ศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านจังหวัดสุรินทร์ กลุ่มชาติพันธุ์เขมร


ที่อยู่:
ข้างศูนย์ย์โอทอปอำเภอเขวาสินรินทร์ อ.เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์ 32000
โทรศัพท์:
086 262 8299
วันและเวลาทำการ:
วันและเวลาราชการ (โปรดติดต่อล่วงหน้า)
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2560
ของเด่น:
หุ่นจำลองการละเล่นกระโน้มติงตอง, หุ่นจำลองการแต่งกายเอกลักษณ์เขมร, การจัดแสดงการผ้าทอและตัวอย่างชิ้นผ้าลวดลายเอกลักษณ์เขมร
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

ศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านจังหวัดสุรินทร์ กลุ่มชาติพันธ...

โดย:

วันที่: 08 ตุลาคม 2563

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านจังหวัดสุรินทร์ กลุ่มชาติพันธุ์เขมร

ในเอกสารโครงการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านจังหวัดสุรินทร์ กล่าวถึง นโยบายของรัฐบาลในการผลักดันให้มีการนำทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยมาใช้ในการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของประเทศ รวมถึงมุมมองของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์ ที่เห็นว่า “ปัจจุบันมรดกทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิต ภูมิปัญญาพื้นบ้านอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของจังหวัดสุรินทร์เหล่านี้เริ่มสูญหายไปตามกาลเวลา อันเนื่องมาจากกระแสโลกาภิวัตน์”

จากแนวคิดดังกล่าว สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์กำหนดให้มี “การจัดทำนิทรรศการ โดยจำลองวิถีชีวิตของกลุ่มชนพื้นเมืองของจังหวัดสุรินทร์ 3 ชนเผ่า ในวิถีวัฒนธรรมไทย 8 สาขา ประกอบด้วย 1) ประเพณี 2) ศิลปะพื้นถิ่น 3) อาหาร 4) การแต่งกาย 5) ภาษา วรรณกรรมพื้นบ้าน 6) อาชีพ 7) ความเชื่อ พิธีกรรม และ 8) ที่อยู่อาศัย”

ศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านจังหวัดสุรินทร์ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายเขมร อาศัยการดัดแปลงศาลาที่ตั้งอยู่ข้างกลุ่มอาคารโอท็อปของอำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ โดยการใช้ไม้อัดตีเป็นผนังทั้งสี่ด้าน และมีประตูสามด้าน เมื่อผู้ชมเดินเข้าสู่อาคารภายใน จะเห็นหูกทอผ้าอยู่ศูนย์กลางของห้องนิทรรศการ ฉากหลังเป็นตัวอย่างชิ้นผ้าพร้อมป้ายชื่อเรียกของลวดลาย ให้ผู้สนใจได้เรียนรู้ เช่น ผ้าโฮล  ผ้าซิ่นกะไว ผ้ามัดหมี่ ผ้าอัมปรม ผ้าอันลูนซีม ผ้าสมอ ผ้าหมี่ขอ ผ้าสาคู  ผ้าละเบิก ผ้าพริกไทย จากนั้น เนื้อหาในส่วนอื่น ๆ จัดเรียงชิดตามมุมต่าง ๆ

มุมทางซ้ายมือของผู้ชมจากประตูทางเข้าเป็นการนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับอาหารคาวและอาหารหวาน ในลักษณะของอาหารจำลอง อาหารคาวนำเสนอ แก็บบ็อปหรือกบยัดไส้ สะลอเจ๊กหรือแกงกล้วย ละแวกะดามหรือแกงปู เป็นต้น ส่วนอาหารหวานได้แก่ ขนมโกร็จหรือขนมส้ม ขนมกันเตรียม และขนมโกรด ใกล้กับจุดจัดแสดงวัฒนธรรมอาหาร นำเสนอเกี่ยวกับการละเล่นพื้นบ้านที่เรียกว่า เรือมกระโน้มติงตอง หรือรำตั๊กแตนตำข้าว  โดยมีข้อมูลประกอบว่า การแสดงดังกล่าวเริ่มต้นจากนายเต็น ตระการดี และนายเหือน ตรงศูนย์ดี โดยนุ่งเพียงโสร่งและเสื้อแขนสั้นหรือยาว และมีพัฒนาการกลายเป็นชุดแต่งกายเลียนแบบตั๊กแตน ดังที่ปรากฏในหุ่นจัดแสดง การละเล่นดังกล่าวนั้นจะมีบทร้องที่สอดคล้องกับงานหลัก เช่นงานประเพณีกฐินหรืองานบวชนาค

