ศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านจังหวัดสุรินทร์ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายกูย


ที่อยู่:
ภายในศูนย์คชศึกษา อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์
โทรศัพท์:
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์ โทร. 044 558 625
วันและเวลาทำการ:
วันและเวลาราชการ (โปรดติดต่อล่วงหน้า)
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2560
ของเด่น:
บ้านจำลองพื้นถิ่นคนเลี้ยงช้าง, ประติมากรรมช้างสานจากใบไม้, หุ่นจำลองเครื่องแต่งกายคนเลี้ยงช้าง, หุ่นจำลองการบวชนาคช้าง
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านจังหวัดสุรินทร์ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายกูย

คุณกัลยา แก้วประสงค์ นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์ ขันอาสาเป็นมัคคุเทศก์ในการนำชมศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านจังหวัดสุรินทร์ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายกูย คุณกัลยากล่าวถึงบทบาทของตนเองในฐานะผู้ที่รับผิดชอบโครงการสุรินทร์ถิ่นวัฒนธรรม 3 ชนเผ่า ซึ่งเป็นการดำเนินงานโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์ และงบประมาณสนับสนุนจากจังหวัด
 

เราเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนจาก อบจ. ตัวแทนจากสภาวัฒนธรรมอำเภอท่าตูม นายอำเภอท่าตูม ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดฯ ได้รับงบประมาณในการพัฒนาจังหวัดดำเนินการตรงนี้ วางแผนร่วมกัน สุดท้าย ให้เราทำในลักษณะเนื้อหาเกี่ยวกับกูยที่เลี้ยงช้าง เพราะว่าสภาพพื้นที่ตรงนี้มีความเกี่ยวข้องกับช้างเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็นำเสนอในเรื่องของภาษา ส่วนใหญ่ตรงนี้ คนพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ใช่คนกูย
 

เนื้อหาในนิทรรศการคงสอดคล้องกับสิ่งที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์กำหนดไว้ “เพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริม สืบทอด สืบสานศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีอันดีงามที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวสุรินทร์ให้คงอยู่สืบไป (...) การจัดทำนิทรรศการ โดยจำลองวิถีชีวิตของกลุ่มชนพื้นเมืองของจังหวัดสุรินทร์ 3 ชนเผ่า ในวิถีวัฒนธรรมไทย 8 สาขา ประกอบด้วย 1) ประเพณี 2) ศิลปะพื้นถิ่น 3) อาหาร 4) การแต่งกาย 5) ภาษา วรรณกรรมพื้นบ้าน 6) อาชีพ 7) ความเชื่อ พิธีกรรม และ 8) ที่อยู่อาศัย” ซึ่งปรากฏในเอกสารโครงการ

สถานที่ตั้งนั้นเป็นอาคารปูนยกพื้นสูง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรช้างที่จะพัฒนาขึ้นอย่างเต็มรูปแบบภายในศูนย์คชศึกษา อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ แม้ตำแหน่งที่ตั้งของอาคารศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านจะห่างไกลจากบริเวณการจัดแสดงช้าง ศูนย์คชศึกษาในปัจจุบัน แต่เมื่ออาณาจักรช้างแล้วเสร็จ อาคารดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของอาณาบริเวณที่ใช้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนศูนย์คชศึกษา ซึ่งจะประกอบด้วยส่วนจัดแสดงกิจกรรมช้าง สถานที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว และอื่น ๆ

เมื่อเข้าสู่อาคารศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้าน นิทรรศการจัดไว้ครึ่งหนึ่งของพื้นที่อาคาร โดยมีประติมากรรมช้างที่ทำจากใบไม้เป็นเสมือนกับประธานของนิทรรศการ ส่วนเนื้อหา หุ่นจัดแสดง และคำอธิบายเกี่ยวกับวัฒนธรรมชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายกูยนั้น ตั้งอยู่ไล่เรียงตามบริเวณผนังด้านตรงข้ามกับทางเข้า

จากซ้ายมือผู้ชม เป็นบริเวณที่กล่าวถึงสภาพความเป็นอยู่และบ้านเรือนของคนเลี้ยงช้างชาวกูย ที่ใช้ภาพถ่ายสำเนาแสดงให้เห็นสภาพบ้านเรือนที่เป็นลักษณะของบ้านชั้นเดียว ใต้ถุน หลายภาพสะท้อนกิจกรรมภายในครัวเรือน เช่น หญิงทอผ้า หรือช้างที่เลี้ยงไว้ในโรงเรือนที่มีการต่อหลังจากเรือน ถ้ดไปเป็นบ้านจำลองทำจากวัสดุไผ่สานที่ยกพื้นสูงและมีหลังคาต่อจากเรือนหลักทำนองแสดงให้เห็นการเลี้ยงช้าง และมีช้างจำลองที่ทำจากข้าวเปลือกติดบนหุ่นรู้ช้าง บนเรือน ติดป้ายคำเรียกบ้านโบราณว่า “ดุง ลู เดิม” ใต้ถุนเรือนมีเครื่องมือเครื่องใช้ เช่นสุ่มจับปลา ไซ ที่มีป้ายคำเรียกในภาษาพื้นถิ่นประกอบการจัดแสดง

ใกล้กันนั้น แคร่นำเสนอหุ่นจำลองอาหารพื้นถิ่น ประกอบด้วยอาหารคาวหรือที่เรียกในภาษากูยว่า โดย บัด และอาหารหวานที่เรียกว่า “อัน ซอม” ในภาษาพื้นถิ่น ประกอบด้วย หมกไข่ปลา (หมก แท ระ กา) แกงหอยขม (บัด กอ แต๊ะ) ปลาส้มทอด (เย๊าะ อากา ทอด) แกงปลาช่อนใส่ไข่มดแดง (บัด อากา จ๊อง) ข้าวสวย (โดย กะ ชาย) ส่วนสำรับของหวาน ประกอบด้วย ขนมดอกบัว (ขนม เปลียน บัว) ข้าวต้มมัด (อัน ชอม) ข้าวต้มด่าง (ชอม ฮอ)

ถัดจากเรื่องที่อยู่อาศัยและอาหารเป็นหุ่นจำลองชายหญิงแสดงการแต่งกาย ชายนุ่งโจงกระเบน และผ้าขาวม้า  และส่วนหญิงแต่งกายด้วยผ้านุ่งและเสื้อย้อมมะเกลือที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวกูย พี่กัลยาให้ข้อสังเกตว่า กูยในแต่ละถิ่นจะมีการสร้างลวดลายบนปก สาบเสื้อ ด้วยด้ายสีสันที่แตกต่างกันหรือเรียกว่า แซว ถัดไปนั้น เป็นการจัดแสดงผ้านุ่งประกอบกับภาพถ่ายเก่าสำเนาแสดงให้เห็นรูปแบบการแต่งกายของคนในพื้นที่

บริเวณต่อเนื่องจากการแต่งกายเป็นการนำเสนอหุ่นจำลองด้านอาชีพอันได้แก่ การเลี้ยงช้าง ที่เป็นหุ่นชายนุ่งโจงกระเบน ไม่สวมเสื้อมีเพียงผ้าข้าวมาสีสันไม่ฉูดฉาดพาดไหล่ และการสวมเครื่องรางของขลัง จำนวน 3 ตัว ยืนอยู่ข้างศาลปะกำจำลอง พร้อมเครื่องมือที่ใช้ในการเลี้ยงช้าง คือ ตะขอ หรือ ตะเกาะในภาษากูย และ เสนงเกล เป็นเครื่องสัญญาณ อย่างไรก็ดี ปะกำที่แสดงไว้ในนิทรรศการเป็นเพียงเชือกวัตถุจัดแสดงที่มีความละม้ายกับปะกำ เพราะปะกำนั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญของหมอช้างที่ไม่สามารถนำเสนอไว้ในศาลจำลองภายในนิทรรศการได้ นอกเหนือจากหุ่นจำลองและศาลปะกำแล้ว ยังมีภาพถ่ายสำเนาแสดงให้เห็นวิถีชีวิตการเลี้ยงช้างและภาพอุปกรณ์ของใช้ที่ใช้ในการโพนช้าง หรือการจับช้าง ซึ่งนับไว้ไม่สามารถจับช้างป่าได้ดังในอดีตด้วยข้อกำหนดและกฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ

ส่วนจัดแสดงถัดไปว่าด้วยพิธีกรรม เนื่องด้วยการบวชนาคช้าง การจัดแสดงอาศัยการนุ่งโสร่งและเสื้อเชิ้ตสีขาว พร้อมด้วยผ้าพาดหัวไหล่คลุมหน้าอก สีเขียว น้ำเงิน และชมพู หุ่นยังสวมมงกุฎที่ทำจากกระดาษสีทอง ใกล้กันนั้น เป็นพิธีการแต่งงานที่นำเสนอหุ่นชายและหญิงนุ่งเครื่องแต่งกายในพิธีตามขนบ ชายนุ่งโสร่งเสื้อเชิ้ตสีขาวนวล พร้อมด้วยผ้าขาวม้าผูกเอวและพาดไหล่ ส่วนหญิงนุ่งซิ่น เสื้อสีขาวนวล ผ้าเบี่ยง พันรอบหน้าอกและชายผ้าพาดหัวไหล่สีชมพู ป้ายให้ชื่อคำเรียกชุดแต่งกายไว้ว่า “ชิด ชัตเต”

พิธีกรรมสุดท้ายที่นำเสนอในนิทรรศการคือ พิธีแกลมอ ที่ป้ายอธิบายถึงวัตถุประสงค์ของการจัดพิธีไว้ใน 3 ลักษณะ

1.เพื่อเป็นการเคารพครูบาอาจารย์ ปู่ยา ตายายที่เคารพ เมื่อถึงวันสำคัญในรอบปีก็ดำเนินพิธีกรรมขึ้นปีละ 1 ครั้ง ในวันขึ้น 8 หรือ 15 ค่ำ เดือนยี่ของทุกปี
 

2.บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถบันดาลทุกข์สุข เชื่อว่าผู้ที่เคารพกราบไหว้ จะทำให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข เมื่อเกิดเหตุไม่ดีกับสมาชิกในครอบครัว ญาติ มีการเจ็บป่วย จะมีการบนบาน เมื่อได้ตามที่บนบานไว้จึงจัดพิธีแก้บน
 

3.การประกอบพิธีกรรมเพื่อรักษาผู้ป่วย ซึ่งเป็นการอัญเชิญดวงวิญญาณของบรรพบุรุษมาให้ความช่วยเหลือ ขอคำแนะนำผ่านล่าม หรือคนทรงเพื่อหาสาเหตุของการเจ็บป่วย และหาทางรักษาตามความเชื่อ
 

ในส่วนสุดท้ายเป็นเหมือนแกลลอรี่ภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นการดำเนินชีวิตต่าง ๆ บนผนังไม้ไผ่สาน และแผนที่แสดงให้เห็นบ้านตากลาง อันเป็นสถานที่ตั้งของศูนย์คชศึกษา

คุณกัลยาให้ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานในอนาคตของศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านจังหวัดสุรินทร์ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายกูย มีข้อจำกัดหลายประการเพราะสถานที่ตั้งภายในศูนย์คชศึกษานั้นอยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ รวมทั้งชุมชนชาวกูยกลุ่มใหญ่ ๆ อยู่ในอำเภอสำโรงทาบและในอำเภอใกล้เคียงมากกว่า ฉะนั้น การพัฒนาในอนาคตอาจจะพิจารณาถึงการปรับเปลี่ยนหรือขยับขยายไปสู่สถานที่ตั้งใหม่เพื่อให้ศูนย์วัฒนธรรมได้รับการดูแลโดยชุมชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป.

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ เขียน
ข้อมูลจาก: การสำรวจภาคสนามวันที่ 27 เมษายน 2561

ชื่อผู้แต่ง:
-

ข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง