พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดชมภูเวก


วัดชมภูเวก เป็นวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อุโบสถเก่าและวิหารภายในมีภาพจิตรกรรมที่งดงามโดยเฉพาะภาพแม่พระธรณีบีบมวยผมที่เป็นส่วนหนึ่งหนึ่งของภาพมารผจญ ว่ากันว่าเป็นผลงานชั้นครูที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดชมภูเวก ริเริ่มก่อตั้งโดยพระสมุห์สุทธิพงษ์ สิริวฑฒโน เจ้าอาวาสวัดชมภูเวก และนายวีระโชติ ปั้นทอง ชาวท่าทราย นนทบุรี ที่ตระหนักในคุณค่ามรดกวัฒนธรรมของวัดและชุมชน โดยใช้พื้นที่ด้านบนของศาลาการเปรียญเป็นส่วนจัดแสดง และได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์พิศาล บุญผูก เป็นที่ปรึกษาในการดำเนินงานจัดทำพิพิธภัณฑ์ แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.ชุมชนท่าทราย 2.ประวัติและโบราณสถานวัดชมภูเวก 3.เอกสารโบราณของวัดชมภูเวก 4.ประณีตศิลป์และศิลปวัตถุ 5.เครื่องมือและของใช้ผู้คนในชุมชน โดยวัตถุสิ่งของชิ้นสำคัญอาทิ ธรรมาสน์ทรงบุษบก ตู้พระธรรมลายรดน้ำ คัมภีร์พระอภิธรรม เครื่องปั้นดินเผา

ที่อยู่:
วัดชมภูเวก ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.นนทบุรี
โทรศัพท์:
029671348
วันและเวลาทำการ:
กรุณานัดหมายล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2553
ของเด่น:
เอกสารโบราณวรรณกรรมภาษามอญ, ธรรมาสน์ทรงบุษบก, ตู้พระธรรมลายรดน้ำ
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดชมภูเวก

ชื่อผู้แต่ง: พิศาล บุญผูก | ปีที่พิมพ์: 2562

ที่มา: นนทบุรี: สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

แหล่งค้นคว้า: https://library.stou.ac.th/books-review/wat-chomphuwek/

โดย: ศมส.

วันที่: 01 พฤษภาคม 2564

ดูลิงค์ต้นฉบับ


ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดชมภูเวก

วัดชมภูเวก ตั้งอยู่ในย่านสนามบินน้ำ นนทบุรี แต่เดิมแถบนี้ชาวบ้านเรียกว่าบ้างบางตลาดท่าทราย หรือบ้านท่าทรายบางตลาด วัดชมภูเวกตั้งอยู่ฝั่งใต้ของคลองบางตลาดในตำบลท่าทราย  ย่านนี้เป็นชุมชนใหญ่ตั้งแต่อดีตย้อนไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา และเป็นชุมชนชาวมอญที่อาศัยอยู่ร่วมกันคนกลุ่มอื่นๆ ทั้งคนไทย คนจีน และคนมุสลิม  ปัจจุบันบ้านท่าทรายได้ขยายเป็นชุมชนใหญ่ โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกที่ติดต่อกับคลองประปา ส่วนบ้านท่าทรายที่เป็นชุมชนดั้งเดิมอยู่ทางทิศตะวันตกที่ติดต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีวัดชมภูเวก และวัดตำหนักใต้ เป็นวัดในชุมชน

ชื่อวัดนั้น ตามทำเนียบคณะสงฆ์ของกระทรวงธรรมดากร พ.ศ. 2448 มีหลักฐานชื่อว่า “วัดชมภูเวศ พระพ่วง เป็นเจ้าอาวาส”  มีผู้สันนิษฐานว่า “ชมภู” น่าจะหมายถึง ชมพูที่แปลว่า “ต้นหว้า” ส่วน “เวศ” นั้นหมายถึงพื้นที่หรือสถานที่ เค้าเดิมของชื่อวัดจึงสันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึงสถานที่ที่มีต้นหว้าอยู่

วัดชมภูเวก สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โบราณสถานเก่าที่สำคัญคือ อุโบสถหลังเก่าและวิหาร เป็นอาคารที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อุโบสถเก่าและวิหารไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ตามอาคารแบบศิลปะไทยแต่เดิม แต่มีรูปปั้นบุคคลครึ่งตัวพนมมืออยู่ตรงตำแหน่งที่เป็นช่อฟ้าและหางหงส์  อุโบสถเก่าเป็นโบสถ์มหาอุตม์คือผนังด้านหลังจะทึบไม่เจาะช่องประตู หน้าบันประดับด้วยลวดลายปูนปั้นเป็นรูปช่อดอกไม้พรรณพฤกษา ประดับด้วยเรื่องถ้วยจีน ภายในอุโบสถเก่าและวิหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม ที่โดดเด่นคือรูปพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่ผนังหุ้มกลองด้านหลังขนาบองค์พระประธานตามคติมอญ ผนังด้านหน้าตรงข้ามพระประธานเหนือขอบประตูเขียนภาพมารผจญ ภาพแม่พระธรณีบีบมวยผมที่ว่าเป็นว่าอ่อนช้อยงดงามที่สุด  ส่วนผนังด้านหน้าและด้านข้างระหว่างช่องประตูหน้าต่างเขียนภาพทศชาติชาดก

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดชมภูเวก

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดชมภูเวก ใช้พื้นที่ชั้นบนของศาลาการเปรียญเป็นพื้นที่จัดแสดง แนวคิดในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์มีมาตั้งแต่สมัยพระครูไพศาลภัทรกิจ อดีตเจ้าอาวาสองค์ก่อนที่ปกครองวัดมากว่า 50 ปี ท่านได้เก็บรักษาและดูแลวัตถุมีค่าของวัดที่มีมาแต่ดั้งเดิม  ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 ด้วยดำริของพระสมุห์สุทธิพงษ์ สิริวฑฒโน เจ้าอาวาสวัดชมภูเวกองค์ปัจจับน และนายวีระโชติ ปั้นทอง ลูกศิษย์วัดและเป็นชาวท่าทรายมาแต่ดั้งเดิม ที่ต้องการอนุรักษ์ข้าวของมีค่าของวัดและจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยหัวเรี่ยวหัวแรงหลักสำคัญในสำรวจและจัดทำทะเบียนวัตถุที่กระจัดกระจายอยู่ในกุฎิและอาคารต่างๆ ภายในวัด  รวมถึงการค้นคว้าข้อมูลเนื้อหาคือ อาจารย์พิศาล บุญผูก ผู้เชี่ยวชาญด้านมอญศึกษาและเจ้าของพิพิธภัณฑ์บ้านกวานอาม่าน ปากเกร็ด และคุณวรนุช สุนทรวินิต จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

อาจารย์พิศาล บุญผูก ยังได้ให้ความกรุณาผู้เขียนในการนำชมพิพิธภัณฑ์อีกด้วย  โดยทางวัดได้บูรณะศาลาการเปรียญและอุทิศชั้นบนให้เป็นพื้นที่จัดแสดงของพิพิธภัณฑ์  โดยส่วนตัวเห็นว่าอาจแบ่งการจัดแสดงออกเป็นเรื่องใหญ่ๆ สองเรื่องคือ วัด และชุมชนท่าทราย 

รูปแบบการจัดแสดงจะมีแผ่นป้ายนิทรรศการขนาดใหญ่ที่เขียนบรรยายเรื่องราว และจัดแสดงวัตถุสำคัญที่เกี่ยวข้อง แบ่งแยกเป็นมุมและหมวดหมู่เรื่อง  โดยเกินกว่าครึ่งจะเป็นเรื่องราวและวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับวัดและพุทธศาสนา เริ่มจากประวัติและโบราณสถานสำคัญของวัด  วัตถุชิ้นสำคัญของวัด อาทิ เอกสารโบราณที่เป็นสมุดไทย สมุดฝรั่ง สมุดข่อย ทั้งภาษามอญและไทย  ตู้พระธรรม พระพุทธรูป ธรรมาสน์ทรงบุษบก ภาพถ่ายเก่าของวัด เครื่องปั้นดินเผา

วัตถุชิ้นเด่นที่แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นวัดมอญมาแต่เดิม คือคัมภีร์ใบลานภาษามอญเรื่อง “เมฆะลูกกวาง” ซึ่งเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านของมอญ ที่มีอยู่ที่วัดชมภูเวกเพียงแห่งเดียว เป็นนิทานคติธรรมสอนใจ แต่งขึ้นเมื่อราว 170 ปีมาแล้ว โดยหมอคลาย หมอแผนโบราณชาวมอญ ที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากที่บ้านเกาะเกร็ด นนทบุรี นอกจากนี้ยังมีหีบคัมภีร์ศิลปะมอญ  คัมภีร์พระอภิธรรมที่เขียนบนสมุดข่อย ภาษาบาลี อักษรมอญ คัมภีร์พระมาลัย เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีวัตถุที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับอดีตเจ้าอาวาส ที่แสดงให้เห็นความสำคัญของวัดมีสัมพันธ์แนบแน่นต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านมอญในอดีต ในอดีต อาทิ ขันสาครที่สันนิษฐานว่าหลวงพ่อฟ้าผ่าอดีตเจ้าอาวาสใช้ประกอบพิธีปลุกเสกน้ำพระพุทธมนต์ในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่ข้าราชการที่เป็นคนมอญในเมืองนนทบุรี ต้องมาทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาประจำปีในสมัยต้นรัตนโกสินทร์

แม่พิมพิ์พระโคนสมอ ที่สร้างโดยพระครูไพศาลภัทรกิจ อดีตเจ้าอาวาสองค์ก่อน พระโคนสมอเป็นพระพิมพ์สมัยอยุธยา นิยมนำพระพิมพ์นี้ไปติดบนแผงที่จำหลักลายลงรักปิดทอง และเพื่อเป็นการอนุรักษ์ไว้ซึ่งภูมิปัญญาดั้งเดิม ในปี พ.ศ. 2561 ทางวัดจึงได้นำแม่พิมพ์พระโคนสมอนี้มาใช้สร้างพระพิมพ์ดินเผาที่สวยงามจำนวน 84,000 องค์ เท่าจำนวนพระธรรมขันธ์ในพระไตรปิฎก

