ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเขวาสินรินทร์ เดิมใช้ชื่อศูนย์การเรียนรู้สิบธันวาทำมือ แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการคลังข้อมูลชุมชน ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จึงเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเขวาสินรินทร์ เพื่อนำเสนอเรื่องราวข้อมูลในชุมชนให้หลากหลายเพิ่มจากเดิมที่นำเสนอเรื่องผ้าไหมทอมืออย่างเดียว ตั้งขึ้นโดยนางคณิศร ชาวนา หัวหน้ากลุ่มผ้าไหมทอมือสิบธันวาทำมือ ที่รวมกลุ่มสมาชิกช่างทอผ้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่อยากทำให้เป็นมากกว่าร้านผ้าไหม อยากนำเสนอข้อมูล และจัดสาธิตการทำงานให้ผู้มาเยือนได้มาเรียนรู้กระบวนการผลิตผ้าไหมทอมือ ตลอดจนอยากให้นักเรียนนักศึกษาทั้งในและนอกพื้นที่ได้มาเรียนรู้งานขั้นตอน ประวัติของชุมชน ลักษณะสถานที่จัดแสดง จะแบ่งพื้นที่บ้าน ในห้องที่ใช้จำหน่ายผ้าไหมจัดแสดงผ้าไหมประเภทต่างๆ พื้นที่หน้าบ้านใต้ซุ้มหญ้าคาเป็นพื้นที่จัดแสดงความรู้ และพื้นที่จัดสาธิตขั้นตอนการทำผ้าไหม อุปกรณ์ในการใช้ทำผ้าไหมทอมือ
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเขวาสินรินทร์
ตำบลเขวาสินรินทร์ปรากฏร่องรอย การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของผู้คนตั้งแต่สมัยอารยธรรมโบราณ ต่อมามีพัฒนาการจนมาตั้งสถานะเป็นตำบลในราว พ.ศ. 2440 มีกลุ่มชาวบ้านอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาจากประเทศกัมพูชาเพื่อหาที่ทำกิน และได้นำวัฒนธรรมเข้ามาเผยแพร่ในชุมชนบ้านเขวาสินรินทร์ด้วย
ชาวบ้านในตำบลเขวาสินรินทร์มีอาชีพหลักคือทำการเกษตร แต่ด้วยสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้ในบางปีชาวบ้านไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ จึงได้นำภูมิปัญญาด้านการทอผ้าไหมซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมกลับมาทำเป็นอาชีพเสริมของคนในหมู่บ้าน ช่วยสร้างรายได้ควบคู่ไปกับการเกษตร ด้วยเอกลักษณ์ของลวดลายและการทอผ้าไหมในชุมชนเขวาสินรินทร์ที่จากเดิมทอเพื่อใช้ภายในครัวเรือน แต่เมื่อมีคนภายนอกเข้ามาเยี่ยมชมงานจึงเกิดการแลกเปลี่ยนและค้าขาย เกิดเป็นอาชีพและสร้างอัตลักษณ์ให้กับชุมชนที่มีคุณค่าควรได้รับการเผยแพร่ให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้สืบสานต่อไป
การทอผ้าในชุมชน ชุมชนเขวาสินรินทร์เป็นหมู่บ้านที่มีงานหัตถกรรมเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดจากบรรพบุรุษในอดีต โดยเริ่มแรกมีการทอผ้าขึ้นเพื่อใช้ในครัวเรือนและขายในหมู่บ้านเท่านั้น ลายผ้าที่ทอส่วนใหญ่คือลายผ้าโฮลและผ้ามัดหมี่ ผ้าที่ทอขึ้นได้มักนำไปใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มในชีวิตประจำวัน ตลอดจนใช้ในพิธีกรรมงานบวช งานแต่ง เพราะผ้าไหมถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในทุกพิธีกรรม และนิยมแต่งไปทำการเกษตร ทำไร่ ทำนา ทำสวน โดยในอดีตชาวบ้านจะลงมือทำกันเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ส่วนอุปกรณ์ในการทำผ้าไหม เช่น กี่ทอผ้า อัก ระหัด ผู้ชายในพื้นที่จะเป็นฝ่ายทำให้ โดยมีผู้หญิงเป็นคนดูแลเรื่องการทอ
จากผ้าทอพื้นบ้านสู่อาชีพ แต่เดิมเมื่อทอผ้าเสร็จ ชาวบ้านที่ค่อนข้างมีฐานะจะซื้อขายกันเอง หรือไม่ก็จะมีกลุ่มพ่อค้ามารับซื้อจากแต่ละบ้าน แล้วนำไปบรรทุกใส่เกวียนขายต่อในเมือง จนในปี พ.ศ. 2518 เริ่มมีผู้คนจากภายนอกเข้ามาซื้อผ้าไหมในหมู่บ้าน และมีการซื้อเพื่อไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง ทำให้จากเดิมที่ทอผ้าไว้ใช้ในครัวเรือนและแลกเปลี่ยนกันภายในชุมชน เริ่มเกิดการค้าขายกับคนภายนอก ทำให้คนจากหมู่บ้านอื่นเริ่มรู้จักผ้าทอของชุมชน ด้วยลักษณะเด่นของลวดลายและโทนสี ทำให้ผ้าทอของชุมชนเขวาสินรินทร์มีเอกลักษณ์ต่างจากที่อื่นๆ ในปี พ.ศ. 2530 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนชุมชนเขวาสินรินทร์เพื่อทอดพระเนตรผ้าไหม ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้ผ้าไหมของชุมชนเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย มีนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวเพื่อดูวิธีการและซื้อผ้าไหม ต่อมาชุมชนได้เข้าร่วมโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ทำให้คนในชุมชนมีรายได้จากการขายผ้าทอมากขึ้น
ผ้าทอกับเศรษฐกิจในชุมชนเขวาสินรินทร์ พัฒนาการเศรษฐกิจผ้าไหมของชุมชนเขวาสินรินทร์ ในระยะแรกการขายผ้าไหมเกิดขึ้นในตัวชุมชน โดยมีพ่อค้าคนกลางเข้ามาในพื้นที่เพื่อรับซื้อผ้าทอไปขายต่อในตัวเมือง และเมื่อมีกลุ่มคนจีนเข้ามาอยู่ มีเส้นทางรถไฟ ทำให้เกิดเป็นย่านการค้าตามทางรถไฟ มีการขนส่งผ้าทอไปขายยังกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่นๆ ยุครุ่งเรืองของเศรษฐกิจการทอผ้าคือช่วงที่มีโครงการสินค้า OTOP ของภาครัฐเข้ามา ทำให้เกิดการสร้างรายได้แก่คนในชุมชน สินค้าผ้าไหมและเครื่องเงินเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ชาวบ้านผู้หญิงวัยกลางคนจนถึงผู้สูงอายุจึงใช้เวลาว่างจากการทำงานมาทอผ้า เพื่อส่งให้กับร้านค้า OTOP และผู้สนใจรับซื้อ ในช่วงที่ผ่านมาทางอำเภอเขวาสินรินทร์ได้นำวัฒนธรรมการทอผ้า ตลอดจนหัตถกรรมเครื่องเงินมาส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในชุมชน โดยจัดงานเทศกาลชื่อว่า ‘นุ่งผ้าไหม ใส่ประเกือม เรือมกันตรึม’ เพื่อนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเชิดชูคุณค่า นับได้ว่าผ้าไหมเป็นสินค้าทางเศรษฐกิจและสินค้าทางวัฒนธรรมที่สร้างอัตลักษณ์ อาชีพ และรายได้ให้กับคนในชุมชนเรื่อยมา
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเขวาสินรินทร์ ตั้งอยู่ที่บ้านโชค ตำบลเขาสินรินทร์ ก่อตั้งโดยคุณคณิศร ชาวนา ผู้ที่เกิดและเติบโตในชุมชน อยู่ในครอบครัวที่สืบทอดและส่งต่อภูมิปัญญาการทอผ้าไหมจากรุ่นสู่รุ่น และเป็นหัวหน้ากลุ่มผ้าไหมทอมือสิบธันวาทำมือ ที่รวมกลุ่มสมาชิกช่างทอผ้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน เดิมใช้ชื่อศูนย์การเรียนรู้สิบธันวาทำมือ แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการคลังข้อมูลชุมชน ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เมื่อปี พ.ศ. 2563 จึงเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเขวาสินรินทร์
โดยนำเสนอเรื่องราวข้อมูลในชุมชนที่หลากหลาย เพิ่มจากเดิมที่นำเสนอเรื่องผ้าไหมทอมืออย่างเดียว ด้วยการเป็นหัวหน้ากลุ่มผ้าไหมทอมือสิบธันวาทำมือ ที่รวมกลุ่มสมาชิกช่างทอผ้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน จึงอยากทำให้กลุ่มผลิตผ้าไหมเป็นมากกว่าร้านผ้าไหม โดยต้องการนำเสนอข้อมูล และจัดสาธิตการทำงานให้ผู้มาเยือนได้มาเรียนรู้กระบวนการผลิตผ้าไหมทอมือ ตลอดจนต้องการให้นักเรียนนักศึกษาทั้งในและนอกพื้นที่ ได้มาเรียนรู้งานขั้นตอน ประวัติของชุมชน
การจัดแสดงจะแบ่งพื้นที่บ้าน ในห้องที่ใช้จำหน่ายผ้าไหมจัดแสดงผ้าไหมประเภทต่างๆ พื้นที่หน้าบ้านใต้ซุ้มหญ้าคาเป็นพื้นที่จัดแสดงความรู้ และพื้นที่จัดสาธิตขั้นตอนการทำผ้าไหม อุปกรณ์ในการใช้ทำผ้าไหมทอมือ
ข้อมูลจาก:
https://communityarchive.sac.or.th/community/KhwaoSinrin
คณิศร ชาวนา. แบบฟอร์มอัพเดทข้อมูลพิพิธภัณฑ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. วันที่ 7 มิถุนายน 2564.
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
มัดหมี่ ผ้าไหม อุปกรณ์การทอผ้า
พิพิธภัณฑ์-นิทรรศการ ร.ร.สิรินธร
จ. สุรินทร์
พิพิธภัณฑ์ชาวนา โรงเรียนบ้านถนนชัย
จ. สุรินทร์
ห้องภาพเมืองสุรินทร์
จ. สุรินทร์