ศูนย์คชศึกษา


ที่อยู่:
ศูนย์คชศึกษา หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์
โทรศัพท์:
0-4451-7461,0-4414-5050
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 8.00 - 15.00 น.
ค่าเข้าชม:
ชาวไทยคนละ 50 บาท นักเรียน 10 บาท นักศึกษา 20 บาท ชาวต่างประเทศ 100 บาท
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2538
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

รีวิวของศูนย์คชศึกษา

ภาพคุ้นตาเวลาเข้าเขตชนบท  เราจะเห็นทุ่งนาเขียวขจียามหน้าฝน  ในยามแล้งเห็นตอซังข้างสีเหลืองน้ำตาลหลังการเก็บเกี่ยว   ภาพของกองฟางกับเศษฟาง    สำหรับบางแห่งที่น้ำดี หญ้าสีเขียวที่ขึ้นมา   มีวัวควายของชาวบ้านยืนเล็มหญ้า  นั่นคือภาพของทุ่งนาทั่วไป  แต่ที่นี่...หมู่บ้านช้าง  บ้านตากลาง  จังหวัดสุรินทร์  ช้างตัวโตๆ ยืนเล็มหญ้าอยู่กลางทุ่งนา    เมื่อเข้าใกล้บ้านคน  ช้างยืนอยู่ในโรงเลี้ยงช้างซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน   ในวันสำคัญทางศาสนาอย่างงานบวช  ในวันฤกษ์ยามดี  ขบวนช้างหลายสิบเชือกเดินเรียงกันในงานบวชนาค
 
“ทำไมคนสุรินทร์จึงเลี้ยงช้างไม่ได้” ประโยคที่แสนจะบาดใจคนสุรินทร์  และติดอยู่ในความรู้สึกของคุณสมุน  มีแก้ว  ชาวสุรินทร์คนหนึ่ง  คุณสมุนเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์  ที่ถูกส่งมาช่วยงานที่ศูนย์คชศึกษา  คุณสมุนเล่าว่าที่นี่มีโครงการ “นำช้างคืนถิ่นเพื่อพัฒนาสุรินทร์บ้านเกิด”  โครงการนี้ทำให้ควาญช้างไม่ต้องนำช้างออกไปเดินเร่ร่อน  แล้วเกิดปัญหาช้างถูกรถชน  ตามโครงการนี้ควาญช้างจะได้เงินเดือนละ 8000 บาทต่อหนึ่งเชือก โดยจะแบ่งเป็นของควาญช้าง 4000 บาท  อีก  4000 บาทเป็นของช้าง  คุณสมุนบอกว่าสำหรับคนที่ไม่มีหนี้สิน   เงินจำนวนนี้ถือเป็นการช่วยอุดหนุนและควาญช้างพอจะอยู่ได้   เพราะว่าบางคนเขาปลูกหญ้าเอง  โดยปกติวิถีชีวิตของคนที่นี่  เขาจะเลี้ยงช้างกันเหมือนที่คนอื่นเขาเลี้ยงวัวควาย  อาหารช้างก็จะมีพวกสับปะรด  อ้อย  กล้วย  ต้นกล้วย  หญ้า  ในเรื่องอาหารช้าง  นอกจากศูนย์คชศึกษาจะให้เงินเดือนควาญช้างแล้วยังสนับสนุนพวกอาหารช้างด้วย  

อาหารเหล่านี้มักจะไปซื้อมาจากหมู่บ้านใกล้เคียงที่ไม่มีช้าง  บางทีก็ไม่ต้องซื้อ  เขาให้มาฟรี  การเข้าร่วมโครงการนี้  ควาญช้างยังมีรายได้พิเศษจากการนำช้างไปรับจ้างในการบวชนาค   ซึ่งจะต้องส่งใบลา  แล้วทางศูนย์จะอนุญาตให้ไป  นอกจากนี้ยังจะมีรายได้จากการนำช้างไปเป็นแท็กซี่ให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในศูนย์  ซึ่งควาญช้างจะได้รับยี่สิบเปอร์เซ็นต์ต่อหนึ่งรอบ
 
สำหรับพวกที่ยังนำช้างออกไปเร่ร่อน  คุณสมุนตั้งข้อสังเกตว่า  คนกลุ่มนี้จะมีหนี้สินมาก  ในการนำช้างออกไปเร่ร่อนก็จะไปกับญาติพี่น้อง  เฉลี่ยเดือนหนึ่งจะมีรายได้ประมาณเดือนละ 40000 บาท  จากการนำอ้อยไปหั่นผ่าซีกขายถุงละ 20 บาท
 
ในเรื่องการบริหารจัดการ  คุณกฤตพล  ศาลางาม  ผู้จัดการศูนย์คชศึกษา  ได้บอกว่าศูนย์คชศึกษานี้ตั้งขึ้นมาในปี 2538  ส่วนโครงการนี้ได้งบประมาณมาจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์  ซึ่งต่อมาก็มีองค์การสวนสัตว์เข้ามาร่วมด้วย  ในส่วนของตัวอาคาร  ได้งบซีอีโอในช่วงปี 2549  โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ได้จัดสรรงบประมาณมาให้   ทั้งนี้ในเรื่องการบริหารจัดการส่วนใหญ่จะอยู่ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์
 
การมีศูนย์คชศึกษาและมีโครงการนี้  ทำให้ช้างได้กลับมาอยู่ในถิ่นเดิม  นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้ประโยชน์จากการได้ขายสินค้าให้กับนักท่องเที่ยว  เพราะศูนย์คชศึกษาจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์  คนที่มาเยี่ยมชมที่นี่จะได้ชมการแสดงช้างทุกวัน  วันละ 2 รอบ  รอบเช้าเวลา  10.00 น. รอบบ่ายเวลา 14.00 น. ถ้าใครอยากนั่งช้าง  ที่นี่มีแท็กซี่ช้างให้นั่งชมรอบศูนย์  โดยซื้อตั๋วได้ที่สำนักงาน  ในช่วงที่น้ำลด   ตรงบริเวณที่แม่น้ำมูลและแม่น้ำชีไหลมาบรรจบกัน  ที่เรียกว่า “วังทะลุ” น้ำในแม่น้ำจะไม่ลึก  นักท่องเที่ยวสามารถไปดูช้างอาบน้ำได้ พร้อมกับชมธรรมชาติที่สวยงามร่มรื่น  กำหนดเวลาช้างอาบน้ำประมาณบ่ายสามโมงเย็น  และทางด้านทิศตะวันตกของศูนย์คชศึกษายังมีวัดป่าที่ทำเป็นสุสานช้าง  โดยพระสงฆ์จะนำกระดูกช้างมาทำบุญและเป็นสถานที่เก็บรวบรวมโครงกระดูกช้าง  พร้อมกับทำประวัติว่าช้างเชือกนี้ใครเป็นเจ้าของ
 
ในการให้ความรู้เกี่ยวกับช้าง  ภายในศูนย์มีพิพิธภัณฑ์ที่เป็นอาคารชั้นเดียว  โดยอยู่ถัดไปทางด้านหลังของอาคารสำนักงาน  ที่นี่จัดแสดงโครงกระดูกช้างทั้งตัว  และมีแยกส่วนเป็นกะโหลกช้าง  กรามช้าง   ใกล้กันมีเครื่องมือต่างๆที่หมอช้างใช้ในการจับช้างและบังคับช้าง  รวมไปถึงที่นั่งบนหลังช้าง    เครื่องมือต่างๆ ได้แก่  เชือกปะกำ  ทามคอ  สายลำโยง  สะแนงเกล  งก  โดยเชือกปะกำจะทำมาจากหนังควาย  ฟั่นเป็นเกลียว  ซึ่งมีความเหนียวและทนทานมาก  ไว้สำหรับผูกมัดช้าง  ทามคอเป็นเชือกหนังมีลักษณะและขนาดเดียวกับเชือกปะกำ  แต่ตามช่องเชือกจะมีไม้เสี้ยมเป็นหนามแหลมติดไว้  ทามคอทำเป็นเงื่อนเลื่อนได้สำหรับผูกคอช้างป่า  ทำให้ช้างหยุดดิ้น  สายลำโยง คือเชือกล่ามช้าง  ทำด้วยหนัง  ปลายข้างหนึ่งต่อจากเชือกทามคอ  ส่วนอีกข้างหนึ่งนำไปผูกกับต้นไม้  สะแนงเกล  ทำจากเขาควาย  ใช้เป่าเป็นสัญญาณในการออกเดินทางไปจับช้างป่า  งก  เป็นไม้รูปคล้ายค้อน  แต่ตรงกลางหัวค้อนทำเป็นปุ่มแหลม  สำหรับควาญช้างใช้ตีท้ายช้างเมื่อต้องการให้ช้างวิ่ง
 
นอกจากนี้ยังจัดแสดงภาพของสมเด็จพระเทพฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เสด็จพระราชดำเนินและทอดพระเนตรนิทรรศการต่างๆ เกี่ยวกับช้าง  เมื่อวันที่  10  พฤศจิกายน พ.ศ.2550    และยังมีส่วนของนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการช้าง  พิธีการต่างๆเกี่ยวกับช้าง  ภาพวิธีการจับช้าง  ภาพความผูกพันของชาวกูยกับช้าง  
 
ผู้ที่มาเยี่ยมชมที่นี่อีกสถานที่สำคัญที่ควรไปศึกษาเรียนรู้คือ  ศาลปะกำ  โดยที่นี่ทางศูนย์ได้ให้หมอช้างมานั่งประจำอยู่ที่นี่  เพื่อสาธิตและให้ความรู้กับคนมาเยี่ยมชมว่าชาวกูยที่อยู่กับช้างมาตั้งแต่โบราณ  พวกเขาประกอบพิธีกรรมอะไรบ้าง  ตามความเชื่อของชาวกูย  ศาลปะกำคือสถานที่สถิตของวิญญาณบรรพบุรุษและผีปะกำ  ศาลนี้นิยมสร้างไว้ในชุมชน  ลักษณะเป็นเรือนไม้มีเสา 4 ต้น  หันหน้าไปทางทิศเหนือ  ศาลปะกำใช้เป็นที่เก็บรักษาหนังปะกำ  และอุปกรณ์ในการคล้องช้าง  ชาวกูยเชื่อกันว่า  หากทำกิจการใด  ต้องทำพิธีเซ่นไหว้  เพื่อบอกกล่าวและขอพร  เพื่อให้กิจการนั้นประสบความสำเร็จ
 
ในการมาเยี่ยมชมศูนย์คชศึกษา   นอกจากได้มาชมความน่ารักของบรรดาช้างทั้งตัวโต  และลูกช้าง  ยังได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านคนเลี้ยงช้าง  ชาวกูยที่อยู่กับช้างมาตั้งแต่บรรพบุรุษ  ความผูกพันที่ต่างเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของกันและกัน
 
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน
ฐิติเทพ  สุขุมาลจันทร์/ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่  28  เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2552
ชื่อผู้แต่ง:
-

ข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง