พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์


ที่อยู่:
สำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ 32000
โทรศัพท์:
044- 041587
วันและเวลาทำการ:
เปิดในวันเวลาราชการ วันจันทร์- วันศุกร์ 08.30 – 16.30 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
อีเมล:
bee13_d@hotmail.com,artculturesrru@hotmail.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2526
จัดการโดย:
เนื้อหา:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์

สิ่งที่แสดงอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ได้อย่างหนึ่งคือ เครื่องแต่งกาย  เรารู้จักจังหวัดสุรินทร์ว่าเป็นเมืองช้าง  ในขณะเดียวกันผ้าไหมสุรินทร์ก็มีชื่อเสียงไม่แพ้กัน
 
พิพิธภัณฑ์ผ้า  สำนักศิลปะและวัฒนธรรม  มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์  ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ.2526   ที่นี่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดสุรินทร์  ได้แก่  กลุ่มชาติพันธุ์เขมร  กลุ่มชาติพันธุ์กูยและกลุ่มชาติพันธุ์ลาว  อาคารจัดแสดงเป็นอาคารชั้นเดียว  ภายในมีผ้าสุรินทร์จัดแสดงในตู้กระจก
 
อาจารย์ธนพร  เวทย์ศิริยานันท์  เป็นผู้มีความรู้เรื่องผ้าเป็นอย่างดี    ในการเรียกชื่อลายผ้า  มีหลายลายที่ออกเสียงเป็นภาษาเขมร  ทำให้ออกเสียงค่อนข้างยาก  พิพิธภัณฑ์นี้จัดแสดงผ้าพื้นเมืองทั้งโบราณและสมัยปัจจุบัน  ผ้าเหล่านี้ได้แก่  ผ้าโฮลเปราะฮ์  ผ้าโฮลสไรย์  ผ้าอัมปรม  ผ้าอันลูนซีม  ผ้าสมอ  ผ้าสาคู  ผ้าระเบิก  ผ้ากระนีว (ผ้าหางกระรอก)  ผ้าที่ใช้ในการห่อคัมภีร์  เป็นต้น
 
ตู้จัดแสดงผ้าจะเรียงกันไปได้แก่ ตู้ผ้าไหมมัดหมี่ เป็นการทอผ้าตามจินตนาการของผู้ทอ ตู้ผ้าไหมลายโฮล เป็นผ้านุ่งมีลักษณะเป็นลายมัดหมี่ทางขวางสลับกับลายริ้วเฉียง  ตู้ผ้าไหมลายอัมปรม เป็นผ้าที่มีลวดลายตารางสี่เหลี่ยม มีการมัดย้อมไหมให้เป็นจุดประสีขาวเด่นจากพื้นสีแดงในตารางสี่เหลี่ยมเล็กๆ ตู้ผ้าไหมลายสัตว์ เป็นการทอผ้าตามจินตนาการของผู้ทอ ตู้ผ้าไหมลายยกดอก ลายโครงสร้างเกิดจากการย้อมเส้นใยเป็นสีต่าง ๆ ตู้ผ้าไหมลายสะโหร่ง มีลักษณะเป็นตารางใหญ่ สีเแดงสลับสีเขียว มีริ้วตัดที่ตรงกลางตลอดผืน  ผ้าที่จัดแสดงได้มีการทำทะเบียนไว้  ส่วนของป้ายคำอธิบาย  คาดว่าจะทำการปรับปรุงใหม่
 
ผ้าชิ้นเด่นในพิพิธภัณฑ์นี้ได้แก่ ผ้าโฮล  เป็นลายมัดหมี่ทางขวางสลับกับลายริ้วเฉียง และผ้าไหมมัดหมี่ ซึ่งชาวเขมรเรียกว่า “ จองซิน” เป็นการทอผ้าตามจินตนาการของผู้ทอ มีลวดลายในจังหวัดสุรินทร์ เช่น ลายมัดหมี่ข้อ ลายหมี่โคม ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายสับปะรด ลายก้านแย่ง ลายพนมเปญ ลายพระตระบอง ลายดอกมะเขือ มัดหมี่รูปสัตว์ ลายต้นไม้ ลาย
 
เรือหงษ์และลายผสมอื่นๆ เข่น รูปนก ไก่ ผีเสื้อ ช้าง ม้า ปลาหมึก นำมาผสมกับลายต้นไม้ หรือ ลายสัตว์เดียวๆ ตลอดทั้งผืน เช่น ช้าง ไก่ นกยูง
 
ปัจจุบันในหมู่บ้านท่าสว่างและบ้านสวายยังมีคนทอผ้าอยู่หลายคน  การทอยังทอลายแบบดั้งเดิม  แต่มีการประยุกต์ลายต่างๆนำมาประสมประสานกัน  เรียกว่าลายผ้ามีทั้งยกดอกและมัดหมี่อยู่ในผืนเดียวกัน  อาจารย์ธนพรบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นวิวัฒนาการของช่างฝีมือ  ยกตัวอย่างเช่น  แต่ก่อนผ้าถุงจะทำเป็นผืนเดียวกันแล้วต่อชาย  ต่อมามัดย้อมแบบเอาชายในผ้าถุงผืนเดียวกัน  แล้วก็เป็นยกดอกย้อมสี  ยกดอกมัดหมี่อยู่ในผืนเดียวกัน  ต่อมาก็เล่นสีเป็นผ้าถุงตีนแดง  คนที่ใช้ผ้าทอก็มีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการใช้งาน  ผ้าทอลายโบราณที่สวยงามประณีต  บางผืนถูกนำไปเป็นเครื่องประดับตกแต่งห้อง  บางครั้งก็นำไปทำเป็นกระเป๋า  
 
การย้อมสีก็มีการประยุกต์โดยใช้สีที่ได้จากธรรมชาติที่หาได้ง่ายจากท้องถิ่น  เช่น  สีโคลนที่มาจากสีโคลนหมัก  สีชมพูจากเงาะ  สีเขียวจากใบหญ้านาง  แต่ยังคงเอกลักษณ์ของผ้าไหมสุรินทร์ที่เป็นผ้าสีทึมๆ
 
สำหรับวัสดุที่ใช้ทอผ้าไหม  อาจารย์ธนพรบอกว่ามี 3 ชนิด  ได้แก่  ไหมเส้นใหญ่  คือไหมเปลือกที่มีตะปุ่มตะป่ำ  ไหมกลางคือไหมที่เส้นเล็กลงมา  และไหมชั้นในหรือจะเรียกว่าไหมน้อย  คือไหมที่ดีที่สุด  เมื่อนำมาทอเป็นผ้าไหมจะได้ผ้าไหมชิ้นเยี่ยม  เวลากำเนื้อผ้าจะได้หนึ่งกำมือ  ผ้าที่ทอด้วยไหมน้อยจะมีราคาสูงมาก
 
ในการพาเดินชมผ้าไหมที่จัดแสดงไว้ในตู้กระจก   อาจารย์ธนพรชี้ให้ดูลายต่างๆที่ได้มาจากธรรมชาติ  อย่างเช่น  ลายดอกจัน  ผกากุล  ลายต้นสน  ลายช้าง  
 
นอกจากผ้าแล้วด้านหนึ่งยังได้จัดแสดงเครื่องทอผ้าสมัยก่อน  ซึ่งมีเกือบครบถ้วนทุกชิ้น  ตู้หนึ่งเป็นเครื่องทอผ้ากลุ่มชาติพันธุ์เขมร  อีกตู้เป็นเครื่องทอผ้ากลุ่มชาติพันธุ์กูย  สมัยก่อนเวลาผู้ชายไปจีบผู้หญิงที่ตนเองคิดว่าจะแต่งงานด้วย  ของหมั้นหมายคือเครื่องมือทอผ้าที่ผู้ชายเป็นคนทำ  ส่วนผู้หญิงต้องมีฝีมือในการทอผ้า  
 
