พิพิธภัณฑ์-นิทรรศการ ร.ร.สิรินธร


ที่อยู่:
ถ.เทศบาล 1 ต.ในเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ 32000
โทรศัพท์:
0-4451-1189 ต่อหมวดสังคมฯ
วันและเวลาทำการ:
เปิดจันทร์-ศุกร์ 08.30-16.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2538
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์-นิทรรศการ ร.ร.สิรินธร

การทำพิพิธภัณฑ์ในโรงเรียน  ก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อการเรียนการสอนของนักเรียนในทุกระดับชั้น  พิพิธภัณฑ์โรงเรียนสิรินธร  ได้ทำให้ห้องพิพิธภัณฑ์เป็นส่วนสำคัญของการเรียนวิชาประวัติศาสตร์  โดยการบอกเล่าเรื่องราวผ่านวัตถุสิ่งของที่จัดแสดง  อันเป็นร่องรอยของอดีตที่เหลือไว้
 
ห้องพิพิธภัณฑ์นี้ก่อตั้งขึ้นประมาณปีพ.ศ.2538  โดยอาจารย์ปลั่งศรี  มูลศาสตร์  อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนที่ได้เกษียนราชการไปแล้ว  แต่ด้วยความรักและความผูกพันต่อพิพิธภัณฑ์นี้  ท่านยังเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลที่นี่อยู่เสมอ  ปัจจุบันผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์นี้คือ อาจารย์ขวัญฤดี  เย็นใจ  อาจารย์วิชาประวัติศาสตร์
 
การจัดแสดงแบ่งเป็น 4 ส่วนคือ  ส่วนที่หนึ่ง วัตถุโบราณพวกหม้อไหดินเผาที่มีการขุดค้นพบ  ส่วนนี้จัดแสดงอยู่ภายในห้องกระจกที่กั้นเอาไว้กับผนังห้องด้านหนึ่ง ถ้าเป็นพวกกระปุกที่มีขนาดเล็กหรือเทวรูปชิ้นเล็ก จัดแสดงในตู้กระจก  ส่วนที่สอง ผ้าไหมสุรินทร์  จัดแสดงในตู้กระจก  ส่วนที่สาม ประเกือมหรือเครื่องเงิน  จัดแสดงในตู้กระจก  และมีบอร์ดแสดงภาพและคำอธิบายการผลิตประเกือม  อีกส่วนหนึ่งคือ มุมจัดแสดงสิ่งของพื้นบ้านและของเก่าอื่นๆ  สิ่งของต่างๆ เหล่านี้ได้มีการทำทะเบียนไว้แล้ว
 
สิ่งของจัดแสดงส่วนใหญ่ได้จากการบริจาค  ทางโรงเรียนบอกไปกับนักเรียนและผู้ปกครอง  อีกส่วนหนึ่งครูได้ไปตระเวนขอตามวัดต่างๆ  ส่วนที่มีการจัดซื้อคือพวกผ้าไหมสุรินทร์
 
ถ้าเป็นผ้าไหมปัจจุบันที่ทำกันมากอยู่ที่ตำบลท่าสว่าง  ที่นั่นนอกจากจะมีการทอผ้าไหมสุรินทร์แบบที่ขายกันแล้ว  ยังมีคนที่ทอผ้าไหมแบบโบราณเป็นอยู่  ตามปกติการทอผ้าไหมสุรินทร์จะใช้ 3-4  ตะกรอ แต่ผ้าไหมโบราณจะเป็นพันตะกรอ  ต้องมีการขุดหลุมลงไป  ต้องมีคนอยู่ทั้งข้างบนข้างล่าง  วันหนึ่งจะทอได้ประมาณหนึ่งคืบ  
 
ลักษณะของผ้าไหมสุรินทร์มีความแตกต่างจากที่อื่น  เบื้องต้นคือการใช้สี  ผ้าไหมสุรินทร์สีจะออกทึมๆ ไม่ฉูดฉาด  เป็นสีเม็ดมะขามคือออกดำแดง  น้ำตาลดำ จังหวัดสุรินทร์นิยมนำเส้นไหมขั้นหนึ่งหรือไหมน้อย (ภาษาเขมร เรียก “โซกซัก”)  มาใช้ในการทอผ้า  ไหมน้อยจะมีลักษณะเป็นผ้าไหมเส้นเล็ก  เรียบ  นิ่ม  เวลาสวมใส่จะรู้สึกเย็นสบาย  ลายผ้าไหมสุรินทร์ได้แก่ ลายโฮล  ลายอัมปรม  ลายอันลูนซีม  ลายสมอ  ลายสาคู  ลายระเบิก เป็นต้น   ความนิยมในการสวมใส่ผ้าไหม  เขานิยมใส่ผ้าไหมไปวัด  ใส่ไปร่วมงานแต่งงาน  แต่บางครั้งคนรุ่นใหม่จะไม่ชอบให้ผู้ใหญ่ใส่ไปในงานรับปริญญา  ลูกบางคนบอกว่ารู้สึกอาย  ทำให้คนอื่นรู้ว่ามาจากสุรินทร์  เป็นคนบ้านนอก
 
