พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดกำแพงมณี


ที่อยู่:
วัดกำแพงมณี เลขที่ 28 หมู่ 6 ตำบลโคกสลุด อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก
โทรศัพท์:
063 403 8165 (พระอธิการมานะ ธนปปาโล )เจ้าอาวาสวัดกำเเพงมณี
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2534
ของเด่น:
ธรรมมาสน์สวดปาติโมกข์,พระพุทธรูปไม้โพธิ์
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 02 กันยายน 2558

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดกำแพงมณี


“การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน มีความคิดว่าของเก่า
ภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้านสูญหายไป
คิดว่าควรมีการรวบรวมไว้ที่วัดเพื่อให้อยู่ยั่งยืน
หากอยู่ตามบ้านแล้วอาจเสื่อมสูญได้”

 
พระครูผาสุกิจวิจารณ์ เจ้าอาวาสวัดกำแพงมณี กล่าวเริ่มต้นบทสนทนาเกี่ยวกับที่มาของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดกำแพงมณีเมื่อแรกจัดตั้ง พ.ศ. 2534 โดยเป็นการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลกในโครงการบูรณาการฯ และลานธรรมลานวิถีไทย เช่นเดียวกับอีกหลายสิบวัดในจังหวัดพิษณุโลก ท่านพระครูฯ ไล่เรียงให้เห็นรูปแบบการทำงาน “ทางวัดได้จัดตั้งผู้นำฝ่ายสงฆ์ ฆารวาส แล้วประกาศให้ประชาชนนำของเก่ามาไว้ที่ศูนย์ฯ โดยเราใช้ศาลาการเปรียญหลังเก่าเป็นที่เก็บ ได้ดำเนินการมาของส่วนราชการโดยวัฒนธรรม โดยส่วนของคณะสงฆ์ และชาวบ้าน

...เราได้มีการศึกษาเรียนรู้แต่ละชิ้นงานที่ชาวบ้านนำมาสะสมเอาไว้ พวกนักศึกษา นักเรียน ข้าราชการ คณะสงฆ์ มาเรียนรู้ เรามีมัคคุเทศก์ค่อยแนะนำ สิ่งนี้ชื่ออะไร ประโยชน์ อายุกี่ปี เป็นการรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้านโบราณ เพื่อได้เป็นพิพิธภัณฑ์ของเก่า เพราะต่อไปข้างหน้า บางอย่างหายไป เก็บรวมไว้ในที่เดียวกัน ในที่วัด จะอยู่ยงคงกะพัน หากอยู่ที่บ้าน อาจไม่รู้คุณค่า” ทางวัดยังได้จัดตั้งคณะกรรมการผู้ทำหน้าที่ดูแลอย่างเป็นทางการ

ท่านพระครูฯ กล่าวถึงประเภทวัตถุที่ได้รับ ประกอบด้วยเครื่องมือการเกษตร การทำกิน อุปกรณ์ ยาสมุนไพร ตะเกียงโบราณ เตารีด รางบดยา สีฝัด เครื่องมือประมง พวกลอบ ไซ เบ็ดคู่ เบ็ดเดี่ยว หรือว่าจั่น ของเก่าๆ ที่ชาวไร่ชาวนา เอาไปดักปูปลา แห่ อวน นี่ยังเก็บเข้าไป เอาเข้าพิพิธภัณฑ์ไว้ มีหลายอย่าง เกี่ยวกับเครื่องมือประมง เครื่องมือเกี่ยวกับเครื่องครัว การปรุงอาหาร เตาถ่านเตาโบราณ พวกกระต่ายขูดมะพร้าว พวกเขียงหั่นผัก หมู พวกกละ ทนาน ที่ใช้ลูกมะพร้าวตักข้าวตักน้ำ วัตถุเหล่านี้ได้รับบริจาคจากชาวบ้านและมีการลงทะเบียน ได้แก่ ชื่อผู้บริจาค ชื่อเรียกวัตถุ อายุ และคงดำเนินการสะสมอย่างต่อเนื่อง ท่านพระครูฯ กล่าวไว้ตอนหนึ่ง

เมื่อสำรวจการนำเสนอภายในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดกำแพง วัตถุได้รับการจัดไว้เป็นกลุ่มๆ ตามประเภทวัตถุจากทางขึ้นศาลาการเปรียญ ทางซ้ายมือจะเป็นวัตถุที่เกี่ยวข้องกับศาสนา รูปเคารพ โกฏเดิม เครื่องทองเหลืองประเภทเชี่ยนหมาก ตะบันหมาก ภาชนะใส่อาหาร ตะเกียงไส้ จากนั้นเป็นกลุ่มของเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องเคลือบ บ้างมีสภาพสมบูรณ์ บ้างมีรอยแตก หลายชิ้นปรากฏป้ายแสดงชื่อผู้บริจาค จากนั้น เป็นอุปกรณ์ช่างไม้ วัตถุทั้งหมดได้รับการจัดเก็บไว้บนตู้ โดยมีลักษณะที่แตกต่างกัน โดยเป็นชั้นที่ต่อขึ้นอย่างง่ายๆ โครงเหล็กฉากและแผ่นไม้อัด บ้างเป็นตู้ไม้เนื้อแข็งที่น่าจะเป็นเครื่องเรือนที่เคยใช้งานมาก่อน

ทางขวาของศาลาฯ เป็นเครื่องใช้อิเล็คทรอนิกส์ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว โทรทัศน์ วิทยุ นาฬิกาแขวน อายุของกลุ่มวัตถุนี้อยู่ในราว 30-50 ปี นอกจากนี้ยังพบวัตถุที่อื่นๆ ได้แก่ คันชั่ง ตระกร้า กระบุง ถาดทองเหลือง ตาลปัตร สำหรับผู้เขียนวัตถุที่น่าสนใจอย่างยิ่งได้แก่ ภาพเขียนแสดงให้เห็นบริเวณหน้าวัด พระสำรวยที่นำชมและดูแลพิพิธภัณฑ์ แม้เพิ่งจะบวชเป็นพระได้ไม่กี่พรรษา แต่เป็นคนในพื้นที่และช่วยงานวัดมาตั้งแต่ยังเยาว์ ได้ให้คำอธิบายถึงความสำคัญของภาพ ที่ไม่สามารถระบุผู้วาดหรือระยะเวลาของผลงาน โดยสรุปนั่นคือ เส้นทางคมนาคมสำคัญที่เป็นการล่องเรือเมล์จากอำเภอบางกระทุ่มไปยังจังหวัดพิษณุโลก ในระยะราวห้าสิบปี แม่น้ำคงเป็นเส้นทางสำคัญ ประสบการณ์ของพระสำรวย ในการใช้ลำน้ำได้แก่ การเก็บของเก่าจากครัวเรือนต่างๆ ไปขายให้กับร้านรับซื้อของเก่าที่ตัวจังหวัด และเคยใช้คันชั่งที่ปรากฏในพิพิธภัณฑ์สำหรับชั่งและจ่ายเงินให้กับผู้ที่มาขายของเก่าเหล่านั้น

เมื่อผู้เขียนถามถึงประโยชน์ของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดกำแพงมณี พระครูฯ กล่าวว่า “วัดกำแพงมณีเป็นแหล่งการอบรมธรรมะ มีข้าราชการ นักเรียน พระ เณร มาแล้วก็มาเรียนรู้ เพื่อเอาไปเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณ ปราชญ์ชาวบ้าน กลุ่มโรงเรียนพากันมาศึกษา เรียนนอกห้องเรียน เวลามีอบรมค่ายธรรมะ คุณธรรม เราจัดเวลาให้เขาไปศึกษาดูเป็นชั่วโมงศึกษา บางทีมาจากต่างจังหวัดบ้าง พอเห็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นไปดู นักศึกษาอยากรู้บางอย่างที่เขาทำรายงาน เห็นว่าเรามีของอย่างนี้”

พระครูฯ ยกตัวอย่างเครื่องสีฝัดข้าว “เมื่อก่อนนี้เวลาเกี่ยวข้าวจะแยกเม็ดข้างฝางออกจากกัน โดยใช้คนหมุน มีใบเป็นกังหัน เอาข้าวใส่ ลมตีเม็ดข้าวออกข้าง ฟาง ข้าวลีบ ไปอีกข้าง แถวนี้ทำการเกษตรมาก เมื่อก่อนไม่มีรถนวด รถเกี่ยว เขาใช้ภูมิปัญญาตรงนี้ อีกหลายอย่าง ...ในปัจจุบัน บางที่เอาไปใช้ก็มี เกี่ยวกับงานเกษตร บางทีที่ต้องการประหยัดเงิน ใช้สีฝัดในการฝัดข้าวบ้าง ข้าวโพดบ้าง ถั่วบ้าง”