ภูมิปัญญาการสานเข่งปลาทูที่บ้านท่าทราย

มุมเล็กๆ ของพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชุมชนท่าทราย ที่น่าสนใจคือชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนแห่งการทำเข่งปลาทู! มาเนิ่นนานกว่า 200 ปี  แต่ปัจจุบันยังคงเหลือทำกันไม่กี่ครัวเรือน  เพราะต้องใช้ทักษะความชำนาญในการจักตอก สานและขึ้นรูปเข่ง เป็นงานที่ใช้เวลาและอาศัยความอดทนในการทำ

นอกเหนือจากอุปกรณ์เลื่อยไม้ไผ่ กบไสไม้ไผ่ที่จัดแสดงแล้ว  ยังมีเข่งปลาทูที่จัดแสดงนั้นไว้ 3 แบบคือ “เข่งพวง” เป็นเข่งใบเล็ก รูปร่างคล้ายกระจาดใส่ปลาทูตัวเล็กได้หนึ่งตัว เข่งแบบนี้เรามักไม่ค่อยได้เห็นกันเพราะไม่เหมาะกับการขนส่ง อาจทำให้ปลาทูเสียรูปได้  ทำให้พัฒนาเป็น “เข่งขอบ” ขนาดต่างๆ ขึ้น โดยใส่ไม้วงหักขึ้นรูปเป็นขอบเข่งผูกติดด้วยหวายตะค้าจำนวน 6 เปลาะ แต่ปัจจุบันนิยมใช้พลาสติกเส้นมัดแทนเพราะหาง่ายและราคาถูก  สุดท้ายคือ “เข่งตะแกรง” รูปร่างคล้ายเข่งขอบแต่มีขนาดใหญ่กว่า คือเส้นผ่าศูนย์กลาง 35 เซ็นติเมตร ขอบสูง 5 เซ็นติเมตร ใส่ปลาทูได้มากถึง 15 ตัว

เข่งตะแกรงนี้เรียกได้ว่า เป็นนวัตกรรมของชุมชนบ้านท่าทราย ที่ทำโดยนายเอี๋ยว แซ่อึ้ง คนสานเข่งบ้านท่าทราย ต่อมานายวรรณะ  เชียงทอง รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาการสานเข่งปลาทูนี้สืบต่อมา

นอกจากนี้ยังมีมุมจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในอดีตของคนในชุมชนที่แสดงถึงความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมของผู้คนเชื้อสายทั้งไทย จีน และมอญ  อาทิ  เครื่องมือช่างไม้ หินบดยา หม้อต้มยา ตาชั่ง ตะเกียงรูปแบบต่างๆ  เครื่องทองเหลือง หม้อข้าวหม้อแกงดินเผา โถพลู ไหกระเทียม กระปุกเต้าเจี้ยว โอ่งน้ำและหม้อน้ำดินเผา อุปกรณืในการประกอบอาหารจำพวกทัพพี กระจ่า โม่หิน กระต่ายขูดมะพร้าว เครื่องทำลอดช่อง แม่พิมพ์ขนมข้าวตู แม่พิมพ์ขนมกุยช่าย หม้อชงกาแฟ ไม้นวดงวงตาล เป็นต้น

นอกเหนือจากพิพิธภัณฑ์แล้ว ในวัดชมภูเวกยังมีโบราณสถานที่ไม่ควรพลาดการเยี่ยมชม ทั้งอุโบสถหลังเก่า วิหาร และจิตรกรรมฝาผนังอันวิจิตรภายใน   เจดีย์มุตาวที่ถือเป็นเจดีย์มอญที่งามที่สุดแห่งหนึ่งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มณฑปพระพุทธบาทที่ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทศิลาสมัยสุโขทัย ทำจากหินชนวน ครอบไว้ด้วยบุษบกที่สวยงาม  

อาจารย์พิศาล บุญผูก ปราชญ์ด้านมอญศึกษา ทิ้งท้ายข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า แม้วัดชมภูเวกจะเรียกได้ว่าเป็นวัดกลางเมือง มีชุมชนหนาแน่นทั้งคนดั้งเดิมและคนที่เข้ามาใหม่  แต่ความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชนยังคงใกล้ชิดและดำเนินไปได้ด้วยดี   ทำให้ประเพณีท้องถิ่นบางอย่างกลับมาฟื้นฟูและดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ ตักบาตรน้ำผึ้ง งานเทศน์มหาชาติ พิธีกวนข้าวทิพย์ เป็นต้น และพื้นที่โดยรอบทั้งโบราณสถานที่สำคัญสามารถดูแลรักษาได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม


ข้อมูลจาก:

การสำรวจภาคสนาม วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2564

พิศาล บุญผูก และวีระโชติ ปั้นทอง. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดชมภูเวก. นนทบุรี: สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2562.

ชื่อผู้แต่ง:
ปณิตา สระวาสี