พิพิธภัณฑ์วัดปรางแก้ว


วัดปรางแก้ว สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2429 โดยพระครูวิสุทธิโมลี เจ้าคณะเมืองเป็นผู้ขนานนามวัดให้ ที่ดินสร้างวัดนั้น เดิมเป็นของขุนจำนง, นางปราง, ขุนปรีชา, นางจันทร์ ในการสร้างวัดมีพระอธิการคงแก้ว แห่งวัดบางศาลาได้มาเป็นประธานนำสร้างวัด ชาวบ้านมักเรียกนามวัดตามชื่อบ้านว่า “วัดบ้านพร้าว” วัดปรางแก้วได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2442 มีการเปิดสอนพระปริยัติธรรมตั้งแต่ พ.ศ.2507 นอกจากนี้ยังได้จัดสร้างโรงเรียนประถมศึกษาขึ้นในวัดเมื่อ พ.ศ.2496 พระครูสุตรัตนคุณ(อดีตเจ้าอาวาสองค์ก่อน) ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์วัดปรางแก้ว ไว้ใต้พระอุโบสถหลังใหม่ ข้าวของที่จัดแสดงส่วนใหญ่เป็นสมบัติวัดแต่เดิม ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่บริจาคให้แก่วัด เช่น เครื่องทองเหลือง เครื่องเคลือบ เครื่องมือทำมาหากิน เครื่องลายคราม เครื่องประดับ และเครื่องยาสมุนไพรสำหรับใช้ปรุงยาพรหมประสิทธิ์

ที่อยู่:
วัดปรางแก้ว หมู่ที่ 8 ตำบลทุ่งลาน อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา 90230
โทรศัพท์:
0819699728 (พระชีพ รกฺขิตธมฺโม)
วันและเวลาทำการ:
กรุณานัดหมายล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ของเด่น:
เครื่องทองเหลือง, เครื่องเคลือบ
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์วัดปรางแก้ว

          วัดปรางแก้ว  เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  ตั้งอยู่บ้านพร้าว หมู่ที่ 8 ตำบลทุ่งลาน อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา  ได้สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2429 ตรงกับปีจอ เดือน 7 ขึ้น 15 ค่ำ โดยพระครูวิสุทธิโมลี เจ้าคณะเมืองเป็นผู้ขนานนามวัดให้ สำหรับที่ดินสร้างวัดนั้น เดิมเป็นของขุนจำนง  นางปราง   ขุนปรีชา นางจันทร์   ในการสร้างวัดมีพระอธิการคงแก้ว แห่งวัดบางศาลาได้มาเป็นประธานนำสร้างวัด ชาวบ้านมักเรียกนามวัดตามชื่อบ้านว่า “วัดบ้านพร้าว”  วัดปรางแก้วได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2442 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 9 เมตร ยาว 13 เมตร   มีการเปิดสอนพระปริยัติธรรมตั้งแต่ พ.ศ.2507 นอกจากนี้ยังได้จัดสร้างโรงเรียนประถมศึกษาขึ้นในวัดเมื่อ พ.ศ.2496  รายนามเจ้าอาวาส  รูปที่ 1 พระอธิการคงแก้ว  รูปที่ 2 พระอธิการมาก ติสฺสโร รูปที่ 3 พระอธิการทองแก้ว อินฺทโร  รูปที่ 4 พระครูรัตนธรรมจารี  รูปที่ 5 พระครูสุตรัตนคุณ รูปที่ 6. พระชีพ รกฺขิตธมฺโม

            พระครูสุตรัตนคุณ เจ้าอาวาสองค์ก่อน เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วัดปรางแก้วขึ้น  โดยใช้พื้นที่ใต้พระอุโบสถหลังใหม่เป็นที่จัดแสดง  ภายในมีข้าวของจัดแสดงไว้มากมาย เช่น เครื่องทองเหลือง  เครื่องเคลือบ  เครื่องมือทำมาหากิน เครื่องลายคราม  เครื่องประดับ และเครื่องยาสมุนไพรสำหรับใช้ปรุงยาพรหมประสิทธิ์

            เครื่องยาพรหมประสิทธิ์ เป็นยาสมุนไพรที่ได้รับความนิยมจากชาวบ้านในท้องถิ่น  เล่ากันว่าราวปี พ.ศ.2496  หลังจากเสร็จงานศพพระอธิการทองแก้ว  อินทโร แล้ว พระครูรัตนธรรมจารี หรือ พ่อท่านทับ ได้นำไม้ที่ใช้สร้างเมรุและโรงพิธีศพพระอธิการทองแก้ว ไปสร้างโรงเรียนวัดปรางแก้ว แต่ยังขาดไม้อีกจำนวนมาก  จึงนำชาวบ้านไปตัดไม้ที่เขาวังชิง ในช่วงที่ตัดไม้อยู่นั้นมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาเข้าทรงบอกว่าเป็นพระธุดงค์มาจากทางภาคเหนือมาสิ้นบุญที่เขาวังชิง เมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมา  ภายหลังชาวบ้านเรียกท่านว่า “หลวงพ่อรัศมี” ท่านได้บอกตำรับยาสมุนไพรไว้ช่วยเหลือชาวบ้าน  รวมกับตำรับยาของพระครูรัตนธรรมจารี(พ่อท่านทับ) ได้เป็น  “ยาพรหมประสิทธิ์”  ซึ่งเป็นยาที่มีสรรพคุณ แก้พิษหรือขับพิษทุกชนิดและเป็นยาบำรุงร่างกายด้วย  ตัวยาประกอบด้วยสมุนไพรมากถึง 222 ชนิด ในจำนวนนั้นยังมีส่วนผสมพวกเขา เขี้ยว งา กระดูกของสัตว์อีกหลายชนิดด้วย  ในการปรุงยาแต่ละครั้งจะต้องรวบรวมสมุนไพรต่าง ๆ เป็นเวลาหลายปีจึงจะครบตามตำรับ ในระหว่างที่รอการปรุงยาทางวัดได้นำสมุนไพรจำนวนหนึ่งที่เก็บไว้ให้ประชาชนได้ศึกษาเรียนรู

            เครื่องทองเหลืองที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์วัดปรางแก้วมีหลายรูปแบบ  ทั้งแบบเรียบ ๆ ไม่มีลวดลาย และแบบมีลวดลายสวยงาม  ข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้มากจากคติความเชื่อของคนในท้องถิ่นว่า ของใดที่นำเข้าวัดหรือถวายแล้ว จะไม่นำมาใช้ที่บ้าน  ทำให้มีเครื่องทองเหลืองเหล่านี้ถูกเก็บไว้ในวัดเป็นจำนวนมาก  นอกจากนี้ยังมีเครื่องเคลือบ ที่เป็นภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวันของคนสมัยก่อน  ส่วนใหญ่จะเป็นพวก หม้อ หม้อหูหิ้ว  กาน้ำร้อน  จาน ช้อน ชาม ถาด และปิ่นโต   ที่มีทั้งพิมพ์ลายและไม่พิมพ์ลาย  เครื่องเคลือบเหล่านี้เป็นของชาวบ้านที่นำมาถวายวัดในโอกาสต่าง ๆ

          ส่วนเครื่องถ้วยชามโบราณในพิพิธภัณฑ์วัดปรางแก้ว มีทั้ง เครื่องถ้วยจีน  เครื่องลายคราม เครื่องเบญจรงค์  เครื่องถ้วยไทย และของชาติอื่น ๆ  ที่ไม่สามารถระบุสมัยและแหล่งผลิตได้เพราะมีมาคู่กับวัดเป็นเวลากว่า 50 ปี ส่วนใหญ่เป็นพวก ถ้วยชาม จาน  และชุดน้ำชา

          วัตถุจัดแสดงที่น่าสนใจอีกประเภทคือ เครื่องประดับที่ทำจากลูกปัดนานาชนิด มีทั้งลูกปัดที่มาจากชิ้นส่วนของสัตว์ เช่น กระดูกสัตว์ เปลือกหอย เขา งา ปะการัง เขี้ยว และฟัน   ลูกปัดหิน  ลูกปัดดินเผาและแก้วหลอม ลูกปัดแร่โลหะลูกปัดเหล่านี้นอกจากใช้เป็นเครื่องประดับแล้ว ชาวบ้านยังใช้เป็นเครื่องรางของขลังอีกด้วย ส่วนใหญ่ผู้มีจิตศรัทธานำมาถวายวัด  

ข้อมูลจาก:

รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการจัดทำข้อมูลพิพิธภัณฑ์ภาคใต้ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ สนับสนุนโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) 2564.

ชื่อผู้แต่ง:
ประเสริฐ รักษ์วงศ์
คำสำคัญ:
ไม่มีข้อมูล
คำสำคัญ: