ชื่อผู้แต่ง: ผาย หงษ์ทอง และคณะ | ปีที่พิมพ์:
ที่มา: เอกสารหมายเลข 1/2559 สภาวัฒนธรรมอำเภอรัตนบุรี
แหล่งค้นคว้า:
โดย: ศมส.
วันที่: 30 สิงหาคม 2561
จ. สุรินทร์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
ศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านจังหวัดสุรินทร์ กลุ่มชาติพันธุ์ลาว
ศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านจังหวัดสุรินทร์ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายลาวแห่งนี้ ตั้งอยู่ในอาคารที่ว่าการอำเภอรัตนบุรี (เดิม) ที่มีการเปลี่ยนการใช้ประโยชน์สถานที่ในหลายวาระ และส่วนหนึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอำเภอรัตนบุรีที่ดำเนินการโดยสภาวัฒนธรรมอำเภอรัตนบุรีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2542พ่อผาย หงษ์ทอง ดำรงตำแหน่งประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอรัตนบุรีคนปัจจุบันกล่าวถึงการตั้งเมืองรัตนบุรีที่มีประวัติย้อนถึง พ.ศ.2260 โดยการนำของ “เชียงสี” หรือพระศรีนครเตาท้าวเธอจากลาวนำคณะอพยพมายังบ้านกุดหวาน (อำเภอรัตนบุรีในปัจจุบัน) มีหลักฐานที่กล่าวถึงเชียงสีและคณะจับช้างเผือกที่แตกโรงมาจากกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2302และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระศรีนครเตาท้าวเธอในสองปีต่อมา จนเมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเมืองจากศรีนครเตาเป็น “รัตนบุรี” หรือเมื่อ พ.ศ. 2356ในช่วงหลายสิบปีนั้นมีการเปลี่ยนแปลงการกำหนดเขตปกครองหลายครั้ง จนถึง พ.ศ. 2458จึงขึ้นตรงต่อจังหวัดสุรินทร์
สำหรับอาคารที่ว่าการอำเภอหลังเดิม ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านนั้น มีการขออนุญาตใช้เป็นสำนักงานวัฒนธรรมอำเภอรัตนบุรี พ.ศ.2542และมีการบูรณะครั้งใหญ่ เมื่อ พ.ศ.2558ด้วยเงินสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ในอำเภอรัตนบุรี เพื่อใช้อาคารดังกล่าวเป็นอาคารสำนักงานวัฒนธรรมอำเภอและสำนักงานปกครองท้องถิ่นอำเภอรัตนบุรีในชั้นล่าง ส่วนชั้นบน เป็นส่วนจัดแสดงโบราณวัตถุสำคัญ ๆ และให้ชื่อว่า พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอำเภอรัตนบุรี ปีกหนึ่ง ส่วนอีกปีกหนึ่ง เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายลาว หรือจะเรียกโดยรวมว่า ศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านจังหวัดสุรินทร์ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายลาว ซึ่งเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อกลางปี 2560
พ่อผาย หงษ์ทอง นำชมส่วนต่าง ๆ ของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้าน สำหรับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นนั้น มีบริเวณที่ครอบคลุมมุขกลางของอาคารชั้นสอง และปีกทางซ้ายมือหากหันหน้าเข้าสู่อาคาร รูปแบบการจัดแสดงแบ่งได้2ส่วนใหญ่ ๆ นั่นคือส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัตถุทางศาสนาและวัตถุในชีวิตประจำวันและประเพณี การนำเสนอโบราณวัตถุที่มุขกลางของอาคารเป็นการจัดแสดงพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ตามวันเกิดและภาพถ่ายของเจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลและอำเภอสำคัญ ๆ หลายรูป
