ชุมชนบ้านท่าตะเคียนเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกไปทางตอนเหนือประมาณ 4 กิโลเมตร ชื่อของชุมชนแห่งนี้มาจากแต่เดิมเคยมีต้นตะเคียนขนาดใหญ่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่านใกล้กับท่าน้ำใหญ่ของชุมชน จึงมีการเรียกชื่อชุมชนแห่งนี้ว่า “บ้านท่าตะเคียน” ประวัติความเป็นมาของชุมชนบ้านท่าตะเคียนได้มีนักวิชาการหลายคนเข้ามาศึกษาสืบค้น จากการศึกษาพบว่า บรรพบุรุษของผู้คนในชุมชนบ้านท่าตะเคียนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนและอพยพเข้ามาภายหลังศึกเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์ พ.ศ.2370 ซึ่งตรงกับหลักฐานร่วมสมัยที่ระบุว่ามีกลุ่มชาวลาวจำนวนหนึ่งถูกกวาดต้อนเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่เมืองพิษณุโลก นอกจากชุมชนบ้านท่าตะเคียนแล้ว ยังพบว่าชุมชนบ้านแสงดาวซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงก็เป็นกลุ่มชาวลาวเช่นเดียวกัน การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวลาวกลุ่มนี้ได้เข้ามาตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งเคยเป็นชุมชนโบราณราวพุทธศตวรรษที่ 20-23 มาก่อน ดังปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีมากมายภายในเขตชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในวัดท่าตะเคียน ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญของชุมชน เช่น ซากโบสถ์ แต่เดิมพบร่องรอยของฐานโบสถ์เก่าขนาดย่อม ก่อด้วยอิฐ ต่อมาได้มีการสร้างโบสถ์หลังใหม่ทับลงในตำแหน่งโบสถ์เก่า ซากวิหาร อยู่ทางทิศเหนือของโบสถ์ มีร่องรอยของฐานวิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยอิฐและใช้เสาศิลาแลง ภายในวิหารมีพระพุทธรูปปูนปั้นประดิษฐานเป็นพระประธาน ปัจจุบันมีสร้างวิหารใหม่ครอบทับแล้ว หลวงพ่อทองสุข เป็นพระประธานภายในวิหาร เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกลงสู่แม่น้ำน่าน เดิมทีนั้นองค์หลวงพ่อทองสุขอยู่ในสภาพชำรุด ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ทำให้รูปแบบพุทธศิลป์เปลี่ยนแปลงไปจึงไม่สามารถศึกษาพุทธศิลป์และกำหนดอายุของหลวงพ่อทองสุขได้ ใบเสมาหินชนวน รอบโบสถ์วัดท่าตะเคียนมีใบเสมาหินชนวนปักอยู่โดยรอบ บางใบมีการแกะสลักลวดลายอย่างสวยงาม เมื่อพิจารณาจากรูปแบบศิลปะแล้ว สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 21-23 และเมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบต่างๆ มีความเป็นไปได้ว่าใบเสมาเหล่านี้น่าจะเป็นใบเสมาที่ปักอยู่รอบซากโบสถ์เก่าภายในวัดท่าตะเคียนมาแต่เดิม นอกจากนี้ ภายในบริเวณชุมชนบ้านท่าตะเคียนยังพบเศษภาชนะดินเผาทั้งแบบเคลือบน้ำยาและแบบธรรมดา กระจายอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาชนะดินเผาที่ผลิตจากแหล่งเตาตาปะขาวหายซึ่งชาวบ้านได้นำบางส่วนที่มีสภาพดีมาเก็บรวบรวมไว้ในวิหารหลวงพ่อทองสุขซึ่งมีการจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์วัดท่าตะเคียน ตั้งอยู่ภายในวัดท่าตะเคียนโดยมีการดัดแปลงวิหารหลวงพ่อทองสุขให้เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จัดแสดงโบราณวัตถุและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่พบภายในเขตชุมชนและมีผู้นำมาถวายวัดท่าตะเคียน โบราณวัตถุและข้าวของเครื่องใช้ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดท่าตะเคียนมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น พระพุทธรูป ภายในพิพิธภัณฑ์วัดท่าตะเคียนมีพระพุทธรูปสำริดปางต่างๆ ศิลปะอยุธยาตอนปลายและรัตนโกสินทร์ตอนต้นขนาดต่างๆ ประดิษฐานอยู่ในตู้จัดแสดงและบนฐานชุกชีหลวงพ่อทองสุข พระพุทธรูปส่วนใหญ่เป็นฝีมือสกุลช่างท้องถิ่นพิษณุโลก ตู้และหีบพระธรรม ทำด้วยไม้ลงรักปิดทองลายรดน้ำ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 24 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ลายรดน้ำส่วนใหญ่ทำเป็นเรื่องราวพุทธประวัติ และลายดอกต่างๆ เอกสารโบราณ เป็นสมุดไทย ทั้งสมุดไทยดำและไทยขาว ตลอดจนเอกสารใบลาน ส่วนใหญ่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับตำรายาพื้นบ้าน คาถาอาคม เรื่องราวทางพระพุทธศาสนาและวรรณกรรมทั่วไป ตัวอักษรที่ใช้เป็นอักษรไทย มีอักษรขอมและอักษรธรรมบ้างเล็กน้อย นอกจากนี้ ยังมีเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการพระราชทานเขตวิสุงคามสีมาของวัดท่าตะเคียนเมื่อปี ร.ศ.124 (พ.ศ.2448) จัดแสดงอยู่อีกด้วย เอกสารโบราณเหล่านี้ได้รับการคัดแยกเป็นหมวดหมู่ รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นและเปลี่ยนผ้าห่อใหม่โดยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร อาจารย์และนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยนเรศวรและมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ภาชนะดินเผาและข้าวของเครื่องใช้โลหะ ภายในพิพิธภัณฑ์วัดท่าตะเคียนมีภาชนะดินเผาจัดแสดงอยู่ภายในตู้จัดแสดงจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นเครื่องลายครามและเครื่องเบญจรงค์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 24 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 25 เช่น กาน้ำร้อน ถ้วยชาม ถ้วยน้ำชา พานและกระโถน เป็นต้น ส่วนข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นโลหะก็จะทำด้วยสำริดและทองเหลือง เช่น พาน ขัน กาน้ำและเต้าปูน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีพระพิมพ์ ตุ๊กตาดินเผา อาวุธและเครื่องมือช่างโบราณ จัดแสดงอยู่ภายในด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของที่ชาวบ้านนำมาถวายวัด นอกจากวัดท่าตะเคียนจะเป็นวัดโบราณและมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแล้ว วัดท่าตะเคียนยังเป็นที่รู้จักของชาวพิษณุโลกในฐานะที่เป็นวัดของหลวงปู่ฤทธิ์ พระเกจิอาจารย์รูปสำคัญในอดีตของเมืองพิษณุโลก ภายหลังท่านมรณภาพก็ยังมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับท่านเล่าสืบต่อกันมา ทางวัดจึงสร้างรูปหล่อเท่าองค์จริงของหลวงปู่ฤทธิ์ประดิษฐานในวิหารให้ชาวบ้านได้สักการบูชา ซึ่งก็มีชาวเมืองพิษณุโลกเดินทางมาขอพรอยู่เนืองๆ แม้ว่าวัดท่าตะเคียนและพิพิธภัณฑ์วัดท่าตะเคียนจะไม่ได้มีขนาดใหญ่โตอะไร แต่สำหรับการเข้าชมแบบให้ได้ความรู้และซาบซึ้งในคุณค่าของประวัติศาสตร์โบราณคดีและศิลปะ ผู้เขียนคาดว่าอาจต้องใช้เวลาไม่น้อยในการเยี่ยมชม โดยเฉพาะอย่างยิ่งลวดลายบนใบเสมา พระพุทธรูปสกุลช่างท้องถิ่น เรื่องราวของชาวลาวอพยพจากลุ่มน้ำโขงสู่ลุ่มน้ำน่าน และอิทธิปาฏิหาริย์ของหลวงปู่ฤทธิ์ที่มีเรื่องราวบอกเล่ามิรู้จบ หากผู้อ่านมีโอกาสเดินทางมาจังหวัดพิษณุโลก ต้องการหาสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่น่าสนใจเกี่ยวกับท้องถิ่นพิษณุโลก วัดท่าตะเคียนซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเป็นอีกที่หนึ่งที่ผู้เขียนอยากจะแนะนำให้ท่านเดินทางไปเยี่ยมชม แล้วท่านจะรู้ว่าในเมืองไทยมีอะไรที่น่าสนใจและยังไม่เป็นที่รับรู้ของคนไทยด้วยกันเองอีกมากมาย ที่มา: ธีระวัฒน์ แสนคำ "พิพิธภัณฑ์วัดท่าตะเคียน จังหวัดพิษณุดลก" จุลสารก้าวไปด้วยกัน ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 (กุมภาพันธ์ – กันยายน 2556) หน้า 38 – 41.
จ. พิษณุโลก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
ชุมชนบ้านท่าตะเคียนเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกไปทางตอนเหนือประมาณ 4 กิโลเมตร ชื่อของชุมชนแห่งนี้มาจากแต่เดิมเคยมีต้นตะเคียนขนาดใหญ่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่านใกล้กับท่าน้ำใหญ่ของชุมชน จึงมีการเรียกชื่อชุมชนแห่งนี้ว่า “บ้านท่าตะเคียน” ประวัติความเป็นมาของชุมชนบ้านท่าตะเคียนได้มีนักวิชาการหลายคนเข้ามาศึกษาสืบค้น จากการศึกษาพบว่า บรรพบุรุษของผู้คนในชุมชนบ้านท่าตะเคียนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนและอพยพเข้ามาภายหลังศึกเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์ พ.ศ.2370 ซึ่งตรงกับหลักฐานร่วมสมัยที่ระบุว่ามีกลุ่มชาวลาวจำนวนหนึ่งถูกกวาดต้อนเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่เมืองพิษณุโลก นอกจากชุมชนบ้านท่าตะเคียนแล้ว ยังพบว่าชุมชนบ้านแสงดาวซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงก็เป็นกลุ่มชาวลาวเช่นเดียวกัน
การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวลาวกลุ่มนี้ได้เข้ามาตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งเคยเป็นชุมชนโบราณราวพุทธศตวรรษที่ 20-23 มาก่อน ดังปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีมากมายภายในเขตชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในวัดท่าตะเคียน ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญของชุมชน เช่น
ซากโบสถ์ แต่เดิมพบร่องรอยของฐานโบสถ์เก่าขนาดย่อม ก่อด้วยอิฐ ต่อมาได้มีการสร้างโบสถ์หลังใหม่ทับลงในตำแหน่งโบสถ์เก่า
ซากวิหาร อยู่ทางทิศเหนือของโบสถ์ มีร่องรอยของฐานวิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยอิฐและใช้เสาศิลาแลง ภายในวิหารมีพระพุทธรูปปูนปั้นประดิษฐานเป็นพระประธาน ปัจจุบันมีสร้างวิหารใหม่ครอบทับแล้ว
หลวงพ่อทองสุข เป็นพระประธานภายในวิหาร เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกลงสู่แม่น้ำน่าน เดิมทีนั้นองค์หลวงพ่อทองสุขอยู่ในสภาพชำรุด ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ทำให้รูปแบบพุทธศิลป์เปลี่ยนแปลงไปจึงไม่สามารถศึกษาพุทธศิลป์และกำหนดอายุของหลวงพ่อทองสุขได้
ใบเสมาหินชนวน รอบโบสถ์วัดท่าตะเคียนมีใบเสมาหินชนวนปักอยู่โดยรอบ บางใบมีการแกะสลักลวดลายอย่างสวยงาม เมื่อพิจารณาจากรูปแบบศิลปะแล้ว สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 21-23 และเมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบต่างๆ มีความเป็นไปได้ว่าใบเสมาเหล่านี้น่าจะเป็นใบเสมาที่ปักอยู่รอบซากโบสถ์เก่าภายในวัดท่าตะเคียนมาแต่เดิม
นอกจากนี้ ภายในบริเวณชุมชนบ้านท่าตะเคียนยังพบเศษภาชนะดินเผาทั้งแบบเคลือบน้ำยาและแบบธรรมดา กระจายอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาชนะดินเผาที่ผลิตจากแหล่งเตาตาปะขาวหายซึ่งชาวบ้านได้นำบางส่วนที่มีสภาพดีมาเก็บรวบรวมไว้ในวิหารหลวงพ่อทองสุขซึ่งมีการจัดเป็นพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์วัดท่าตะเคียน ตั้งอยู่ภายในวัดท่าตะเคียนโดยมีการดัดแปลงวิหารหลวงพ่อทองสุขให้เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จัดแสดงโบราณวัตถุและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่พบภายในเขตชุมชนและมีผู้นำมาถวายวัดท่าตะเคียน โบราณวัตถุและข้าวของเครื่องใช้ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดท่าตะเคียนมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น
พระพุทธรูป ภายในพิพิธภัณฑ์วัดท่าตะเคียนมีพระพุทธรูปสำริดปางต่างๆ ศิลปะอยุธยาตอนปลายและรัตนโกสินทร์ตอนต้นขนาดต่างๆ ประดิษฐานอยู่ในตู้จัดแสดงและบนฐานชุกชีหลวงพ่อทองสุข พระพุทธรูปส่วนใหญ่เป็นฝีมือสกุลช่างท้องถิ่นพิษณุโลก
ตู้และหีบพระธรรม ทำด้วยไม้ลงรักปิดทองลายรดน้ำ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 24 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ลายรดน้ำส่วนใหญ่ทำเป็นเรื่องราวพุทธประวัติ และลายดอกต่างๆ
เอกสารโบราณ เป็นสมุดไทย ทั้งสมุดไทยดำและไทยขาว ตลอดจนเอกสารใบลาน ส่วนใหญ่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับตำรายาพื้นบ้าน คาถาอาคม เรื่องราวทางพระพุทธศาสนาและวรรณกรรมทั่วไป ตัวอักษรที่ใช้เป็นอักษรไทย มีอักษรขอมและอักษรธรรมบ้างเล็กน้อย นอกจากนี้ ยังมีเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการพระราชทานเขตวิสุงคามสีมาของวัดท่าตะเคียนเมื่อปี ร.ศ.124 (พ.ศ.2448) จัดแสดงอยู่อีกด้วย เอกสารโบราณเหล่านี้ได้รับการคัดแยกเป็นหมวดหมู่ รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นและเปลี่ยนผ้าห่อใหม่โดยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร อาจารย์และนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยนเรศวรและมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
ภาชนะดินเผาและข้าวของเครื่องใช้โลหะ ภายในพิพิธภัณฑ์วัดท่าตะเคียนมีภาชนะดินเผาจัดแสดงอยู่ภายในตู้จัดแสดงจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นเครื่องลายครามและเครื่องเบญจรงค์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 24 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 25 เช่น กาน้ำร้อน ถ้วยชาม ถ้วยน้ำชา พานและกระโถน เป็นต้น ส่วนข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นโลหะก็จะทำด้วยสำริดและทองเหลือง เช่น พาน ขัน กาน้ำและเต้าปูน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีพระพิมพ์ ตุ๊กตาดินเผา อาวุธและเครื่องมือช่างโบราณ จัดแสดงอยู่ภายในด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของที่ชาวบ้านนำมาถวายวัด
นอกจากวัดท่าตะเคียนจะเป็นวัดโบราณและมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแล้ว วัดท่าตะเคียนยังเป็นที่รู้จักของชาวพิษณุโลกในฐานะที่เป็นวัดของหลวงปู่ฤทธิ์ พระเกจิอาจารย์รูปสำคัญในอดีตของเมืองพิษณุโลก ภายหลังท่านมรณภาพก็ยังมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับท่านเล่าสืบต่อกันมา ทางวัดจึงสร้างรูปหล่อเท่าองค์จริงของหลวงปู่ฤทธิ์ประดิษฐานในวิหารให้ชาวบ้านได้สักการบูชา ซึ่งก็มีชาวเมืองพิษณุโลกเดินทางมาขอพรอยู่เนืองๆ
แม้ว่าวัดท่าตะเคียนและพิพิธภัณฑ์วัดท่าตะเคียนจะไม่ได้มีขนาดใหญ่โตอะไร แต่สำหรับการเข้าชมแบบให้ได้ความรู้และซาบซึ้งในคุณค่าของประวัติศาสตร์โบราณคดีและศิลปะ ผู้เขียนคาดว่าอาจต้องใช้เวลาไม่น้อยในการเยี่ยมชม โดยเฉพาะอย่างยิ่งลวดลายบนใบเสมา พระพุทธรูปสกุลช่างท้องถิ่น เรื่องราวของชาวลาวอพยพจากลุ่มน้ำโขงสู่ลุ่มน้ำน่าน และอิทธิปาฏิหาริย์ของหลวงปู่ฤทธิ์ที่มีเรื่องราวบอกเล่ามิรู้จบ หากผู้อ่านมีโอกาสเดินทางมาจังหวัดพิษณุโลก ต้องการหาสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่น่าสนใจเกี่ยวกับท้องถิ่นพิษณุโลก วัดท่าตะเคียนซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเป็นอีกที่หนึ่งที่ผู้เขียนอยากจะแนะนำให้ท่านเดินทางไปเยี่ยมชม แล้วท่านจะรู้ว่าในเมืองไทยมีอะไรที่น่าสนใจและยังไม่เป็นที่รับรู้ของคนไทยด้วยกันเองอีกมากมาย
ที่มา: ธีระวัฒน์ แสนคำ "พิพิธภัณฑ์วัดท่าตะเคียน จังหวัดพิษณุดลก" จุลสารก้าวไปด้วยกัน ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 (กุมภาพันธ์ – กันยายน 2556) หน้า 38 – 41.
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
วัดท่าตะเคียน หลวงพ่อทองสุก ใบเสมา เอกสานโบราณ เครื่องเบญจรงค์
ศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์
จ. พิษณุโลก
ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ วัดดอนอภัย
จ. พิษณุโลก
หอศิลป์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
จ. พิษณุโลก