หอศิลป์ มหาวิทยาลัยนเรศวร


ที่อยู่:
อาคารวิสุทธิกษัตริย์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน อาคารวิสุทธิกษัตริย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เลขที่ 99 หมู่ที่ 9 ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก 65000
โทรศัพท์:
055-961 2023, 055-961148
โทรสาร:
055-961148
วันและเวลาทำการ:
9.00-16.00 น. วันทำการราชการ
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2535
ของเด่น:
ผลงานศิลปะของศิลปินแห่งชาติ ถวัลย์ ดัชนี, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, อินสนธ์ วงศ์สาม ฯลฯ และศิลปินที่เป็นที่รู้จักอีกหลายท่าน เช่น จ่าง แซ่ตั้ง
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 02 พฤษภาคม 2559

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

หอศิลป์ มหาวิทยาลัยนเรศวร


“...เดิมเป็นหอศิลปกรรมและวัฒนธรรม
อยู่ในสังกัดสำนักอธิการบดี
แล้วเปลี่ยนมาเป็นหอศิลปวัฒนธรรม
และต่อมาเปลี่ยนเป็นศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม
ตอนนี้เป็นหอศิลป์ เราดำเนินการด้านศิลปะอย่างเดียว”

 
เอกชัย โกมลกิตติ์ ในปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้างานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร สถานอารยธรรมฯ มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และดูแลสามส่วนงานหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ผ้า พิพิธภัณฑ์ชีวิต เท้าความถึงความเป็นมาของการจัดตั้งหอศิลป์ กว่าจะมาถึงหอศิลป์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ปรากฏอย่างถาวรในปัจจุบัน การดำเนินงานต่างๆ อาศัยทั้งความอุตสาหะและความบากบั่น ด้วยเพราะเมื่อครั้นจัดตั้งหอศิลปะ มหาวิทยาลัยนเรศวรยังไม่มีคณะวิชาที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคณะศิลปกรรม

“เดิมที มหาวิทยาลัยฯ มีการกำหนดวิชาเอกและโท โดยวิชาศิลปะเป็นวิชาโทที่นิสิตเลือกเรียน ในการเรียนวิชาโทศิลปะ นิสิตต้องแสดงงาน โดยใช้โรงอาหารบ้าง ใช้ห้องในอาคารอเนกประสงค์บ้าง สมัยก่อน [ครั้นเมื่อเอกชัยยังเป็นนิสิตสาขาวิชาโทศิลปะ] ปี 2535, 2536 เราจะเขียนป้ายประชาสัมพันธ์โดยใช้ไม้อัด ...จนกระทั่ง เมื่อมหาวิทยาลัยย้ายจาก ‘สนามบิน’ มายังที่ ‘หนองอ้อ’ ส่วนหอศิลป์เหลือหน่วยเดียว โดยใช้อาคารหอสมุดเดิม แล้วเอาบอร์ดมาแสดงงาน

...อาคารหอสมุดเดิมจึงเป็นที่เรียนและที่แสดงงานไปด้วยเลย งานเครือข่ายกับสถาบันต่างๆ สำคัญอย่างยิ่ง เช่น นิทรรศการบัวหลวง ธนาคารกรุงเทพ และงานศิลปกรรมแห่งชาติ ถือเป็นงานใหญ่ในระดับภูมิภาค พอได้เงินมาอีกหนึ่งล้านบาท มีโครงการปรับปรุงอาคารสองชั้น ชั้นสอง เคยเป็นศูนย์สุโขทัยศึกษาเดิม มีห้องอเนกประสงค์ ห้องบรรยาย ส่วนชั้นล่างเป็นส่วนจัดแสดง แต่บอร์ดเป็นไป ‘ตามมีตามเกิด’บอร์ดที่ใช้เป็นกล่องสี่เหลี่ยมและยึดด้วยเหล็กตัวซีที่ใช้ยึดฝ้าเพดาน แรกๆ พอโอเค แต่พอเคลื่อนย้ายไปมา ยวบยาบ”

ครั้นเมื่อผู้เขียนถามถึงการจัดหาศิลปวัตถุและผลงานศิลปกรรมที่หอศิลป์สะสม ได้รับคำตอบจากเอกชัยถึงความซับซ้อนในการทำงาน แต่แฝงด้วยแง่คิดของการทำงานหอศิลป์ในระดับภูมิภาค ที่โดดเด่นและไม่เหมือนใคร “อาจารย์คมกฤช เป็นนักเรียนนอก รู้จักศิลปิน ‘เป็นศูนย์’แต่ต้องดูแลหอศิลปะในขณะนั้น ได้สูจิบัตรงานที่รวมผลงานของศิษย์อาจารย์ศิลป์มาหนึ่งเล่ม มีชื่อที่อยู่ของลูกศิษย์อาจารย์ศิลป์ ส่งหนังสือ เอ สี่ ฉบับเดียวขอบริจาคงานศิลปะ

...ได้พบอาจารย์ประเทือง เอมเจริญ ได้ผลงานบริจาคมากว่าแปดสิบชิ้น เราได้รับการบริจาค เราได้รับงานจากผลงานจากผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม เชิญอาจารย์ประเทือง มาบรรยายที่พิษณุโลก คนเริ่มรู้จักอาจารย์ประเทือง เริ่มมีคนรู้จัก อาจารย์ประเทืองแนะนำให้ของานจากศิลปินคนนั้นคนนี้ โดยเราไปหน้าบ้าน แล้วอาจารย์ อาจารย์ประสานงานให้ เพราะหากเราไปเองศิลปินไม่เปิดประตูรับแน่นอน ‘ผมเป็นใบเบิกทางให้พวกคุณ’

ตอนนั้นผมยังเป็นนิสิตอยู่ วันหนึ่ง เราไปของงานจากอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ผมก็เชื่อมั่นอาจารย์ให้งานใคร นับชิ้นได้ ในยุคที่เราไปขอ งานอาจารย์หายไปจากหอศิลป์แห่งชาติ แล้วมีเฉลยว่า งานที่หายเพราะอาจารย์ไปเอาเอง เพราะอาจารย์ไปดูการเก็บงานแล้ว ‘เก็บงานอย่างนี้หรือ?’ท่านหยิบกลับเลย เขาถามผมกลับว่า ‘มึงจะเอางานราคาเท่าไร’เราก็บอกว่าอาจารย์ว่า งานชิ้นไหนก็แล้วแต่ ต้องสอนเด็กได้ด้วย ให้เด็กรู้จักว่านี่คือเฉลิมชัย อาจารย์ก็บอกว่า ‘เดี๋ยวจะค้นให้’เราเข้าใจว่า ‘จบกันแล้ว’

แล้ววันหนึ่ง เราเชิญอาจารย์เฉลิมชัยมาบรรยายเรื่องศิลปะที่พิษณุโลก ในช่วงหนึ่งท่านได้รับฉายาว่า ‘เฉลิมชัย ศิลปินอหังการ’ท่านมาพร้อทกับงานหนึ่งชิ้นแล้วบอกว่าที่ ‘มึงขอกู กูเอามาให้แล้ว’ [เป็นงานในสมัยเป็นนักศึกษา]ท่านอธิบายว่า ให้เด็กมาดูงานกู เด็กจะรู้ว่าศิลปะไม่ยากสำหรับพวกมันเลย เส้น น้ำหนัก ขาวเทาดำ ธรรมดา เฉลิมชัยในวันนั้นเขียนงานทุกวัน หากเด็กเขียนงานทุกวัน วันหนึ่งมันจะเป็นเฉลิมชัยในวันนี้ แต่หากดูเฉลิมชัยในวันนี้ มันท้อ”

เรื่องราวต่างๆ ที่เอกชัยได้ถ่ายทอดสะท้อนให้เห็นความตั้งใจที่จะให้หอศิลป์เป็นประโยชน์กับนิสิตอย่างสูงสุด เพราะตัวอย่างงานศิลปะสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างแรงบันดาลใจ และโอกาสได้บ่มเพาะความหลากหลายทั้งมุมมองและวิธีคิดที่มีต่อการถ่ายทอดศิลปะ

ในวันนี้ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ตั้งอยู่ที่อาคารวิสุทธิกษัตริย์ โดยมีบริเวณชั้นหนึ่งสำหรับจัดนิทรรศการหมุนเวียน บริเวณชั้นสอง ประกอบด้วยพื้นที่ใช้สอยสองส่วน หนึ่งห้องเชิดชูผลงานศิลปินแห่งชาติ ที่จัดแสดงทั้งผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และภาพถ่าย ของศิลปินที่ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ “ในห้องนี้ ศิลปินแห่งชาติ คร่าวๆ เริ่มฝั่งนี้ ธงชัย รักปทุม, น ณ ปากน้ำ, ถวัลย์ ดัชนี, เชาวลิต เสริมปรุงสุข, อาจารย์ไพบูลย์, อาจารย์จิตต์ จงมั่นคง, อาจารย์ช่วง, อาจารย์เฉลิมชัย, อาจารย์อารีย์, อาจารย์ประเทือง” เอชัยไล่เรียงให้เห็นผลงานของศิลปินต่างๆ ด้วยความภาคภูมิใจ เพราะงานหลายชิ้น แม้จะไม่โดดเด่น เพราะเป็นต้นแบบก่อนการผลิตชิ้นงานจริง แต่เต็มเปี่ยมด้วยพลังจากการถ่ายทอดศิลปะของผู้สร้าง นอกจากนี้ บนชั้นสอง ยังมีพื้นที่อีกส่วนหนึ่ง เป็นสถานที่สำหรับการจัดนิทรรศการหมุนเวียน