เครื่องมือทอผ้าได้แก่  กี่ทอผ้า  มีลักษณะเป็นโครงไม้สี่เหลี่ยม  ฟีมหรือฟันหวี  ทำด้วยไม้ไผ่เหลาเป็นซี่เล็กๆ กระสวย ใช้บรรจุหลอดไหม  หลอดด้ายพุ่ง ใช้บรรจุหลอดไหม อัก เป็นอุปกรณ์สำหรับกรอด้ายยืน  ไน เป็นเครื่องมือกรอด้ายพุ่งและฟั่นเกลียวไหม ใช้คู่กับอัก  ผัง เป็นไม้ใช้ขึงตามความกว้างของผ้าที่ทอ      เพื่อทำให้หน้าผ้าตึงพอดีกับฟีมและทำให้ลายผ้าตรงไม่คดไปคดมา
 
ทุกปีของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม  มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์  ได้มีการจัดกิจกรรมที่เรียกว่า  งานมหกรรมการแสดงแบบพื้นบ้านนานาชาติ  ในงานนี้ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้าพื้นเมืองจากต่างประเทศเข้ามาร่วมงานหลายประเทศ  โดยมีการเดินแบบในชุดประจำชาติและผ้าพื้นเมือง  ผู้แสดงแบบมีทั้งผู้แสดงกิตติมศักดิ์  ผู้แสดงชาวต่างชาติ  และนักศึกษาของมหาวิทยาลัย  การจัดกิจกรรมลักษณะนี้มีจัดที่ต่างประเทศด้วย  และที่นี่ได้นำผ้าไหมสุรินทร์ไปร่วมจัดแสดงอยู่เป็นประจำ          
 
หลังจากชมพิพิธภัณฑ์ผ้าแล้วแนะนำให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์เครื่องแต่งกายนานาชาติอีกอาคารหนึ่ง  อยู่ในความดูแลของสำนักศิลปะและวัฒนธรรมเช่นเดียวกัน  ส่วนนี้เน้นเสื้อผ้าสวมอยู่กับตัวหุ่นซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก

การเดินทาง
ทางรถยนต์ สามารถใช้เส้นทางได้ 2 เส้นทาง ได้แก่
1.ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) แล้วแยก เข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ที่จังหวัดสระบุรี และเดินทางเข้าสู่จังหวัดนครราชสีมา ตรงเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 224 นครราชสีมา อําเภอโชคชัย แยกซ้ายสู่ทางหลวงหมายเลข 24 โชคชัย-อุดมเดช พอถึงอําเภอปราสาทแล้วแยกซ้ายใช้เส้นทางหมายเลข 214 เข้าสู่ตัวเมืองสุรินทร์
2. ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) แล้วแยกเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ที่จังหวัดสระบุรี และเดินทางเข้าสู่จังหวัดนครราชสีมาผ่านจังหวัดบุรีรัมย์ตรงเข้าสู่ตัวจังหวัดสุรินทร์ โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 226
พิพิธภัณฑ์ผ้าอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์    ถนนสุรินทร์-ปราสาท
ทางรถโดยสารประจําทาง จากกรุงเทพฯ มีรถโดยสารประจําทางออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกําแพงเพชร 2 ทุกวัน ติดต่อขอทราบรายละเอียดได้ที่ โทร.936-2852-66
ทางรถไฟ มีรถไฟออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ( สถานีหัวลําโพง ) ทุกวัน รายละเอียดสอบถามได้ที่ หน่วยบริการเดินทางการรถไฟแห่ง ประเทศไทย โทร. 223-7010 และ 223-7020
 
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ

ข้อมูลจาก  :  
สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่  6  เดือนพฤษภาคม   พ.ศ.2553
แผ่นพับประชาสัมพันธ์พิพิธภัณฑ์ผ้า  หอวัฒนธรรม  สำนักศิลปะและวัฒนธรรม  มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
ประวัติพิพิธภัณฑ์ผ้า. http://culturesrru.srru.ac.th/001.pdf [Accessed 25/08/2010]
นิทรรศการถาวร. http://culturesrru.srru.ac.th/001.pdf [Accessed 25/08/2010]
ศิลปวัตถุชิ้นเด่น. http://culturesrru.srru.ac.th/001.pdf [Accessed 25/08/2010]
ชื่อผู้แต่ง:
-