ส่วนหมู่บ้านที่ยังทำประเกือมหรือเครื่องเงินคือ  บ้านโชคตำบลเขวาสินรินทร์  หมู่บ้านนี้สืบทอดการทำประเกือมมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษที่อพยพมาจากเขมร  สมัยก่อนมีการทำทั้งเครื่องเงินเครื่องทองด้วย  ประเกือมหรือเครื่องเงินเป็นภาษาเขมร  ใกล้เคียงกับภาษาไทยว่าประคำ  ใช้เรียกเม็ดเงิน  เม็ดทองชนิดกลม  นำมาร้อยเป็นเครื่องประดับ  ประเกือมสุรินทร์  เป็นลูกกลมทำด้วยเงิน  สิ่งที่ทำให้เครื่องเงินที่นี่แตกต่างจากที่อื่นคือการมีหลากหลายรูปแบบและลวดลาย  เนื่องจากทำด้วยแผ่นเงินบางๆ ตีเป็นรูปต่างๆ พร้อมอัดครั่งไว้ภายใน  ทำให้สามารถแกะลายได้สะดวก  ประเกือมมีตั้งแต่ขนาดเล็กที่สุดประมาณเส้นผ่าศูนย์กลางครึ่งเซนติเมตร  ไปจนถึงขนาดใหญ่ปราณ 2.5-3 เซนติเมตร  การจำลองลายมาจากธรรมชาติเช่น ลายตาราง  ลายกลีบบัว  ลายดอกพิกุล ลายดอกจันทร์  ลายพระอาทิตย์  ลายดอกทานตะวัน  ลายตากบ  สินค้าที่นี่เราจะเห็นได้ที่ตลาดนัดจตุจักร  พวกพ่อค้าแม่ค้าได้มาซื้อคราวละมากๆ เพื่อไปร้อยขายเป็นรูปแบบต่างๆ
 
การมีห้องพิพิธภัณฑ์นี้  ได้ใช้เป็นห้องสื่อการสอนวิชาที่เกี่ยวกับท้องถิ่นของเราของนักเรียนชั้นมัธยมต้น  อาจารย์จะพานักเรียนเข้ามา  อาจารย์บางท่านจะนำสื่อการสอนเป็นวีดีทัศน์มาฉายให้นักเรียนดู  นักเรียนจะเข้ามาพร้อมกับใบงาน  ในเทอมหนึ่งนักเรียนจะได้มาเรียนในนี้ 7-8 ครั้ง  ส่วนนักเรียนมัธยมปลายจะให้เข้ามาดูเอง   ไม่ได้อยู่ในชั่วโมงเรียน  เพราะโดยปกตินักเรียนมีเนื้อหาที่ต้องเรียนมาก  
 
กลุ่มอื่นๆที่เข้ามาชมพิพิธภัณฑ์  ส่วนใหญ่เป็นครูที่มาดูงาน  ผู้เข้าชมจะขอเข้ามาชมห้องนี้เป็นลำดับแรก  เพราะการมีพิพิธภัณฑ์ในโรงเรียนเป็นความต้องการของครูหมวดสังคมศึกษาทุกคน  เพื่อประกอบการเรียนการสอนเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์  เริ่มตั้งแต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์  ประวัติศาสตร์ไทย  ประวัติศาสตร์สากล  
 
ตามการสังเกตของอาจารย์ขวัญฤดี  เด็กนักเรียนที่นี่ค่อนข้างมีความรู้เรื่องผ้าไหมและประเกือม  เพราะมีความคุ้นเคย  สิ่งที่นักเรียนไม่เคยเห็นคือพวกวัตถุโบราณ  ที่นี่ได้มีไว้จำนวนหนึ่ง  แต่ยังไม่สามารถลงรายละเอียดได้มากนัก 
ส่วนของงบประมาณได้รับจากทางโรงเรียนปีหนึ่งๆประมาณ 50000  บาท  ช่วงนี้กำลังรองบประมาณ  อาจารย์ขวัญฤดีได้วางแผนว่าอยากจะทำเพิ่มเติมในเรื่องเครื่องแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยแยกเป็นเครื่องแต่งกายพวกส่วย  พวกเขมร  พวกลาว  โดยจัดแสดงที่ตัวหุ่นทั้งชายและหญิง  อีกส่วนหนึ่งคือการจัดทำห้องฉายวีดีทัศน์สำหรับประมาณ  8-10 คน  ให้นักเรียนหมุนเวียนกันเข้ามาชม
 
สิ่งที่อาจารย์ขวัญฤดีมีความกังวลและเป็นห่วงคือ ความไม่เข้าใจในการเก็บรักษาและการเห็นในคุณค่าของการทำพิพิธภัณฑ์  ที่ผ่านมาเคยมีความเสียหายที่เกิดกับเกวียนที่ได้มาจากการบริจาค  ทั้งที่บอกว่านำมาจัดแสดงเพื่อประโยชน์กับนักเรียนได้ศึกษา  แต่พอถึงงานแห่เทียนพรรษา  ได้มีคนมายกเกวียนขึ้นรถ  แล้วเกวียนที่ลวดลายสวยแบบเก่าก็พังและสูญหาย  จึงอยากวอนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันอนุรักษ์
 
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ

ข้อมูลจาก  :  
สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน  พ.ศ.2553
ประวัติผ้าไหมสุรินทร์. http://suansanook.com/silk/?page_id=12  [Accessed  06/09/2010]
แผ่นพับประชาสัมพันธ์เรื่องประเกือม  โรงเรียนสิรินธร  จังหวัดสุรินทร์
ชื่อผู้แต่ง:
-