“ตั้งแต่ราว พ.ศ. 2551 หอศิลป์ย้ายมาที่นี่ งบประมาณได้มากขึ้น ศิลปินที่มาจัดแสดงงานมีตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ อาเซียน เอเซีย รวมทั้งการจัดเวิร์คชอปนานาชาติ ในสมัย รศ. ดร. จีรวัฒน์ เป็นผู้บริหารมีคอนเนคชั่น ทั้งจาก ‘เพาะช่าง’‘ประสานมิตร’‘ศิลปากร’...เริ่มแรกแสดงงานศิลปินของภาคเหนือตอนล่างเก้าจังหวัด เชิญอาจารย์จรูญมา ให้แนวคิดให้ข้อคิด ฐานเราคือภาคเหนือตอนล่าง ต้นทุนมีแล้ว เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร ตาก ครั้นไปเพชรบูรณ์ เราพบกลุ่มอาจารย์สุชาติ อาจารย์ธรรมนูญ อาจารย์สมโภช กลุ่มอาจารย์บรรลุ เริ่มมีกลุ่มมีคอนเนคชั่น อาร์ตบิต อาเซียน ไทย-เวียดนาม ไทย-อินโด ทีมอาจารย์เพาะช่างเรามีคอนเนคชั่นหมด

...เราเป็นโหนดให้มากับการจัดงานศิลปกรรมแห่งชาติ จากสมัยก่อนเวลาจัดงาน จะเริ่มต้นจากการจัดแสดงในกรุงเทพ ต่อด้วยเชียงใหม่ ขอนแก่น เราพยายามให้มาพิษณุโลกให้ได้ ตอนนี้ เราเป็นกรรมการร่วมในการจัดงานศิลปินรุ่นเยาว์และศิลปกรรมแห่งชาติ ศิลปินแห่งชาติหลายท่านมาแสดงงานที่พิษณุโลก สมัยก่อนเราอยากเข้าไปในงานฐานฯ แต่ไม่ได้รับการตอบรับ เราออกอีเว้นท์ พยายามบอกให้รู้ว่ามีตัวตน และสร้างคอนเนคชั่น หากต้องการแสดงงานพิษณุโลก เราอำนวยความสะดวกให้ เราให้บริการทุกอย่าง เราใช้ส่วนราชการ ไม่เหมือนในกรุงเทพ ที่ศิลปินต้องทำงานเองทุกอย่าง”

ความเคลื่อนไหวต่างๆ ของหอศิลป์ มหาวิทยาลัยนเรศวรคงเป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างดีถึงความไม่หยุดนิ่งของสถาบันทางวัฒนธรรม ที่จำเป็นจะต้องสร้างคุณค่าในตัวเองและเครือข่าย เพราะในเวลานี้ การทำงานทางวัฒนธรรมคงมิได้เน้นเฉพาะการสร้างคลังวัตถุที่ใหญ่ แต่มิได้รองรับกับประโยชน์ทางสังคม คงไม่สามารถดำรงความเป็นสถาบันทางวัฒนธรรมได้อย่างแท้จริง “ตอนนี้ในความเป็นหอศิลป์ในระดับภูมิภาค เราไม่ใช่หน่วยงานฟู่ฟ่า แต่งานเราทำงานอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือ ‘คอนเนคชั่น’ กับศิลปิน ได้งบประมาณห้าหมื่นจัดงานได้ทั้งปี ซึ่งไม่ใช่จำนวนที่มากเลยในสมัยนี้ ที่สำคัญ เรามีพื้นที่สำหรับนิสิตในการแสดงผลงาน แต่เราอยากได้ห้องแสดงงานที่มีคุณภาพมากขึ้น หากเราไม่ได้ เรายังจัดแสดงผลงานได้ได้ การทำงานคือพยายามทำให้ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน ผมเป็นหัวหน้าสำนักงาน ให้เด็กๆ มาทำ วันหนึ่งเราอาจไม่อยู่ตรงนี้ในระบบราชการ งานสะสมเองเช่นกันมีราว 70-100 ชิ้น หากวันหนึ่งมหาวิทยาลัยไม่ได้ดำเนินงาน เราจะคืนให้ศิลปินหรือทายาท งานทุกชิ้นเป็นคุรุภัณฑ์ที่ตรวจสอบได้” เอกชัยสรุปท้ายการสนทนาในการเยี่ยมในวันนั้น ซึ่งเป็นบทสรุปที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นหอศิลป์ที่พยายามตอบโจทย์สังคม.

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558

 

ชื่อผู้แต่ง:
-
คำสำคัญ: