไทยอง” อาจกล่าวได้ว่าวัดป่าตาลยังคงเป็นศูนย์รวมศรัทธาของชาวบ้าน เป็นสถาบันที่สำคัญในการบำรุงรักษาวัฒนธรรมคนยองในชุมชนอย่างเข้มแข็ง

ข้อมูลจาก

รัตนาพร  เศรษฐกุล, 2537. การคงอยู่และการปรับเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไท: กรณีศึกษาหมู่บ้านยอง ตำบลบวกค้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

สัมภาษณ์พระอาจารย์สมุห์มงคล ฐิตมฺงคโล วันที่ 14 สิงหาคม 2562.

ชื่อผู้แต่ง:
ปณิตา สระวาสี

รีวิวของพิพิธภัณฑ์จาวยองเฉลิมพระเกียรติ

พิพิธภัณฑ์จาวยองเฉลิมพระเกียรติ์ วัดป่าตาล สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2542 ชาวบ้านเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงช่วยเหลือ ตั้งแต่บริจาคเงิน ออกแบบบ้าน บริจาคเครื่องมือเครื่องใช้ของบรรพบุรุษ และสล่า(ช่าง)ชาวยองช่วยสร้างบ้าน มีกรรมการชมรมอนุรักษ์วัฒนธรรม 1 กลุ่ม และคณะกรรมการวัดที่จัดพิพิธภัณฑ์อีก 33 คน พิพิธภัณฑ์จัดตั้งขึ้นเพื่อให้เกิดความสามัคคี ความหวงแหนในบรรพชนและวิถีชีวิตของคนยอง อาคารจัดแสดงเป็นเรือนไม้จำลองส่วนหนึ่งของบ้านชาวยอง ซึ่งทางวัดจะต่อเติมให้ครบถ้วนต่อไปในอนาคต หลังที่สองเป็นศาลาสร้างจากยุ้งข้าว จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้การเกษตร เครื่องมือทำมาหากิน เครื่องใช้ในบ้าน เครื่องแต่งกาย ผ้าทอฝีมือชาวเยอง หลังที่สามเป็นห้องสมุดใช้เก็บคัมภีร์ใบลาน พับสา

ข้อมูลจาก : บุบผา จิระพงษ์. สถานภาพของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่: คณะ มนุษยศาสตร์ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่,2544. หน้า 250.
ชื่อผู้แต่ง:
บุบผา จิระพงษ์