พิพิธภัณฑ์กัมมัฏฐาน-อัฐิธาตุ วัดบูรพาราม


ที่อยู่:
วัดบูรพาราม ถ.กรุงศรีใน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ (ใกล้กับศาลากลางจังหวัดสุรินทร์)
โทรศัพท์:
044-538690,044-514234
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2527
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์กัมมัฏฐาน-อัฐิธาตุ วัดบูรพาราม

วัดบูรพาราม  จังหวัดสุรินทร์   เป็นวัดเก่าแก่  สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรีหรือในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์  มีอายุประมาณ 200  ปี  วัดนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดบูรพารามขึ้นเป็นพระอารามหลวงตั้งแต่วันที่ 1  กุมภาพันธ์  2520 
 
พิพิธภัณฑ์กัมฐานอัฐิธาตุ  สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์  อดุโล) หลวงปู่ดูลย์ อตุโล    ท่านได้รับสมญาว่าเป็นบิดาแห่งภาวนาจิต    เกียรติคุณและชื่อเสียงของท่านเป็นที่รู้จักกันในกลุ่มผู้ปฏิบัติธรรม  หลวงปู่ดูลย์  เคยอยู่ที่วัดบูรพาราม  ตั้งแต่ พ.ศ. 2477 จนกระทั่งมรณภาพ พ.ศ.2526   ปัจจุบันวัดบูรพารามมีเจ้าอาวาสคือ  พระราชวรคุณ (สมศักดิ์ ปณฺฑิโต) เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์  ในการให้สัมภาษณ์ท่านบอกว่าพิพิธภัณฑ์นี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2527  โดยจะเรียกว่าพิพิธภัณฑ์ก็ได้  จุดประสงค์ของการก่อตั้งแต่เริ่มแรกคือ  การสร้างเพื่อประดิษฐานรูปหลวงปู่ดูลย์เพียงอย่างเดียว   โดยมีอัฐิและเครื่องอัฐบริขารและเครื่องใช้ต่างๆ ของท่านเพียงเท่านั้น  โดยไม่มีการจัดแสดงสิ่งของอื่น  คนที่บริจาคสร้างก็คือญาติโยมที่ศรัทธาในหลวงปู่ท่าน  ทุกวันก็จะมีคนเข้ามากราบไหว้กันเป็นประจำทุกวัน  สำหรับตัวท่านเจ้าอาวาส  ท่านได้มาอยู่ที่วัดนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491  ตั้งแต่เป็นเณรน้อยและได้รับใช้หลวงปู่ดูลย์เรื่อยมาจนกระทั่งหลวงปู่ท่านมรณภาพ
 
เมื่อเดินไปยังอาคารพิพิธภัณฑ์  สิ่งแรกที่สะดุดตาตั้งแต่มองจากด้านนอกคือ  รูปแบบสถาปัตยกรรมของตัวอาคารโดยเฉพาะส่วนของหลังคาที่โค้งซ้อนกันเหมือนใบเรือ   เมื่อผ่านเข้าไปในพิพิธภัณฑ์  รูปปั้นหลวงปู่องค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่โดดเด่น  ครั้นแหงนมองโดยรอบมองเห็นภาพจิตรกรรมบอกเล่าเรื่องของหลวงปู่ดุลย์  อตุโล           พร้อมกับพระเกจิอาจารย์ ได้แก่  หลวงปู่มั่น  ภูริทตฺโต  พระอาจารย์ของท่าน  หลวงปู่เสาร์  กนฺตสีโล  พระอาจารย์ของหลวงปู่มั่น  หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม  กัลยาณมิตรของท่าน
 
ในการจัดแสดงสิ่งของจะมีอยู่ภายในตู้กระจกทั้งสองด้าน  ด้านหนึ่งเป็นเครื่องอัฐบริขารของท่านและเครื่องใช้ส่วนตัวของท่าน   ภายในตู้อีกด้านเป็นพระพุทธรูป   สำหรับชีวประวัติของหลวงปู่ดูลย์  อตุโล  ท่านเป็นชาวสุรินทร์โดยกำเนิด  ท่านเกิดเมื่อ พ.ศ. 2431  ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 5  หลวงปู่ท่านได้เคยเล่าถึงเรื่องราวถิ่นกำเนิดตั้งแต่ช่วงสมัยเมื่อ 100  กว่าปีมาแล้ว  ในเรื่องนี้พระราชวรคุณ (สมศักดิ์ ปฺณฑิโต) ได้เรียบเรียงบันทึกไว้
 
ชุมชนสุรินทร์ในอดีตไม่มีหลักฐานว่าเกิดขึ้นเมื่อใด  แต่สันนิษฐานว่ามีมาไม่ต่ำกว่า  2000 ปี  เคยผ่านความรุ่งเรืองมาสมัยหนึ่งในฐานะเป็นเมืองหน้าด่านจากผืนที่ราบโคราช     ลงสู่แคว้นเจนละของกัมพูชา  สุรินทร์  หรือ  เมืองประทายสมันต์  หรือ  ไผทสมันต์  ในอดีต  อยู่ในพื้นที่ราบต่ำที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ  และมวลสัตว์ป่านานาชนิด  หลักฐานเมืองโบราณที่พบเห็น  ได้แก่ ปราสาทหินภูมิโปน  ปราสาทระแงง ปราสาทยายเหงา  ปราสาทตาเหมือน  ปราสาทจอมพระ  ปราสาทเบง  เป็นต้น  รวมทั้งกำแพงเมืองสุรินทร์เดิมซึ่งมี  2  ชั้น  เคยตั้งตระหง่านมาเมื่อ  100 ปีที่แล้ว  ก็ยังมีหลักฐานเหลือให้เห็นได้ชัดเจน  ในสมัยนั้นบ้านเรือนมีน้อย  ไม่แออัดเหมือนทุกวันนี้  
 
ด้านทิศใต้ของวัดบูรพารามของหลวงปู่  เป็นกำแพงเมืองชั้นในสูงตระหง่านบังหลังคากุฏิ  เพิ่งจะอันตรธานหายไปเมื่อไม่เกิน 100 ปีมานี้เอง
 
สำหรับผู้ที่มากราบหลวงปู่ดูลย์และมาทำบุญที่วัดนี้   อีกประการหนึ่งที่ต้องทำคือการเข้าไปกราบหลวงพ่อพระชีว์  พระพุทธรูปคู่เมืองสุรินทร์  หลวงพ่อพระชีว์เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย  หน้าตักกว้าง  4  ศอก  ประดิษฐานอยู่ในมณฑปจัตุรมุขก่ออิฐถือปูน  อยู่ทางด้านตะวันตกของพระอุโบสถ   หลวงพ่อพระชีว์องค์นี้ไม่สามารถสืบประวัติได้ว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยไหนและผู้ใดสร้าง   ในการสืบประวัติเมื่อถามคนเก่าแก่อายุร้อยปี  ท่านจะบอกว่าเห็นองค์ท่านอยู่อย่างนี้มาแล้ว  ตามข้อสันนิษฐานคาดกันว่าน่าจะสร้างมาพร้อมกับเมืองสุรินทร์
 
ตามที่เล่าสืบต่อกันมา  สมัยก่อนแถวจังหวัดสุรินทร์  บุรีรัมย์  ศรีสะเกษ  หรือแถบอีสานใต้  ยังไม่มีพระพุทธรูปปั้นองค์ไหนที่งดงาม  หรือมีลักษณะที่มีอำนาจและมีขนาดใหญ่เท่ากับหลวงพ่อพระชีว์เลย  ด้วยท่านมีขนาดใหญ่และดูเคร่งขรึมมีอำนาจน่าเกรงขาม  ชาวบ้านจึงนับถือท่านในด้านความศักดิ์สิทธิ์  แม้แต่ทางราชการ  ในสมัยที่ข้าราชการมีการทำพิธีดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยาก็ต้องมาทำพิธีต่อหน้าหลวงพ่อพระชีว์   ในประสบการณ์ตรงของท่านเจ้าอาวาส  พระราชวรคุณ  ได้เล่าไว้ในหนังสือว่า
 
เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  แถวสุรินทร์  และบุรีรัมย์  ถือว่าเป็นพื้นที่หมิ่นเหม่ต่ออันตราย  ด้วยการเป็นเป้าหมายโจมตีทางอากาศสมัยนั้น  พ.ศ. 2488   พวกอาตมายังเป็นเด็ก  เรียน ป.1-ป.2 จะมีเครื่องบินวนเวียนไปทิ้งระเบิดแถวกัมพูชาและแถบสุรินทร์-บุรีรัมย์  ชาวบ้านตกอกตกใจ  ก็ได้แต่ไปกราบไปไหว้ขอบารมีหลวงพ่อพระชีว์เป็นที่พึ่ง  ขออย่าให้บ้านเมืองถูกระเบิดเลย หรือเครื่องบินมาแล้วก็อย่าให้มองเห็นบ้านเมือง
 
นอกจากนี้ชาวบ้านก็มักพากันมาบนบานศาลกล่าวเวลาเกิดยุคเข็ญต่างๆ เช่น  เมื่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บ  อหิวาตกโรค  หรือโรคฝีดาษมีการระบาด  ซึ่งสมัยนั้นถ้ามีโรคระบาดมาแต่ละชุด  ผู้คนจะล้มตายจำนวนมาก  พวกเขาเหล่านั้นก็ได้หลวงพ่อพระชีว์เป็นที่พึ่งทางใจ  ให้เขารู้สึกปลอดภัย  หรือพ้นภัยพิบัติ  คนสุรินทร์จึงนับถือท่านตลอดมา
 
ด้วยลักษณะเช่นนี้  พระราชวรคุณได้วิเคราะห์ไว้ว่า  หลวงปู่ดูลย์  อตุโล  ท่านได้อาศัยบารมีหลวงพ่อพระชีว์  ในการพัฒนาวัดบูรพารามให้เจริญรุ่งเรือง  กล่าวคือ  เมื่อชาวบ้านพากันเคารพนับถือหลวงพ่อพระชีว์เป็นอันมาก  ก็สะดวกต่อหลวงปู่ที่จะบูรณะวัด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างพระอุโบสถให้สำเร็จ  ซึงเป็นเรื่องลำบากยิ่งในสมัยนั้น
ในวันนี้แม้ว่าหลวงปู่ดูลย์  อตุโล  จะมรณภาพไปนานแล้ว  แต่วัดบูรพารามยังคงสืบสานหลักปฏิบัติในฝ่ายวิปัสสนาธุระอย่างต่อเนื่อง   และรูปปั้นหลวงปู่ดูลย์  อตุโล  ยังเป็นที่พึ่งทางจิตใจของผู้ศรัทธาที่เข้ามากราบไหว้ขอพรกันเป็นประจำทุกวัน
 
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่  28 พฤศจิกายน  พ.ศ.2552

การเดินทาง :  จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) แล้วแยกเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ที่จังหวัดสระบุรีและเดินทางเข้าเส้นทางโชคชัย-เดชอุดม (ทางหลวงหมายเลข 24) ผ่านอำเภอนางรอง อำเภอปราสาท จากอำเภอปราสาทแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 214 ถึงตัวเมืองสุรินทร์ รวมระยะทาง 450 กิโลเมตร 
    หรืออาจเดินทางจากกรุงเทพฯไปจังหวัดนครราชสีมา ต่อด้วยเส้นทางหมายเลข 226 ผ่านอำเภอจักราช ห้วยแถลง ลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ สู่จังหวัดสุรินทร์ รวมระยะทาง 434 กิโลเมตร
ชื่อผู้แต่ง:
-