พิพิธภัณฑ์ชีวิต มหาวิทยาลัยนเรศวร


ที่อยู่:
สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน อาคารวิสุทธิกษัตริย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เลขที่ 99 หมู่ที่ 9 ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก 65000
โทรศัพท์:
055-961202-3, 055-961148
โทรสาร:
055-961148
วันและเวลาทำการ:
9.00 - 16.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2543
จัดการโดย:
เนื้อหา:

โดย:

วันที่: 04 เมษายน 2559

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ชีวิต มหาวิทยาลัยนเรศวร


“...ที่เรียกว่าพิพิธภัณฑ์ชีวิต นั่นคือไล่เรียงเรื่องราวของผ้า
ไล่ตั้งแต่การปลูกฝ้าย การสาธิตขั้นตอนต่างๆ
จากฝ้ายมาสู่เส้นฝ้ายอย่างไร
และขึ้นสู่กระบวนการกว่าจะมาทอเป็นผืนผ้า”
 

อนงค์ วงศ์สุวรรณ์ ให้ภาพโดยรวมของพิพิธภัณฑ์ชีวิตที่เธอทำหน้าที่ทั้งผู้นำชมและผู้สาธิตการทอ ด้วยความสนใจในการทอผ้าตั้งแต่เยาว์วัย “เดิมทีไม่เคยรู้เรื่องการทอผ้า บ้านหนูอยู่สุโขทัย ศรีสัชนาลัย คนที่โน้นนุ่งผ้าซิ่นไปวัด ผ้าจกสวยงามมาก หากจะซื้อ ไม่มีกำลังซื้อ แต่เห็นรุ่นพี่ทำ แล้วอยากเรียนรู้ เพื่อทอซิ่นให้แม่ใช้ไปวัด ตรงนั้นจุดเริ่มต้นในการทอผ้า พอได้ทำเป็น มีผู้ใหญ่แนะนำ ก็ทอผ้าขาย แล้วลองทำมาเรื่อย” กระทั่งเกือบสิบปีที่แล้วอนงค์เข้าสอบเพื่อรับการคัดเลือกบรรจุเป็นเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย “ครั้งนั้น พิพิธภัณฑ์เปิดรับ ‘คนทอผ้า’ หนูใช้เทคนิคการจกผ้าตีนซิ่นของสุโขทัย เมื่อสมัครเข้ารับการคัดเลือก จึงได้รับเลือกให้เข้ามาทำ เวลานั้น พิพิธภัณฑ์ชีวิตยังอยู่ในระหว่างการปิดปรับปรุง จึงได้สาธิตการทอผ้าส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์ผ้า  ...ผลงานจากการทอจะกลายเป็นของพิพิธภัณฑ์ เพื่อแสดงเป็นผ้าจก ผ้าไทยพวนของสุโขทัย”

พิพิธภัณฑ์ชีวิตเป็นหมู่อาคารชั้นเดียวที่อยู่ในสวนสาธารณะของมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก โดยมีเนื้อหาการนำเสนอทั้งหมด 5ส่วน อันประกอบด้วย หนึ่ง “สู่พิพิธภัณฑ์” บอกเล่าเนื้อหาเกี่ยวกับเอกลักษณ์ผ้าไทย 4ภาค และตัวอย่างของลายผ้าจากงานวิจัยที่อนงค์เริ่มต้นการทำงานเมื่อสองปีก่อน จากนั้น ผู้ชมเดินทางสู่อาคารที่สอง เพื่อเรียนรู้ที่มาของเส้นใย ในหัวเรื่อง “ผ้ากำเนิดจากไหน” ว่าด้วยวัตถุดิบ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การปลูกฝ้าย เมื่อผู้ชมได้เรียนรู้เรื่องราวที่มาของต้นทางของผ้าแล้ว ในอาคารที่สาม ในหัวเรื่อง “สู่เส้นใยและใส่สี” นิทรรศการนำเสนอกรรมวิธีทำเส้นด้าย เส้นใยธรรมชาติ การย้อมสีด้วยวัสดุธรรมชาติและสารเคมี

อนงค์จะบอกเล่าขั้นตอน พร้อมกับการสาธิตจากอุปกรณ์ที่จัดแสดงอยู่ในนิทรรศการได้อย่างมีชีวิตชีวา “เราจะพูดถึงการทำเส้นใยก่อน มาถึงขั้นตอนสาธิตการทอผ้า อาคารการทำเส้นใย อย่างที่ทราบว่าฝ้าย ปุยฝ้าย เวลากลับฝ้ายมีดอกฝ้ายมีปุยฝ้าย การแยกเมล็ดออกจากฝ้าย ‘อิ่วฝ้าย’ใส่ปุยฝ้ายเข้าไปทางด้านหนึ่ง เพื่อให้เส้นใยออกมาอีกทางหนึ่ง พอเราได้ปุยฝ้าย เป็นก้อน ยังไม่แตกตัว

เราดีดฝ้ายด้วยอุปกรณ์คล้ายคันธนู เส้นใยแตกตัวไม่จับตัวกันเป็นก้อน พอแตกตัวได้ปริมาณที่ต้องการแล้ว เรานำตรงนี้ สังเกตดูว่า ฝ้ายฟูกว่า แล้วเราเลือกสิ่งที่เป็นปุ่มๆ ออกมาก่อน จากนั้นนำมาแผ่บนไม้ แล้วใช้แท่งไม้ม้วนเส้นใย ให้เป็นแท่ง เรียกว่า ‘การดิ่วฝ้าย’ก่อนที่เรา ‘เข็นฝ้าย’ดึงให้เป็นเส้น  ก่อนเข็นฝ้าย เราเรียกว่า ‘ไน’หรือ ‘หลา’เพราะมีแกนเหล็กอยู่ที่ด้านนี้ ที่เห็นสีของฝ้ายแบบนี้ เพราะพันธุ์ฝ้ายเป็นสีน้ำตาล แต่ฝ้ายส่วนใหญ่สีขาว คุณสมบัติในการทอ ใช้สอย เหมือนกัน ตัวไนหรือหลา เป็นตัวที่ทำให้เป็นเส้นด้าย จังหวะของการหมุนกับดึงฝ้ายต้องสัมพันธ์กัน เส้นเล็กใหญ่ขึ้นกับความชำนาญ อาจจะได้เส้นที่ไม่สมบูรณ์เท่าไร ถ้าเป็นคนเฒ่าทำได้เร็ว

ในพิษณุโลก ส่วนใหญ่ไม่ทำฝ้าย แต่เน้นทำไหมประดิษฐ์ ด้ายประดิษฐ์ มีเฉพาะเนินมะปราง พอจะมีคนทำฝ้ายบ้าง ในพิษณุโลกไม่ค่อยทำผ้าจก หากเป็นภาคเหนือตอนล่างเป็นสุโขทัย มีจกขึ้นชื่อ จากนั้นเป็นการสาวเส้นด้าย โดยใช้ไม้เปียสาวออกมา ไม้เปียเป็นตัวที่ทำใจฝ้าย จากนั้น เราจึงสามารถนำใจฝ้ายย้อมสี ก่อนนำมาทอ วันเดียวไม่สามารถทำได้ทุกขึ้นตอน หากเราไม่ย้อมสี เราสามารถขึ้นทอได้ ส่วนหากต้องการย้อม ก็ผ่านกระบนการย้อม ได้ทั้งไหมและฝ้าย โดยฝั่งนี้แสดงให้เห็นที่มาของวัสดุธรรมชาติ”

จากนั้นส่วนที่เหลือของนิทรรศการอีกสองส่วนได้แก่ “ทอกี่เป็นผืนพลัน” และ “สร้างสรรค์ไม่สิ้นสุด” นั่นคือ การผลิตเป็นผืนผ้าและการประดิษฐ์ชิ้นงานที่ต่อยอดจากผ้าที่เป็นผืน สำหรับการสาธิตการทอผ้านั้น ซึ่งในปัจจุบันอาศัยอาคารหลังที่หนึ่งในการสาธิต ส่วนอาคารหลังที่สี่ จะเป็นเพียงการแสดงกี่ทอผ้าเท่านั้น และเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่นิทรรศการในอาคารหลังสุดท้าย ไม่ปรากฏเนื้อหาใดๆ แล้ว ด้วยเพราะเป็นอาคารเปิดโล่ง ไม่มีผนังกันไว้เป็นสัดส่วน ทำให้บอร์ดต่างๆ ไม่อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้

อย่างไรก็ดี นับเป็นโอกาสที่ผู้ชมจะได้สนทนากับผู้สาธิตอย่างอนงค์ ในแต่ละครั้งที่เยี่ยมชม ผู้ชมอาจจะมีโอกาสได้ชมฝีมือและเทคนิคที่แตกต่างกันไปตามโอกาส สำหรับในเช้าวันนั้น ผู้เขียนได้ชมการทอลายผ้าที่ได้รับการออกแบบจากเพื่อนร่วมงานของอนงค์ เพื่อสร้างสรรค์ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองพิษณุโลก ทั้ง “ไก่พระนเรศวร” “สองแคว” และดอกไม้ประจำจังหวัด ในระหว่างที่เยี่ยมชมการสาธิตการทอผ้า ผู้เขียนสังเกตเห็นตัวอย่างชิ้นผ้าที่อยู่ในตู้กระจกสองหลัง อนงค์ได้ให้รายละเอียดทั้งในส่วนของตู้แสดงเอกลักษณ์ผ้าทอและผลงานวิจัยของเธอ “ในห้องนี้ ต้องการแสดงให้เห็นตัวอย่างของผ้าทอ เพื่อแสดงให้เห็นลักษณะเด่นของภาคนั้นๆ ใช้เทคนิคการทอแบบไหน เช่น ภาคเหนือ ใช้การจก ทั้งฝ้ายและไหม โดยการใช้ขนเม่นเกี่ยวลวดลาย และสร้างลวดลาย แต่ว่าขิดลายผ้าทั้งแถบสีเดียวกัน ส่วนการจกสามารถสร้างได้หลายสีในลาย

