ที่อยู่:
ชั้้น 3 ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก (หลังเดิม) อำเภอเมืองพิษณุโลก พิษณุโลก 65000
โทรศัพท์:
085 052 9985, พระสำรวย-ผู้ดูแล
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ของเด่น:
เครื่องทรงเสวย (ภาชนะ) เมื่อครั้งพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จราชินีนาถ เสด็จเยือนพิษณุโลก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
พิพิธภัณฑ์พระบารมีปกเกล้าฯ ชาวพิษณุโลก
“ห้องนี้เป็นสถานที่ที่ทั้งสองพระองค์ [พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ]
เสด็จประทับแรม เหมือนกับเป็นห้องบรรทม
เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมายังจังหวัดพิษณุโลก
ทั้งสองพระองค์ประทับแรมที่นี่ วันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501
เป็นการเสด็จฯ ครั้งแรก โดยรถไฟ จากสถานีรถไฟจิตรลดา อยุธยา
ไล่มาจนถึงสถานีพิษณุโลก ออกจากกรุงเทพประมาณ 6 โมง
และมาถึงประมาณ 15 นาฬิกา และปฏิบัติพระราชกรณียกิจ”
อัจฉรา จันทร์อ่อน ตำแหน่ง “วัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก” กล่าวไว้ในตอนนี้หนึ่งเมื่อนำชมพิพิธภัณฑ์กษัตริย์ไทยพิษณุโลก โดยกล่าวถึงความสำคัญของสถานที่ที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ท่านวัฒนธรรมจังหวัดฯ บอกเล่าถึงการจัดตั้งและภาพรวมของเนื้อหาการจัดแสดง “เราเริ่มจัดทำพิพิธภัณฑ์เมื่อ พ.ศ. 2556 และเปิดเป็นทางการ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคา 2556 ในพิพิธภัณฑ์ มีส่วนการจัดแสดงสามห้องด้วยกัน ประกอบด้วย [ห้องกลาง]เป็นส่วนการจัดแสดงหลัก บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถทั้งสิบสามครั้ง ได้แก่ ห้องพระบารมีภูมิพล ปกเกล้าชาวพิษณุโลก”
เมื่อสำรวจห้องจัดแสดงหลัก ผู้ชมจะพบกับบอร์ดที่แสดงให้เห็นการเสด็จพระราชดำเนินของทั้งสองพระองค์ทางซ้ายมือ และไล่เรียงตามลำดับมาทางขวา ทั้งภาพเก่า คำบรรยาย และบทกวีที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการเสด็จพระราชดำเนินในแต่ละครั้ง ในห้องจัดแสดงหลักนี้เองที่อัจฉราแสดงให้เห็นวัตถุกลุ่มสำคัญที่จัดแสดงไว้เพียงบางส่วนเท่านั้นนั่นคือ ภาชนะที่ทางจังหวัดเคยจัดถวายในระหว่างที่ทั้งสองพระองค์เสด็จประทับเมื่อ พ.ศ. 2501 และ 2505 ซึ่งไม่มีหลักฐานเพิ่มเติมใดๆ ที่แสดงที่มาของภาชนะหรือภาพที่แสดงให้เห็นลักษณะหรือรูปแบบการใช้งานเดิม อย่างไรก็ดี ท่านวัฒนธรรมจังหวัดฯ ย้ำถึงความสำคัญของวัตถุดังกล่าว
“...ส่วนที่สองว่าด้วยเรื่องบรรพกษัตริย์ไทย มีเรื่องราวของบรรพกษัตริย์ที่เกี่ยวข้องกับพิษณุโลกและสถานที่สำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบรรพกษัตริย์ไทย” ในห้องที่สอง ตั้งอยู่ทางขวามือของผู้ชม เป็นห้องที่มีขนาดกะทัดรัดกว่าห้องแรก แสดงให้เห็นเรื่องราวของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พระมหาธรรมราชาลิไท สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เรื่องราวต่างๆ ได้รับการคัดเลือกมาเฉพาะในส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับเมืองพิษณุโลก โดยเป็นการให้ข้อมูลของพระราชกรณียกิจสำคัญของแต่ละพระองค์ หรือวีรกรรมที่ช่วยให้ “ไทยเป็นประเทศอยู่ได้” ท่านวัฒนธรรมจังหวัดกล่าวไว้ในตอนหนึ่ง
ในส่วนห้องที่สามใต้ร่มพระบารมีราชวงศ์จักรี ที่เป็นเรื่องราวของกษัตริย์ที่มีคุณอนันต์ให้กับชาวจังหวัดพิษณุโลก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเนื้อหายังคงเน้นพระราชกรณียกิจที่สำคัญที่ทั้งสามพระองค์เกี่ยวข้องกับเมืองพิษณุโลก นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาบางส่วนที่แสดงให้เห็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์อื่นๆ เพิ่มเติม ได้แก่ อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวพระยาจักรี หรือการอัญเชิญพระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดารามสู่พระนคร และการสมโภชพระพุทธชินราช ที่ได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อมา
โถงหน้าห้องนิทรรศการหลัก ยังปรากฎชุดนิทรรศการชั่วคราวที่ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถทั้งสิบสามครั้ง โดยนิทรรศการดังกล่าวจะเคลื่อนที่ไปยังสถานศึกษาหลายแห่งในจังหวัดพิษณุโลก เพื่อเชื้อเชิญให้ผู้คนได้เข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พระบารมีฯ ปกเกล้าแห่งนี้ ในมุมมองของอัจฉราแล้ว การดำเนินการในช่วงสองปีหลังจากการเปิดพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการ นับว่าได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไป
อย่างไรก็ดีสำหรับผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ ควรประสานงานล่วงหน้ากับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดฯ เพื่อเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ตามวันและเวลาราชการ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ เป็นผู้ดูแลและให้ข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติม ในอนาคต ท่านวัฒนธรรมจังหวัดกล่าวถึงการพัฒนาพื้นที่หน้าห้องนิทรรศการหลัก ให้เป็นการจัดแสดงแบบนิทรรศการถาวร ด้วยเพราะเมื่อใด นำนิทรรศการชั่วการเคลื่อนที่ออกไปนำเสนอนอกสถานที่ ผู้ที่มาเยี่ยมชมจะไม่ได้รับรู้เนื้อหาสาระสำคัญในการเสด็จพระราชดำเนินของทั้งสองพระองค์ทั้งสิบสามครั้ง และในเชิงบรรยากาศเอง เมื่อผู้ชมขึ้นมาถึงชั้นสามของอาคาร น่าจะได้เห็นความยิ่งใหญ่ของพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องของ “พระบารมีปกเกล้าฯ ชาวพิษณุโลก” เสียตั้งแต่เบื้องต้น เพื่อให้สมพระเกียรติของสถานที่สำคัญที่เคยเป็นที่ประทับของทั้งสองพระองค์ฯ ที่สร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวงให้กับจังหวัดพิษณุโลก ทั้งการพัฒนาโครงการตามพระราชดำริและการเสด็จเยือนที่เสมือนเป็นขวัญและกำลังใจให้กับราษฎร
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2558
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
กษัตริย์ไทย พระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ
ศูนย์วัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตพิษณุโลก
จ. พิษณุโลก
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระพุทธชินราช
จ. พิษณุโลก
ศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์
จ. พิษณุโลก