เครื่องปั้นดินเผา ส่วนใหญ่ขุดได้ในทุ่งนาบ้าง จากที่วัดเก่าแก่บ้าง เมื่อรื้อโบสถ์มา ผมทำประวัติเอาไว้อยู่ ...อันที่สองเป็นพระพุทธรูปไม้ ตั้งแต่ปี 2498 ท่านแกะสลักรูปไม้ ผมไม่มีโต๊ะหมู่ ของหลวงพ่อวัดจำปามณี บ้านเบิด ส่วนธรรมมาสน์ ได้มาจากบ้านดงเปือย ของทางวัดเขียนเอาไว้ กลองเพลได้มาจากวัดแจ้ง บ้านแก
โบราณวัตถุได้รับการบริจาคมาจากบุคคลและชุมชนต่างกรรมต่างวาระ นอกจากโบราณวัตถุ ยังมีข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านอีกจำนวนหนึ่ง ไซ สุ่น เครื่องมือในการทำนา ครก ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามของสภาวัฒนธรรมอำเภอรัตนบุรีที่ต้องการรักษาเอาไว้เพื่อเป็นมรดกสืบสานให้กับชนรุ่นหลัง
จากส่วนของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอำเภอรัตนบุรี เข้าสู่นิทรรศการวิถีชีวิตทางปีกด้านขวาชั้นบนของอาคาร เมื่อหันหน้าเข้าสู่อาคาร พ่อผายให้คำอธิบายว่า การริเริ่มในการจัดสร้างนิทรรศการบอกเล่าวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในจังหวัดสุรินทร์เกิดจากการริเริ่มของสภาวัฒนธรรมอำเภอรัตนบุรีแห่งนี้ แต่เมื่อเสนอเรื่องไปยังจังหวัด มีความเห็นพ้องต้องกันให้กล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายอื่น ๆ นอกเหนือจากเชื้อสายลาว จึงกลางเป็นโครงการสุรินทร์ถิ่นวัฒนธรรม 3ชนเผ่า และคงเน้นการนำเสนอวัฒนธรรมจากแกนหลัก 8เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย 1) ประเพณี 2) ศิลปะพื้นถิ่น 3) อาหาร 4) การแต่งกาย 5) ภาษา วรรณกรรมพื้นบ้าน 6) อาชีพ 7) ความเชื่อ พิธีกรรม และ 8) ที่อยู่อาศัย
เมื่อเข้าสู่พื้นที่นิทรรศการ เนื้อหา สิ่งจำลอง หุ่นจัดแสดงและป้ายคำอธิบายตั้งเรียงตามผนังสามด้าน จากทางซ้ายมือของผู้ชม เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับวิถีการดำเนินชีวิตและอาหารการกิน บ้านคงเป็นสิ่งจำลองสำคัญในการถ่ายทอดความเป็นพื้นถิ่นลาว ตัวบ้านทำจากไม้ไผ่สาน หน้าต่างบานฝากระทุ้งหรือ “ป่องเอี่ยม” และหลังคาหญ้าแฝก พ่อผายให้คำอธิบายว่า เรือนของคนลาวนั้นเป็นเรือนสามห้อง ห้องเปิงที่เป็นห้องนอนของลูกชาย ไม่มีการกั้นห้อง ห้องพ่อมแม่อาจกั้นเป็นห้องหรือปล่อยโล่ง ส่วนห้องนอนลูกสาว ที่เรียกว่า “ห้องส่วม” มีประตูกั้นมิดชิด หากมีลูกเขยจะให้นอนในห้องนี้ ส่วนชั้นล่างเป็นบริเวณเลี้ยงสัตว์ของครอบครัว นอกจากนี้ ยังมีส่วนประกอบอื่น ๆ เรียกแตกต่างตามการใช้สอย เกยที่ใช้รับแขกหรือรับประทานอาหาร เรือนแฝดลดพื้นจากเรือนนอน เรือนโซ่งเรือนนอนใหญ่ เรือนไฟ หรือเป็นเรือนใช้ทำครัว และชานแดด ส่วนอาหารก็จัดแสดงไว้ด้านหน้าของเรือนจำลองดังกล่าว จัดเป็นสำรับคาวและหวาน