พระครูฯ ยังกล่าวถึงการบอกเล่าเรื่องราวด้วยมัคคุเทศก์ “ทั้งพระทั้งฆารวาส โดยส่วนหนึ่งถ่ายทอดจากประสบการณ์ของตนเอง แล้วอีกส่วนหนึ่งพวกเด็กรุ่นใหม่ศึกษาและบรรยายให้เขาฟัง คนเก่าเคยใช้เขาก็พูดถูก พวกใหม่มาก็มาฝึกอบรมให้ทำหน้า เป็นพวกนักเรียนเยาวชน โรงเรียนวัดย่านยาว กลุ่มธรรมศึกษา เราให้เขาเรียนรู้ตัวนี้ ฝึกไว้เป็นมัคคุเทศก์ เรามีงานอบรมตลอด” นอกจากนี้ พระครูยังได้อธิบายถึงรูปแบบการใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น คนมาศึกษาตำรายา บันทึกตัวยาและสมุนไพร

เมื่อผู้เขียนถามถึงภาพรวมของพิพิธภัณฑ์ ท่านพระครูแสดงความพอใจ “ประสบความสำเร็จพอสมควร คือที่ประสบความสำเร็จ ของเก่าสะสมไว้ที่วัด ชาวบ้านเห็นดีด้วย ประการที่สอง พวกที่ต้องการอยากเรียนรู้ สามารถมาค้นคว้า นับเป็นการเผยแผ่วิชาว่าคนโบราณคนเก่าแก่ทำมาอย่างนี้ บางอย่างเป็นการช่วยเก็บ บางอย่างนำมาใช้ได้
...แต่ไม่ได้ประสบความสำเร็จไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่ยังไม่ร้อยเปอเซ็น คนไปเหอของใหม่ บางอย่างของเก่ายังใช้ได้ แต่เดี๋ยวนี้ใช้เงินซื้ออย่างเดียว ของใหม่หมด ทำยังไงให้เราย้อนไป ไร่นาสวนผสม ‘ปลูกที่กิน กินที่ปลูก’กล้วยห้าหนอ มะละกอห้าต้น อยู่รอดแล้ว แบ่งกันกินที่เหลือขายเป็นเงิน หากย้อนไปโบราณ มีหมด ของกินของใช้ ทำเองโดยใช้ปัญญา ถ้าเราทำไงสอนให้พอดี เดินสายกลาง ไม่ต้องหาเงินอย่างเดียว ไม่ทุกข์มาก อยากกินอะไรก็ปลูก”

โดยรวมแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดกำแพงมณีนับเป็นโครงการรับลูกจากหน่วยงานราชการ และยังคงได้รับงบประมาณบ้างตามสมควรในการจัดกิจกรรมนิทรรศการที่ได้รับรวมกลุ่มพิพิธภัณฑ์ในวัดของจังหวัดตามที่พระครูฯ ได้ว่าไว้ แต่สิ่งที่ชวนให้ผู้เขียนสรุปไว้เป็นบทเรียนนั่นคือ พิพิธภัณฑ์วัดจำนวนหนึ่งทำหน้าที่เป็นบทเรียนทางศีลธรรม มากกว่าการสืบค้นความรู้หรือประวัติศาสตร์ในแบบวิชาการ เนื้อหาต่างๆ ที่ท่านพระครูฯ กล่าวไว้ในฐานะผู้ร่วมก่อนตั้ง แสดงให้เห็นความพยายามในการสร้างสำนึกตามภาพของการครองตนของพุทธศาสนิกชน ความเคารพ ความประหยัด ความมัธยัสถ์ “ภูมิปัญญา” ที่ท่านกล่าวไว้ในหลายคำรบ ดูจะหมายถึงหลักทางศีลธรรมที่ชาวพุทธพึงปฏิบัติ.

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม วันที่ 23 ธันวาคม 2558
ชื่อผู้แต่ง:
-