พิพิธภัณฑ์ชาวนา โรงเรียนบ้านถนนชัย


ที่อยู่:
โรงเรียนบ้านถนนชัย ม. 2 บ้านหินโคน ต.โคกตะเคียน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ 32210
โทรศัพท์:
044-590308,044-504114
วันและเวลาทำการ:
เปิดในวันเวลาราชการ
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2551
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ชาวนา โรงเรียนบ้านถนนชัย

ด้วยความร่วมมือของคนในชุมชนกับโรงเรียนของพวกเขา  พิพิธภัณฑ์ชาวนาบ้านถนนชัย  จึงได้เกิดขึ้นมา  วิถีชาวนาแบบดั้งเดิมที่ใช้ควายไถนาได้หายไป  พร้อมกับการหายไปของพิธีกรรมสู่ขวัญข้าว  เหลือไว้เพียงความทรงจำของผู้ใหญ่และคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน
 
อาคารที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ชาวนา  โรงเรียนบ้านถนนชัย  เดิมเป็นอาคารเรียนเก่า  ปัจจุบันมีการจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในวิถีชีวิตของชาวนา  อาจารย์สรวงสุดา  สมเสมอ  เป็นผู้ดูแล  การจัดแสดงของที่นี่เริ่มในปีพ.ศ. 2551  โดยความร่วมมือของทางโรงเรียนบ้านถนนชัยกับผู้ใหญ่บ้านและคนในชุมชน  วัตถุประสงค์เพื่อต้องการสืบสานวัฒนธรรม  ด้วยการเก็บรักษาเครื่องมือเครื่องใช้ในวิถีชีวิตของชาวนาแต่ดั้งเดิม  ในครั้งที่ยังใช้ควายไถนาและใช้วัวเทียมเกวียน
 
การจัดแสดงภายในมีการจำลองกระท่อมชาวนาหลังเล็ก   โดยชาวบ้านมาช่วยกันทำ  กระท่อมชาวนาตกแต่งด้วยข้าวของเครื่องใช้ในวิถีชีวิต  บนบ้านก็มีหม้อดินหุงข้าว  เครื่องจักสาน  อุปกรณ์จับปลา  ใต้ถุนเรือนมีรังไก่  สุ่ม  ถัดจากกระท่อมมีพวกคราด  คันไถ  อีกด้านหนึ่งเป็นเกวียน   กี่ทอผ้า  และกิ่งไม้สำหรับให้ไหมมาเกาะทำรัง
 
ในการให้ข้อมูล  อาจารย์สรวงสุดาได้แนะนำให้รู้จักกับผู้ใหญ่บ้านหินโคน  นายทองใบ  แก้ววัน    ผู้ใหญ่บ้านคือคนสำคัญที่ทำให้มีพิพิธภัณฑ์แห่งนี้  ด้วยความสนใจและการเห็นคุณค่า  สิ่งของที่จัดแสดงผู้ใหญ่เป็นคนรวมรวมมาจากชาวบ้าน  แต่เดิมเก็บไว้ที่บ้าน  เมื่อสิ่งของมีจำนวนมากขึ้น  จึงเกรงว่าจะเกิดการชำรุดเสียหาย  ทางหัวหน้าปศุสัตว์อำเภอและคณะกรรมการการหมู่บ้าน  ต่างก็เห็นพ้องกันว่าอยากให้จัดแสดงที่โรงเรียน   ทั้งนี้ยังมีสิ่งของอีกจำนวนหนึ่งซึ่งมีมูลค่าจำพวกหม้อไหโบราณ  ผู้ใหญ่บ้านยังไม่กล้านำมาจัดเสดงเพราะเกรงจะสูญหาย
 
การจัดทำพิพิธภัณฑ์ของที่นี่  ไม่ได้งบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานใดๆ  เป็นการร่วมแรงกันของชาวบ้านกับโรงเรียนที่ให้สถานที่  ในการจัดการดูแลของอาจารย์สรวงสุดา  อาจารย์มีความคิดเห็นว่าที่ผ่านมามีคนมายืมของในพิพิธภัณฑ์ออกไปจัดแต่งในงานเทศกาลประจำปีของหมู่บ้าน  อย่างงานแห่เทียนเข้าพรรษา  เวลานำกลับมาคืน  จะมาแบบกองรวมกัน   เกวียนก็จะมาแบบแยกชิ้นส่วน  ในลักษณะนี้ไม่อยากให้มี   แต่มักจะขัดกับความต้องการของผู้หลักผู้ใหญ่ไม่ได้  การขนย้ายและการนำสิ่งของจัดแสดงไปใช้ที่อื่น  ทำให้เกิดการชำรุดสูญหาย  แต่เดิมนั้นของแต่ละชิ้นจะมีป้ายชื่อของผู้บริจาค  แต่เมื่อนำออกไปป้ายเหล่านั้นก็หลุดหาย

ในการให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์วัฒนธรรม   ทางโรงเรียนบ้านถนนชัยได้จัดให้มีการทำพิธีกรรมสู่ขวัญข้าว  โดยใช้สถานที่คือสนามของโรงเรียน  พิธีนี้จัดเป็นประจำทุกปี  โดยชาวบ้านจะนำข้าวเปลือกมาบริจาคกองรวมกัน  มีผู้เฒ่าผู้แก่มาทำพิธี  แล้วนักเรียนจะได้ร่วมอยู่ในพิธีด้วย  ในการสังเกตของอาจารย์สรวงสุดา   เวลาที่เด็กนักเรียนเข้ามาในห้องนี้  บางคนเห็นเครื่องใช้พื้นบ้านบางชิ้นแล้วไม่รู้ว่าเป็นอะไร  ผู้ใหญ่บ้านก็เห็นด้วย  อย่างพวกคราด  ไถ  เดี๋ยวนี้เด็กไม่รู้จักกันแล้ว  

ในฐานะที่เป็นชาวนาไทยคนหนึ่ง   ซึ่งปัจจุบันก็ยังทำนาอยู่  ผู้ใหญ่บ้านได้บอกเล่าประสบการณ์ที่ได้พบมาด้วยตนเอง  ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพรวมวิถีชีวิตชาวนาไทยที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างดียิ่ง  
             
“คนทุกวันนี้เขานิยมความรวดเร็ว  ถ้าหากว่าใช้ควายนี่มันจะประหยัดกว่ากันมากครับ  ใช้รถไถนานี่มันเร็ว  แต่ว่ามันเปลือง  เปลืองมาก  เหมือนนาแปลงหนึ่ง  ลูกชายผมนี่  นาประมาณ 30 ไร่  ซื้อน้ำมันหมดไปประมาณ 2,000 กว่าบาท  น้ำมันไถ 2,000 กว่าบาท  ทีนี้รถเสียก็ซ่อม  พันกว่าบาทสองพัน  รวมกันก็เกือบเป็นหมื่นเหมือนกันครับ  แต่ถึงจะยังไงเขาก็ต้องรู้  เพราะว่าเปลี่ยนไปทางนี้แล้ว  จะให้มาไถควาย  ควายก็ไถเป็นเยอะเหมือนกัน  แต่เขาไม่อยากจะไถ  เพราะว่าไถควายตัวหนึ่งได้ประมาณไร่หนึ่งนะครับ  ไถดะไถอะไรได้อยู่  แต่ถ้าเป็นรถ เขาไปลงแป็บเดียว  9 ไร่ 10 ไร่   จะเอายังไงก็ไม่รู้คนเราทุกวันนี้  อายกัน  หรือยังไงกันก็ไม่รู้  ชอบความเร็วกันก็ไม่รู้  ก็เลยแข่ง  ไม่นิยมใช้ควาย  ใช้รถไถกัน  เขาใช้กันอย่างนี้
               
ทำนานี่ส่วนมากหมดไปทุกอย่าง  ทุกวันครับ  หนึ่งเริ่มไถ  คนทุกวันนี้ไม่มีควาย  ไม่มีเกวียน  แต่เอาข้าวขึ้นมาอยู่บ้านได้  เพราะอะไร  คนไม่มี  คนมีนาไม่มีควายก็จ้างรถเขาไถ  ก็หมดไปแล้ว  ไร่หนึ่งก็ 260 บาทนะครับ  ไถหว่านเลย  ถ้าเป็น 10 ไร่ล่ะ  20 ไร่  หมดไปเท่าไหร่  อันนี้แค่ไถนะ  10 ไร่ก็หมดไปเท่าไหร่  สองพันกว่าบาท  สองพันหกแล้วนะครับ  ไหนจ้างคนไปขุด  ขุดตอไม้อะไรอย่างนี้  วันนึงก็ประมาณ 200 บาทอย่างนี้   ถ้าสามคนก็ไหนเหล้าไหนอาหารเลี้ยงเขา  ทั้งหมดค่ารถไถนี่  10 ไร่  ก็ 2600 นะครับ  จ้างคนไปขุดไปช่วยนี่ประมาณ 4000 ต่อไร่เบ็ดเสร็จไป  อันนี้แค่ไถนานะ  แค่ไถหว่าน  ทีนี้พอหว่านเสร็จ  เอาข้าวขึ้นมา  ถ้าข้าวนั้นมามันดี  ก็เอาปุ๋ยลง  ปุ๋ยก็อย่างน้อย 10 ไร่นี่  10 ไร่มัน  มันปาไปแล้วประมาณ 10 กว่ากระสอบนะครับ  ถ้าปุ๋ยแพง   ตอนนั้นถุงละพันกว่าบาท  ทุกวันถุงละเจ็ดร้อยกว่าบาท  ค่อยยังชั่วหน่อย  10 กระสอบมันก็ไม่เท่าไหร่  เจ็ดพันกว่าไปแล้ว  คือมันลงทุนหมดล่ะครับ
               
พอเอาปุ๋ยลงถ้าไม่พอ  ถ้าข้าวมีวัชพืชขึ้นมา  เอาอะไรอีก  เอายาฆ่า  ฆ่าวัชพืชอีก  เป็นยาบางคนนะ  ส่วนมากก็  แต่ทุกวันนี้เขาไม่ค่อยเล่น  เล่นเป็นบางคน  บางคนเขากลัวฉี่หนู  แต่บางคนก็ไม่กลัวฉี่หนูนะ  เขาก็เล่นบ้าง  ยาฆ่าหญ้าพวกนี้  อ้าว...พอเสร็จข้าวแตกรวงออกมา  ข้าวสุก  เอารถเกี่ยวข้าว  แต่ก่อนลงแขกเกี่ยวข้าวก็ไม่ค่อยหมดเท่าไหร่  สูงสุดนี่ค่าประมาณสัก 20-30 ไร่นี่ลงกันประมาณสามสิบสี่สิบคนนี่  เสร็จนะ  ลงทุนไม่ค่อยเยอะด้วย  กะประมาณพันกว่าบาท  ทำกินพวกอะไร  แกง  ฆ่าไก่ 4-5 ตัวก็เสร็จไป  แล้วก็พวกสาโททำเอง  แต่ก่อนเขาทำอย่างนั้นช่วยกัน  แต่ทุกวันถ้าลงแขกนี่  หมดมากกว่าจ้างรถเขาอีกนะครับ  ผมลองดูแล้วคนหนึ่งเหล้าสี่สิบนี่  ขวดใหญ่ไม่อยู่นะ
               
ผมก็เป็นผู้ใหญ่บ้าน  ผมก็บอกว่า  พยายามอย่าให้ติดหนี้ติดสินเขามาก  ทำด้วยกำลังตัวเองมาก  ผมก็บอกเขา  แต่บางคนเขาก็ทำไม่ได้  เขาเอาชอบเร็วอย่างเดียว  บางคนนี่  เหมือนกับผมว่ามีนาไม่มีควาย  มีนาไม่มีรถก็ทำนาได้  ทำข้าวได้  ข้าว  ไม่ใช่จ้างเขาอย่างเดียว  ทุกวันนี้รถเกี่ยวแล้ว  คนเกี่ยวไม่ค่อยมีนะครับ  แต่ผมมีรถเกี่ยว  แต่ผมไม่เคยเกี่ยวหรอกรถ  เกี่ยวรถดูแล้วมันทิ้งมากกว่าได้   ครึ่งหนึ่ง  เกือบครึ่ง...”
               
ปัจจุบันในหมู่บ้านนี้ยังมีชาวนาที่ใช้ควายอยู่เพียง 2-3 คน  ในการทำนาที่ชาวนาใช้ควายไถนาก็เนื่องมาจากความมีความคุ้นเคยกับการเดินในดินโคลน   สำหรับวัวจะใช้กับเกวียน  เพราะวัวจะเดินได้ดีกับดินแข็งๆ ถ้าเอาวัวไปเดินในโคลน  วัวจะดิ้น  ผู้ใหญ่ทองใบย้อนความทรงจำเกี่ยวกับเกวียนว่า  สมัยก่อนชาวบ้านเขาใช้เกวียนเหมือนกับที่คนใช้รถอย่างทุกวันนี้  เกวียนใช้บรรทุกข้าวเปลือก  บรรทุกไม้  เป็นพาหนะในการพาลูกหลานไปเยี่ยมปู่ย่าตายาย  เกวียนที่มีหลังคา  มักจะเอามัดใบตาลมาแนบเย็บกับไม้ไผ่
               
ในการทำพิพิธภัณฑ์ชาวนา  ทั้งผู้ใหญ่บ้านและอาจารย์สรวงสุดา  ต่างมีความตั้งใจและเห็นพ้องในการที่จะสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นให้กับเด็กรุ่นใหม่  โดยคาดหวังที่จะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่น  ในการทำพิพิธภัณฑ์  ผู้ใหญ่บ้านทองใบได้ทิ้งท้ายไว้ว่า  การทำพิพิธภัณฑ์ก็เหมือนกับการทำนาและการทอผ้า  จะต้องมีขั้นตอนในการดำเนินการจึงจะครบเครื่อง

สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่  3   เดือนมิถุนายน    พ.ศ.2553
ชื่อผู้แต่ง:
-