ถัดจากส่วนนั้น เป็นการนำเสนอเกี่ยวกับประเพณีบุญผะเหวด “เทศน์มหาชาติ เป็นรุ่นใหม่หน่อย ธรรมมาสน์จากวัดใต้ เทศน์ในเดือนสี่ บุญผะเหวด เดือนห้า สงกรานต์ เดือนหก ผ้าผะเหวดเหมือนทางภาคเหนือ มีลักษณะคล้ายตุง” ธรรมาสน์ตั้งอยู่เป็นประธานแต่ภาพผะเหวดบอกเล่าชาดกนั้นเป็นภาพพิมพ์ที่ใส่กรอบจัดเรียงอยู่เหนือธรรมาสน์ จากเรื่องราวของงานบุญ ส่วนต่อไปบอกเล่าถึงงานบุญบั้งไฟที่จัดขึ้นในเดือนหก
บรรพบุรุษเชื่อว่า บนสวรรค์ มีเทพบุตร คนอีสานเรียก พญาแถน ดลบันดาลให้ฝนตกตามฤดูกาล พอถึงเดือนหก สิ่งที่เอาไปบูชาพญาแถน คือไฟ แต่คนเราไม่สามารถเอาไฟไปบูชาข้างบนนั้นได้ เลยทำบั้งไฟไปบูชา ความเชื่อของคนอีสานอีกเรื่องหนึ่ง เป็นตำนานท้าวผาแดงนาไอ่ อันนั้นเป็นการจุดบั้งไฟแข่งกัน หากใครจุดได้สูง คนนั้นได้นางไอ่ไปเป็นภรรยา
พ่อผายยังได้กล่าวถึงกลองยาวที่จัดแสดงไว้ในส่วนพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในอีกปีกด้านหนึ่งของอาคารว่าใช้ในเทศกาลแห่ในบุญบั้งไฟ โดยเวลาแห่ต้องใส่เกวียนที่อยู่ข้างกันนั้น การนำเสนอเนื้อหาในส่วนของบุญบั้งไฟมีตัวอย่างของบั้งไฟที่คล้ายกับพญานาคประดับอยู่ด้านบนผนัง ส่วนบริเวณอื่น ๆ เป็นภาพการประกอบบั้งไฟและงานบุญต่าง ๆ
ส่วนถัดไปเป็นการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการแต่งกาย พ่อผายให้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า “เครื่องแต่งกาย ของลาวรัตนบุรี เป็นลักษณะอย่างนี้ ผ้าถุง โสร่ง การนุ่งห่มของรัตนบุรีจะนุ่งผ้าถุง โสร่งไปถึงเกือบถึงตาตุ่ม แต่ของลาวเวียงจันทน์ หลวงพระบาง แขวงอัตตะปือ นุ่งครึ่งแข้ง อันนี้ (ลายผ้า) เป็นสัญลักษณ์ของรัตนบุรี เรียกว่าผ้าไหมลายรัตนบุรี เพิ่งมาทอในสมัยที่ผมมาเป็นประธานสภาวัฒนธรรม เป็นการออกแบบใหม่ ตรงนี้เป็นลายพื้นบ้าน เอกลักษณ์เรียกลายดอกแก้ว อันนี้เรียกลายนาคน้อย (พญานาค) แล้วก็มีลายตะขอ ทำมาจากขอที่ใช้ตักน้ำแต่ก่อน ต้องมีบ่อดินสำหรับน้ำใช้ แล้วเอาตะขอตักลงไป” ส่วนการนำเสนอใช้หุ่นจำลองแสดงการแต่งกายชายหญิงสองคู่
ถัดไปนั้นเป็นส่วนว่าด้วยพิธีการแต่งงานหุ่นจำลองชายหญิง และคำอธิบายถึงขั้นตอนต่าง ๆ ในการแต่งงาน ไม่ว่าจะเป็นการสู่ขอที่ต้องเตรียมขันใส่หมากพลู หมากจีบ เงิน3บาท หรือที่เรียกว่าการโอมสาม จากนั้น เป็นการแห่ขันหมาก ประกอบด้วยผู้เฒ่า เจ้าบ่าว พาขวัญ ขันหมากพลู ขันเหล้ายา ญาติพี่น้อง และขบวนดนตรีพื้นบ้าน และตามด้วยการสู่ขวัญ การขอขมาญาติผู้ใหญ่ การปูที่นอนและส่งตัวเข้าหอ หุ่นจัดแสดงหนุ่มสาวที่เป็นตัวแทนเจ้าบ่าวเจ้าสาวสวมเครื่องแต่งกาย ชายนุ่งโสร่งเสื้อแขนยาวคกระดุมผ่าหน้า มีผ้าขาวม้าคาดเอวและพาดบ่า ส่วนหญิงนุ่งผ้าถุงเสื้อคอตั้งแขนยาวผ้าเบี่ยงและเครื่องประดับ
จากนั้น เป็นกุ้มข้าวใหญ่ที่ปรากฏในการจัดแสดงเป็นชั้นคล้ายฉัตรเรียงซ้อนกัน โดยมีรวงข้าวประดับโดยรอบแต่ละชั้น พ่อผายอธิบายว่ากุ้มข้าวใหญ่นี้ดัดแปลงมาจากสกลนคร พิธีจัดขึ้นในเดือนสองหรือเดือนยี่ ราวเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ พอเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ก็เอาข้าวมารวมกันที่ลาน แต่ก่อนไม่มีรถเกี่ยว ก็เอาพื้นที่นาเป็นลานตากข้าว รวมที่ลาน นวดข้าว เอาไม้คานฟาด หากปีใดอุดมสมบูรณ์ มีการนิมนต์พระไปเจริญพระพุทธมนต์สู่ขวัญข้าว จึงเรียกว่า “กุ้มข้าวใหญ่” แล้วแต่เจ้าภาพหรือเจ้าของข้าว คนไหนมีกำลังก็ทำ
