ที่อยู่:
วัดเกาะเเก้วประชานุรักษ์ หมู่ 2 บ้านวังบอน ตำบลชัยนาม อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก
โทรศัพท์:
055-228529 พระครูศุภกิจจาภิมณฑ์, 089 567 7972 อาจารย์สมทรง ศรทรง , 084 820 4359 ลุงละม่อม สมบูรณ์, 087 205 9378 ผู้ใหญ่บุญธรรม เนียมแสง
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดเกาะแก้วประชานุรักษ์
“อยากให้เขารู้ที่มา เมื่อก่อนพ่อแม่อยู่อย่างไร บางคนชอบฟัง บางคนไม่ดู”
ลุงละม่อม สมบูรณ์
“เราทำให้ดูไว้ว่าวิถีชีวิตแต่เดิมเป็นอย่างไร การประมง เขาหาปลาอย่างไร
ดักปลากรด ปลาไหลอย่างไร ข้องเป็นอย่างไร”
อาจารย์สมทรง ศรทรง
อาจารย์สมทรง ศรทรง หนึ่งในผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดเกาะแกวประชานุรักษ์กล่าวถึงการเริ่มต้นการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเมื่อราว พ.ศ. 2542 เดิมทีเป็นพิพิธภัณฑ์ของเก่า วัดเกาะแก้วฯ การทอดผ้าป่าของเก่าและนำเสนอง่ายๆ จากนั้น เมื่อราว พ.ศ. 2552 สภาวัฒนธรรมอำเภอวังทอง โดยอาศัยงบประมาณจากส่วนสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลกดำเนินโครงการ และยกให้เป็น “ศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน”
ทางวัดเกาะแก้วประชานุรักษ์จึงดำเนินโครงการต่างๆ ตามที่กำหนดในบทบาทและหน้าที่ของศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ด้วยความร่วมมือกับโรงเรียนวัดชัยนาม โรงเรียนบ้านบึงพร้าว โรงเรียนวังทองวิทยาคม ในการจัดกิจกรรมร่วมกัน อันประกอบด้วยลานบุญลานปัญญา และการถ่ายทอดความรู้เกี่ยววัฒนธรรมในท้องถิ่น อาจารย์สมทรง ให้รายละเอียดเพื่อเติมเกี่ยวกับการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ “ในระยะเริ่มแรก ยังไม่มีอาคารถาวรดังที่เห็นในปัจจุบัน ในเวลานั้นยังไม่เกษียณอายุราชการ ได้ทำโครงการร่วมกับวัดและทางจังหวัด จนได้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เรียกได้ว่ามาจากความร่วมมือของคณะกรรมการวัด ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และพระสงฆ์”
ผู้ใหญ่บุญธรรม เนียมแสงยังกล่าวเสริม “วัดเกาะแก้วประชานุรักษ์เป็นศูนย์อบรมประชาชนประจำตำบล และในแต่ละปี มีการจัดกิจกรรมของเครือข่ายพระสงฆ์ในระดับตำบล ประกอบด้วยการออกร้านเหมือนกัลงานแฟร์ แต่ละหมู่บ้านนำเสนอ “ของเด่น” และอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชน พ่อค้า” ครูสมทรงยกตัวอย่างของเด่นที่เคยนำเสนอในงานแฟร์ เช่น ขนมอีตุ่ย กล้วยฉาบ การสานชะลอม มะม่วง การทำส้มแผ่น เป็นต้น ครูสมทรงยังได้กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์พิพิธภัณฑ์ในลักษณะทั่วไป นั่นคือ การมอบหมายให้เด็กเข้ามาศึกษา เด็กๆ จะต้องไปทำรายงานส่ง ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเป็นคนให้ความรู้ แต่พิพิธภัณฑ์ไม่มีระบบมัคคุเทศก์น้อย ต้องอาศัยคนที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องนั้นเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราว
“เรายังไม่ถึงจุดสูงสุด อยากให้ใครมาเห็นแล้วก็ว่าเป็น ‘พิพิธภัณฑ์มีชีวิต’เป็นความปรารถนาของกรรมการ ใครเห็นก็อยากมาเที่ยว” ผู้ใหญ่บุญธรรม เนียมแสงให้ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานตั้งแต่การจัดตั้ง เมื่อผู้เขียนสอบถามคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำว่า “มีชีวิต” อาจารย์สมทรง ศรทรง ให้ความหมายไว้ว่า “ต้องมีเอกสารประกอบการให้ข้อมูล ในส่วนนี้ ตนเองเริ่มทำไว้จำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่สำเร็จ ในเอกสาร ต้องบอกเรื่องราวชีวิตทั้งหมด และนำเสนอไว้ในแต่ละจุด ต้องบรรยายในแต่ละส่วน คนโบราณเขาทำอย่างไร แต่เราไม่มีงบประมาณเรานอกจากนี้ ยังต้องการพัฒนาการจัดแสดงขั้นตอนชีวิตต่างๆ เช่น การคลอดบุตร อาจจะต้องมีเปล มีที่นอน แต่ในส่วนนี้จะต้องใช้งบประมาณมาก”
จากนั้นลุงละม่อม สมบูรณ์ และคณะเริ่มชวนให้ผู้เขียนดูส่วนต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดเกาะแก้วประชานุรักษ์ อาคารของพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบันเป็นอาคารชั้นเดียว จัดแสดงไว้เป็นสองส่วนอย่างชัดเจน ในส่วนหนึ่ง แสดงให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ ด้วยการนำเสนอเครื่องมือดักสัตว์ เครื่องมือประมง เครื่องการเกษตร และการจำลองครัวไฟในฉากของเรือนหลังน้อย
“อาชีพชาวนาที่หากินตามที่ตื้น เช่น การใช้ลอบกับคันนา ชาวนาจะวางลอบนอน และปลาลงเข้ามาอย่างเดียว ข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้ผมเห็นตั้งแต่เกิดมา ตุ้มแบบนี้ใช้ดักปลาแม่น้ำ เช่น ดักปลาสร้อย ในเดือนสี่ ห้า หก เวลาดักต้องหันหน้าไปทางทิศตะวันตก และเอาลำผสมปิดฝา พออปลาได้กลิ่นอาหาร ปลาจะเข้ามา เมื่อเข้ามาไม่สามารถหาทางได้ ส่วนตุ้มตัวนี้ใช้ดักปลาเดือนสิบเอ็ดเดือนสิบสอง เรียกว่า ‘ตุ้มแรม’ต้องดักเอาไว้สามวันถึงจะไปกู้ขึ้น ได้ปลาราวสิบโลยี่สิบโล” นอกจากนี้ ลุงละม่อมยังให้ความรู้เกี่ยวกับข้องใส่ปลา แอบที่ใช้ดักกบในช่วงก่อนการเก็บเกี่ยวข้าว โดยใช้เหยื่อใช้ปลาสิว “ซ่อน” ที่ใช้ดักปลาหมอปลาช่อน กรงนกเขานกคุ้ม เป็นต้น
จากนั้น อธิบายเกี่ยวกับฉากจำลองบ้านสมัยโบราณ และให้คำอธิบายถึงส่วนประกอบต่างๆ ของเรือน “นอกชานมีครัวไฟ ก้อนเสาเตาไฟ ทุกอย่างมีในครัว พอทำเสร็จก็มีที่เก็บเรียกว่าเป็นการทำครัวง่ายสมัยโบราณ แต่เดี๋ยวนี้ง่ายกว่า เพราะไม่ต้องใช้ฟืน” ลุงละม่อมกล่าว และในส่วนสุดท้าย ก่อนเข้าสู่ส่วนนิทรรศการที่สอง เป็นความรู้เกี่ยวกับกับเกษตรกรรม คลุบ คราดคู่ คราดเดี่ยว ไถ่ กระด้ง ระหัดวิดน้ำ แต่จุดสนใจในส่วนการจัดแสดงนี้คือ กระจาดขนานใหญ่ที่ใช้ในขบวนแห่งานแห่กระจาดใหญ่ ซึ่งเป็นงานประจำปีของตำบล
อาจารย์สมทรงกล่าวถึงกระจาดใหญ่ซึ่งเป็นงานประเพณี งานดังกล่าวจัดขึ้นในวันเพ็ญเดือนสิบสอง โดยแต่ละหมู่บ้านในตำบลชัยนาม รวมตัวกันแห่กระจาดใหญ่ โดยมาช่วยกันหาบมีลักษณะคล้ายกับการใส่ของทำบุญในงานผ้าป่า มีพุ่มเงิน แต่ละหมู่บ้านจะมีจุดที่รับของทำบุญ เรียกได้ว่าเป็นประเพณีสำคัญของชุมชน ข้าวของที่ใส่ทำบุญ เช่น กล้วย อ้อย หนังสือ “ด้ายเข็ม ให้เรามีความรู้ความสามารถ” ลุงละม่อมกล่าวเสริม อาจารย์สมทรงกล่าวด้วยว่า “นอกจากกระจาดใหญ่ ยังมีชะลอมเล็กที่แต่ละท่านถวาย กระจาดใหญ่เป็นเงินทำบุญเข้าวัด ส่วนของที่ได้จากการทำบุญท่านพระครูฯ จะแจกเด็กๆ ในชุมชน” นอกจากนี้ ยังมีประเพณีการแข่งเรือที่จัดขึ้นในเดือนเมษายนทุกปี
ส่วนที่สองของนิทรรศการเป็นการนำเสนอในลักษณะของกลุ่มวัตถุ ประกอบด้วยเครื่องอิเลคทรอนิกส์ที่ไม่ได้ใช้งาน ไหและเครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือช่างไม้และตาชั่ง หนังสือพับตำรายาต่างๆ เครื่องใช้ในครัวเรือน รางบดยา เครื่องโลหะ เครื่องดนตรีพื้นบ้านและแผ่นเสียง เงินตรา พระพิมพ์และพระเครื่อง มุมห้องสมุด ตามผนังห้องยังมีการนำเสนอกิจกรรมต่างๆ ในวันสำคัญต่างๆ ผู้รับผิดชอบในหน้าต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ ในปัจจุบัน วัดสร้างอาคารเพิ่มเติม เพื่อเป็นอาคารอเนกประสงค์ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับอาคารพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน เมื่อผู้เขียนสอบถามถึงความตั้งใจในอนาคต คณะกรรมการบางส่วนกล่าวถึงการพัฒนารูปแบบการนำเสนอวงจรชีวิตของคนในอดีต ทั้งการเกิด แต่งงาน เพื่อบอกเล่าวิถีชีวิตดั้งเดิม และคนรุ่นหลังได้เข้าใจความเป็นมาของคนรุ่นก่อนไม่มากก็น้อย
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2558
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
เครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือการเกษตร เครื่องมือดักสัตว์ เครื่องใช้พื้นบ้าน
พิพิธภัณฑ์แก้วมุกดาพาณิชย์
จ. พิษณุโลก
พิพิธภัณฑ์บัญชา
จ. พิษณุโลก
พิพิธภัณฑ์เมืองพิษณุโลก
จ. พิษณุโลก