ที่อยู่:
ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กองทัพภาคที่ 3 อ.เมือง จ.พิษณุโลก 65000
โทรศัพท์:
055 242 859 ต่อ 73288
วันและเวลาทำการ:
เปิดเฉพาะวันพุธ 08.30-16.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ของเด่น:
ประวัติกองทัพภาคที่ 3, อาวุธยุทโปกรณ์ของกองทัพ, อาวุธที่ได้จากกองกำลังอดีตสหายคอมมิวนิสต์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
พิพิธภัณฑ์ทหารกองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
“อาคารหลังใหม่ได้งบประมาณจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อรองรับ
การท่องเที่ยวของกองทัพบและสถานที่สำคัญของจังหวัด มาสักการะ
พระพุทธชินราช และอนุสาวรีย์ทั้งสามพระองค์ จากนั้นมาชมพิพิธภัณฑ์
มีทั้งในร่มและกลางแจ้งเกียรติยศความภาคภูมิใจของกองทัพภาคที่ 3
หลักนิยมทางทหาร การรบ สถาบันสำคัญของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”
พลตรี พิชัย นวาวัตน์ ที่ปรึกษาและวิทยากรบรรยายพิเศษ พิพิธภัณฑ์ทหารกองทัพภาคที่ 3เล่าถึงความเป็นมาเกี่ยวกับสถานที่ของการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ทางทหารที่ริเริ่มโดย พลเอกจิรเดช คชรัตน์ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 3พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดสร้างขึ้นเมื่อ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 อย่างไรก็ดี พลตรีพิชัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงวัตถุพิพิธภัณฑ์บางส่วนมาจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในพื้นที่เมื่อครั้งสิ้นสุดการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายทหารและฝ่ายความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง
“เมื่อก่อนการปราบปราม พคท. ยุติ ราว พ.ศ. 2525 ผู้ก่อการร้ายปรับทัศนคติใหม่เป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ประกาศ 66/23 เมื่อมีการยุติการรบแล้ว นำอาวุธยโธปกรณ์มาให้ จากพื้นที่ต่างๆ แม่สอด ภูหินร่องกล้า ดอยยาว ดอยผาหม่น ที่เขาไปตั้ง อาวุธและกระสุนเป็นประวัติศาสตร์ พ.ศ. 2530 อดีตแม่ทัพภาคที่ 3 พลเอก ศิริ ทิวพันธุ์ ดำริให้สร้างอาคารสามหลังเพื่อรวบรวมยุทโธปกรณ์ เป็นการนำเสนออาวุธและเอกสาร เพื่อให้ได้เรียนรู้ในวันข้างหน้า นอกจากนี้ มีการขุดค้นทางประวัติศาสตร์ติดกับพระราชวังจันทร์และติดกับค่าย มีหลักฐานโบราณวัตถุ ชิ้นส่วนโบราณคดี เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้ทหารในค่ายได้”
นอกจากนี้ พลตรีพิชัย ได้บอกเล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งอยู่ในกองทัพภาคที่ 3 “แผ่นดินตรงนี้ในอดีต เป็นสถานที่ฝึกไพร่พล สมัยพระนเรศวรครองราชย์ที่พิษณุโลก พ.ศ. 2113 ตรงนี้ใกล้กับพระราชวังจันทร์ เพื่อต่อสู้เอกราชที่เสียกรุง 2112 กำเนิดค่าย 2445 เพราะกบฎเงี้ยว ท่านให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีนำกำลังจากส่วนกลาง เพื่อปราบกบฎ พระองค์ให้ทิ้งกำลังไว้ที่พิษณุโลก หากเกิดสถานการณ์พลิกผันให้ทิ้งกำลังไว้ที่นี่ กลายเป็นที่ตั้งสำคัญของมณฑลพิษณุโลก และเป็นกองทัพภาคที่ 3
ในทุกวันนี้ ฉะนั้นวันที่ 20 สิงหาคมจึงเป็นวันสำคัญ ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ได้เข้าชมความภาคภูมิใจที่ได้ปกป้องอธิปไตย สิ่งสำคัญที่ผู้คนมาเยี่ยมเยือนคือการมากราบสักการะกษัตริย์ทั้งสามพระองค์ พระนเรศวรมหาราช พระเอกาทศรส และพระสุพรรณกัลยา เป็นวัฒนธรรมที่เขาจะมาสักการะเพื่อระลึกวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ทั้งสาม”
อาคารได้รับการจัดสร้างเป็นอาคาร “แบบสุโขทัยร่วมสมัยกำแพงรอบที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับโบราณสถานสมัยสุโขทัย” และหน้าอาคารมีประติมากรรมรูปดาบปลายปืน ในที่นี้ พลตรีพิชัยให้คำอธิบายไว้ “ทำไมเอาดาบปลายปืนมาติดตั้งไว้ที่ทางขึ้นเข้าสู่อาคารพิพิธภัณฑ์ เพราะเมื่อก่อนเป็นอาวุธสุดท้ายกระสุนหมด ก็เหลือดาบปลายปืน ซึ่งสัมพันธ์กับวันทหารผ่านศึกในเดือนกุมภาพันธ์”
พลตรีพิชัยเริ่มต้นการนำเสนอเนื้อหาต่างๆ โดยแสดงให้เห็นเป้าหมายของการจัดทำนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้ “ให้เยาวชนเป็นคนดีและนึกถึงชาติแผ่นดิน และลดปัญหาแตกแยกทางความคิดและปัญหาสังคมจะน้อยลง” ภายในนิทรรศการแบ่งการนำเสนอไว้เป็นสองส่วน เมื่อเข้าสู่อาคารโถงทางเข้า แสดงหุ่นจำลองอาคารเพื่ออธิบายเกี่ยวกับส่วนต่างๆ พื้นที่ในอาคาร จากนั้น เบื้องหลังเป็นห้องบรรยายสรุปที่สามารถจุผู้ชมได้ราว 50-70 ที่นั่ง ห้องการจัดแสดงฝั่งซ้าย เป็นการลำดับเหตุการณ์สำคัญต่างๆ กำเนิดกองทัพภาคที่ 3, หลักนิยมทางทหาร, การปราบกบฎเงี้ยง พ.ศ. 2445, การประกาศเกียรติศักดิ์ทหารไทยสู่สากล ในสงครามโลก สงครามมหาเอเชียบูรพา กรณีพิพาทอินโดจีน, การเผชิญเหตุการณ์ภัยคอมมิวนิสต์, และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ห้องจัดแสดงฝั่งขวาของอาคาร เป็นการนำเสนอเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญต่างๆ เกี่ยวกับการสูญเสียดินแดน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการตีความเนื้อหาจากเพลงชาติไทย พัฒนาการทางทหารในรัชสมัยต่างๆ สายการบังคับบัญชากองทัพภาคที่ 3, ยุทธการและปฏิบัติการรบต่างๆ ในพื้นที่รับผิดชอบ, ห้องเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งหมดเป็นการนำเสนอด้วยเทคโนโลยีทันสมัย สารคดีขนาดสั้น หุ่นจำลองเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ วัตถุพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ซึ่งนำมาจัดแสดงเพียงบางส่วนจากพิพิธภัณฑ์ที่จัดตั้งไว้เมื่อ พ.ศ. 2530
ภายนอกอาคารยังมีการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ทหารกลางแจ้ง กองทัพภาคที่ 3ดำเนินการก่อสร้างในสมัยพลโททนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน แม่ทัพภาคที่ 3 ในสมัยนั้น โดยการนำอาวุธยุทโธปรณ์หลักด้านการสงครามที่เคยใช้ในอดีตมาจัดแสดง นอกจากนี้ผู้เยี่ยมยังสามารถสักการะอนุสาวรีย์พระนเรศวร, พระเอกาทศรถ, และพระสุพรรณกัลยา ซึ่งตั้งอยู่ในสนามใกล้กับอาคารพิพิธภัณฑ์ทหาร อนุสาวรีย์รำลึกทหารที่เสียชีวิตในสงคราม
อนึ่ง กิจกรรมที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องคือการพัฒนายุวมัคคุเทศก์ให้สามารถให้ข้อมูลต่างๆ ทั้งในพิพิธภัณฑ์ทหาร ศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ และการพัฒนาเส้นทางรถรางเพื่อเชื่อมต่อกับสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ได้แก่ วัดพระพุทธชินราช, ศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์, พิพิธภัณฑ์เมืองพิษณุโลก ซึ่งอยู่ในระหว่างการวางแผนและดำเนินการ ในการเป็นเครือข่ายของแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ในพื้นที่เมืองพิษณุโลก.
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม วันที่ 27 มกราคม 2559
รีวิวของพิพิธภัณฑ์กองพลทหารราบที่ 4 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
พิพิธภัณฑ์ทหารกองพลทหารราบที่ 4 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก่อตั้งขึ้นโดยกองพลทหารราบที่ 4 จังหวัดพิษณุโลก ใช้อาคารทำการซึ่งเดิมเป็นศาลทหารที่ใช้ตัดสินความภายในค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และต่อมาเมื่อมีการต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ในพื้นที่เขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาคารแห่งนี้จึงปรับเปลี่ยนเป็นอาคารห้องอบรมทหารเพื่อปฏิบัติการกวาดล้างผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑสถาน โดยรวบรวมอนุรักษ์และจัดแสดงวัตถุที่เกี่ยวกับทหาร และเอกสารประวัติศาสตร์ของกองพลทหารราบที่ 4 ลักษณะอาคารพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารสถาปัตยกรรมร่วมสมัยชั้นเดียว ก่อสร้างด้วยไม้ จัดแสดงภาพถ่ายเหตุการณ์ต่างๆ จำนวน 45 ภาพ ปืนใหญ่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมทั้งอาวุธของฝ่ายตรงข้ามที่ยึดได้ กระสุนปืนชนิดต่างๆ เสื้อผ้าและเครื่องแบบของทหารฝ่ายตรงข้าม เครื่องสนามของกองทัพบกไทย ในการจัดแสดงมีการจัดทำป้ายคำบรรยายประกอบเป็นภาษาไทย ตกแต่งพื้นที่ด้วยภาพเขียนสีน้ำมันของสันต์ สารากรบริรักษ์ เป็นภาพทิวทัศน์ในจังหวัดพิษณุโลก เมื่อ พ.ศ. 2520
ข้อมูลจาก: กรมศิลปากร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. นามานุกรมพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทย ภาคเหนือ เล่ม 2. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546. หน้า 13.
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
ประวัติศาสตร์และโบราณคดี อาวุธ เครื่องแบบทหาร กองพลทหารราบที่ 4 เอกสารราชการ
พิพิธภัณฑ์ม้ง บ้านห้วยน้ำไซ
จ. พิษณุโลก
หอศิลป์พิระสันต์
จ. พิษณุโลก
พิพิธภัณฑ์วัดท่าตะเคียน
จ. พิษณุโลก