ส่วนถัดไปเป็นภาพจำนวนภาพแสดงสถานที่สำคัญรูปเคารพ ศาลเจ้า ของพระศรีนครเตาท้าวเธอ ซึ่งเป็นผู้นำของชุมชนมาตั้งถิ่นฐานในรัตนบุรีนี้ ส่วนป้ายคำอธิบายด้านหน้าเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับภาษาและวรรณกรรม เนื้อหาเป็นการนำเสนอคำต่าง ๆ ของบทสนทนาในชีวิตประจำวันเทียบระหว่างภาษาถิ่นอีสานและภาษากลาง ถัดจากบริเวณดังกล่าว ยังเชื่อมโยงกับการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับบายศรีสู่ขวัญ บายศรีสามชั้นจัดเรียงไว้เป็นศูนย์กลาง และมีภาพ-คำอธิบายกล่าวถึงพิธีบายศรีทำในหลายวาระ ทั้งมูลเหตุดีและไม่ดี โดยมีพ่อพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธี
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาชีพนำเสนอการทอเสื่อกก จัดแสดงกี่ทอเสื่อและวัสดุ “กก” ที่ใช้ในการทอ เสื่อกกนับเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญหนึ่งของอำเภอรัตนบุรี เสื่อหลากหลายลวดลายจัดเรียงไว้ข้างหนึ่งของกี่ และด้านหน้าเป็นป้ายคำบรรยายถึงขั้นตอนในการผลิต นิทรรศการในส่วนสุดท้ายกล่าวถึงการเซิ้งบั้งไฟ โดยมีการเซิ้งใน4 วาระแตกต่างกัน ได้แก่ เซิ้งบอกบุญหรือการเตรียมงาน เซิ้งบั้งไฟในวันงาน เซิ้งบั้งไฟในการจุดบั้งไฟ และเซิ้งหลังจุดบั้งไฟ ประกอบด้วยการนำเสนอหุ่นจำลองของตัวแทนผู้หญิงที่เซิ้งเป็นซิ้นสั้น เสื้อกระบอกแขนยาวผ่าหน้าและผ้าเบี้ยง ประกอบภาพบรรยายกาศเซิ้งบั้งไฟในหลาย ๆ วาระ
“นักเรียนนักศึกษาจากโรงเรียนประถม ทั้งในและนอกพื้นที่ จากอำเภอสนม จากชุมชน พวกนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิค โรงเรียนมัธยม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักศึกษา กศน. ได้ประโยชน์มากกว่าเพื่อน เพราะว่าแต่ละปี พอเขารับนักศึกษาใหม่ เขาก็ให้ผมไปบรรยายประเพณีสิบสองเดือน ประวัติความเป็นมาของเมืองรัตนบุรี ประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ พอผมบรรยายเสร็จ ปีนี้ ผมได้นักศึกษาจาก กศน. สองร้อยกว่าคน (...) สำหรับวันข้างหน้า ต้องการปรับวัสดุการจัดแสดงเพราะในปัจจุบันเป็นหญ้าคาที่ใช้เป็นซุ้มทางเข้านิทรรศการ ก็จะเป็นอันตราย อาจเกิดเหตุอัคคีภัยได้ และการอบรมมัคคุเทศก์ยังคงทำต่อเนื่องกับสถาบันการศึกษาหลายแห่งในพื้นที่ คงเป็นกลุ่มคนดังกล่าวนี้ที่จะช่วยสืบสานวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ได้รับการบอกเล่าต่อ ๆ ไป” พ่อผายกล่าวในช่วงท้าย
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ เขียน
ข้อมูลจาก: การสำรวจภาคสนามวันที่ 27 เมษายน 2561
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
ชาติพันธุ์ ลาว สุรินทร์ ขวดน้ำมะเน็ด
พิพิธภัณฑ์ผ้าไหม
จ. สุรินทร์
ศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านจังหวัดสุรินทร์ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายกูย
จ. สุรินทร์
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเขวาสินรินทร์
จ. สุรินทร์