จากนั้น ไปสู่มุมจัดแสดงซ้ายมือจากทางเข้าชั้นใน เป็นการแบกเล่าเรื่องวรรณกรรมพื้นบ้าน เรื่อง “เนียง ดีอฮ ทม” หรือพระนางนมใหญ่ ซึ่งเป็นตำนานเกี่ยวกับปราสาทภูมิโปน อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ กล่าวถึงกษัตริย์ขอมที่มีพระราชธิดา “พระนางศรีจันทร์” หรือ เนียง ด็อฮ ทม แต่คนทั่วไปมักเรียกนางว่า พระนางนมใหญ่ แต่เป็นความรักที่ไม่สมหวัง การนำเสนอในจุดจัดแสดงดังกล่าวปรากฏหุ่นจำลองนุ่งผ้า ทรงสร้อยสังวาล และสวมเครื่องศีรษะคล้ายกับนางอัปษรที่จำหลักอยู่ในปราสาทเขมร อันหมายถึงตัวแทนของพระนางศรีจันทร์ที่ในปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของการจัดแสดงตำนานในงานสำคัญ ๆ ของจังหวัดสุรินทร์

ผนังด้านเดียวกับตัวอย่างลายผ้าพื้นเมืองที่เป็นพื้นหลังให้กับหูกทอผ้าที่เป็นประธานของห้องจัดแสดง ประกอบด้วยเนื้อหาอีก 2 ส่วน ได้แก่ประเพณีแซนการ์ หรือพิธีการแต่งงาน เน้นการใช้หุ่นจำลองคู่บ่าวสาว เจ้าบ่าวสวมโสร่งและเสื้อแขนยาว โดยมีผ้าพาดคาดบ่าทั้งสองข้าง ส่วนเจ้าสาวนุ่งซิ่นโฮลและเสื้อแขนยาว มีผ้าเบียงสีขาวนวล พร้อมปะเกือมหรือสร้อยเงินแบบเขมรเป็นเครื่องประดับ ด้านข้างเป็น “บายสะรัย” หรือ บายศรีเบิกโลก แม่ประนอม ขาวงาม กล่าวถึงความหมายของบายศรีดังกล่าว

บายศรี ต้องมีปูน หมาก เหมือน มีชาย มีหญิง ทิ้งกันไม่ได้ ไม่ให้คนแตกร้าว อยู่กันฉันสามีภรรยา บายศรีแบบนี้ เป็นการบูรณาการเข้าหากัน เทวดาที่อยู่ด้านนอก หากจะอัญเชิญเขามาต้องมีบายศรี เขาถึงมา หากไม่มี เขาไม่มา เพราะฉะนั้นบายศรีเปิดโลก เทวดาฟ้าดินอนุญาตให้วิญญาณบรรพบุรุษ มาร่วมเป็นสักขีพยาน บายศรีมีข้าวเปลือกที่โปรยไปแล้วงอกเงย เหมือนถั่วงา โปรยที่ไหนงอกเงย ให้ทำเหมือนข้าวที่มีแรง มีจิตวิญญาณ ไปหว่านที่ไหนก็งอกเงย นี้ มีไก่ ขนมนมเนย มีธูป มีเทียน มีเหล้าขาว และมีการตั้งปตวล คล้ายหิ้งพระ ที่วางของสำหรับเทวดาฟ้าดิน ใช้ในงานมงคล

จากนั้น เป็นชุดแต่งกายพื้นเมืองในหุ่นจำลองชายและหญิง และกล่าวถึงไว้ว่า “ผู้หญิงจะนุ่งผ้าถึง ซึ่งเป็นผ้าไหม เช่น ผ้าโฮล ผ้าอัมปรม ผ้าอัลลูเซียม ส่วนชายจะรุ่งโสร่ง สำหรับเสื้อ ผู้หญิงใส่เสื้อแขนกระบอก ผู้ชายใส่เสื้อคอกลม เครื่องประดับเป็นเครื่องเงินที่เรียกว่า ปะเกือม เป็นส่วนประกอบ” จากนั้น มุมทางขวามือของผู้ชมจากทางเข้านิทรรศการด้านใน เป็นการนำเสนอเกี่ยวกับประเพณีแซนโฎนตา เป็นประเพณีที่ประกอบขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 ลูกหลานที่อยู่แดนไกลจะเดินทางกลับบ้านเพื่อเซ่นไหว้บรรพบุรุษ มีการจัดทำข้าวต้ม ขนม ในเย็นวันดังกล่าว รุ่งขึ้น 15 ค่ำ จึงนำสิ่งที่ตระเตรียมไว้ไปทำบุญที่วัด เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับวิญญาณบรรพบุรุษ ช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นช่วงเวลาที่ยมโลกเปิดให้กลับมาเยี่ยมญาติ จึงเป็นโอกาสของการทำพิธีแซนโฎนตาในการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ

สุดท้ายเป็นการจัดแสดงเกี่ยวกับศิลปะพื้นถิ่นและการแสดง ทางขวามือของประตูทางเข้าสู่นิทรรศการ ที่มีคำอธิบายถึงการละเล่นที่เรียกว่า เรือม หรือการรำ และอันเร หรือสาก เรือมอัมเร จึงหมายถึงการรำสาก โดยในอดีตเป็นโอกาสที่หนุ่มสาวจะได้ใกล้ชิดกันในช่วงเวลาของการหยุดพักผ่อน หรือที่เรียกกันว่า แคแจค (เดือนห้า) จะหยุดทำงานในช่วง วันขึ้น 1ค่ำเดือน 5เป็นวันขึ้นปีใหม่ เป็นเวลาสามวัน จากนั้น เป็นการหยุดช่วงที่สอง เป็นเวลา 7วัน ในช่วงแรม 1 ค่ำถึงแรม 7 ค่ำ และช่วงเวลาดังกล่าวนี้เองเป็นการละเล่นสนุกสนานด้วยสากตำข้าว มีการจัดแสดงหุ่นจำลองสวมใส่เครื่องแต่งกายพื้นเมือง โดยชายนุ่งโจงกระเบนและสวมเสื้อคอกลมแขนสั้น  ผ้าขาวม้าคาดเอวและพาดไหล่  ส่วนหญิงนุ่งผ้าไหมพื้นเมือง เรียกว่า "ซัมป็วตโฮล" สวมเสื้อแขนกระบอกมีสไบพาดไหล่มามัดรวบไว้ที่ด้านข้าง สวมเครื่องประดับเงิน ปัจจุบันการละเล่นเรือมอันเรส่วนใหญ่เป็นการเตรียมเพื่อจัดแสดงต้อนรับนักท่องเที่ยว หรือต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง แค่คงมีการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรม ศิลปะการแสดงจะต้องมีดนตรีเคียงคู่ ฉะนั้น ชุดการจัดแสดงสุดท้ายเป็นเครื่องดนตรีในวงกันตรึม ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีได้แก่ ตรัว(ซอกันตรึม) สะกวร(กลองกันตรึม) เป็ย(ปี่อ้อ) ฉิ่ง ฉาบเล็ก กรับ และเสียงร้องเป็นภาษาเขมรเหนือ โดยในยุคหลังจะมีเครื่องดนตรีอีเลคโทรนิก วงกันตรึมนิยมเล่นในงานมงคลเช่น งานแต่งงาน ใบบางพื้นที่นิยมใช้ในงานศพ

ประนอม ขาวงาม กล่าวในตอนท้ายของการนำชม ในเวลานี้ มีกลุ่มนักเรียน นักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ ในท้องถิ่นเข้ามาชมเป็นระยะ แต่กลุ่มมัคคุเทศก์ที่เคยเข้าร่วมอบรมของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์ เยาวชนดังกล่าวไม่ได้เข้าร่วมทำหน้าที่นัก เพราะข้อจำกัดในเชิงเศรษฐกิจ นอกจากนี้ อนาคตที่สภาวัฒนธรรมอำเภอเขวาสินิรินทร์ต้องการพัฒนาให้บริเวณจัดแสดงศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น แต่ก็ขาดงบประมาณในการพัฒนาดังกล่าว อนึ่ง ยังหวังให้ศูนย์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการท่องเที่ยวในอำเภอเขวาสินรินทร์ เพราะในปัจจุบันมีเอกชนที่มาจัดตั้งสถานที่เลี้ยงช้างขนาดเล็กภายในอำเภอ ฉะนั้น หากสามารถส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวที่เชื่อมต่อระหว่างสถานที่เลี้ยงช้าง ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องเงินและผ้าทอ และศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านจังหวัดสุรินทร์ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายเขมร น่าจะเป็นโอกาสอันดีในการส่งเสริมการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมควบคู่กับการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นด้วย.

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ เขียน
ข้อมูลจาก: สำรวจภาคสนาม วันที่ 27 เมษายน 2561
ชื่อผู้แต่ง:
-