สิ่งแสดงในตู้ เป็นเสมือนห้องสมุดลายผ้า ผ้าผืนนี้ชิ้นนี้ใช้เทคนิคใด เป็นสีเคมีหรือธรรมชาติ เส้นใยเป็นฝ้ายหรือไหม เพื่อแสดงให้เห็นตัวอย่าง ...เราสามารถประยุกต์ใช้เทคนิคต่างๆ มาไว้ในผืนเดียวกัน หรือการผสมและแตกลายออกไป ในกลุ่มชาวบ้าน เช่นหากเขาทอแบบหนึ่ง แล้วเมื่อมาเห็น เขาอาจได้แรงบันดาลใจ ส่วนการคัดเลือกผ้ามาเป็นตัวอย่าง ได้มาจากเศษผ้าจากร้านตัวเย็บเสื้อผ้า แต่ไม่ได้สืบย้อนกลับไปยังต้นทาง หากในอนาคต พบเทคนิคการทอผ้าที่ยังไม่เคยทำ อาจทำการสืบค้นกลับไปยังต้นทาง และอาจไปขอเรียนชาวบ้าน”

สุดท้าย ผู้เขียนมีโอกาสสอบถามถึงความสนใจของสาวสมัยใหม่อย่างอนงค์ ที่มาสนใจงานทอผ้าที่ต้องอาศัยทั้งความอุตสาหะและใจรัก ผู้เขียนเชื่อมั่นว่านอกจากความต้องการทอผ้าให้แม่ใส่ไปวัดในสมัยที่เธอยังเรียนมัธยมน่าจะยังมีเหตุผลอื่นๆ เธอช่วยให้คำอธิบายเพิ่มเติมในช่วงท้ายของการสนทนา “ตอนนั้น [เรียนทอผ้า] มีคนสนใจหลายคน แต่ไม่มีใครยึด [เป็นอาชีพ] อย่างเรา ตอนนั้นอยากทอผ้าเพื่อนุ่งไปวัดเอง ตอนแรกหนูหยุดทำไปพักหนึ่ง พอที่พิพิธภัณฑ์เปิดรับก็กลับมาทำ ตอนนั้นเรียนบัญชี ปวส. ทำงานได้ปีกว่า แล้วพบเขา [มหาวิทยาลัยนเรศวร] ประกาศรับงาน

...พอได้กลับมาทำ ก็บอกกับตัวเองว่า จะทำตราบใดที่ทำอยู่ก็อยากทำจนไม่ไหว หนูเอง อยากให้คนสมัยใหม่ร่วมอนุรักษ์ หนูยินดีที่จะสอนแนะนำ โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย โดยมาเรียนที่พิพิธภัณฑ์ อยากต่อยอดให้กับผู้ที่สนใจ เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยความสนใจ

ที่บ้าน หนูก็รับงานจาก ‘อาจารย์ราชภัฎ’ท่านหนึ่ง เขาให้งานมาทำโดยการทอผ้าลายโบราณ อาจารย์แกะผ้าลายเก่าในรูปแบบกราฟ เวลาอ่านเพื่อกำหนดลวดลายของผ้าทำได้ง่ายขึ้น หรือหากมีภาพถ่าย เราสามารถแกะลายได้ ...ผ้าโบราณเล่นสีไม่เกินห้าสี แต่ผ้าจกสมัยใหม่เล่นเจ็ดแปดสี แต่เดิมพื้นแดง แล้วจกสีเขียวแดง อาจารย์เก็บผลงานไว้สะสมและทำผ้าตามการสั่งซื้อ โดยอาจารย์เตรียมวัสดุไหมให้”

อนงค์เชื่อมั่นว่า การทอผ้าด้วยมือยังจะได้รับการสืบสานต่อไปในวันข้างหน้า ด้วยใจรักที่เธอมีต่อผลงานและการมีโอกาสถ่ายทอดผ่านการบอกเล่า การนำชมนิทรรศการ หรือการทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น การมัดย้อมผ้าเช็ดหน้า ที่ผู้มาเรียนรู้สามารถทดลอย้อมและนำผลงานดังกล่าวกลับไปเป็นที่ระลึกในการมาเยี่ยมเยือนพิพิธภัณฑ์ แม้พิพิธภัณฑ์ชีวิตจะได้รับการดูแลโดยอนงค์และเจ้าหน้าที่ที่ทำความสะอาดบริเวณอีกหนึ่งคน อาจจะไม่ได้สร้างความตื่นตาตื่นใจในการจัดแสดงด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ด้วยเนื้อหาในการถ่ายทอด พร้อมกับการสาธิตขั้นตอนต่างๆ ในการทำงาน เหล่านั้นส่งผลให้ผู้ชมได้ชื่นชมกับมรดกความรู้ที่ได้รับการสั่งสม และต่อยอดอยู่อย่างไม่รู้จบ ความมีชีวิตของ “พิพิธภัณฑ์ชีวิต” แห่งนี้อาจเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่อีกหลายคนได้ทดลอง และก้าวสู่บทบาทของผู้สืบสานอย่างอนงค์ก็อาจเป็นได้

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558
ชื่อผู้แต่ง:
-
คำสำคัญ: