ศูนย์เรียนรู้เรื่องข้าวและภูมิปัญญาไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก


ที่อยู่:
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เขตพื้นที่พิษณุโลก เลขที่ 52 หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
โทรศัพท์:
055-262-789, 055-298-438 ต่อ 129
โทรสาร:
055-298-440
วันและเวลาทำการ:
จันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 - 16.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2558
ของเด่น:
พันธุ์ข้าว, สารสนเทศเทคโนโลยีการเพาะปลูกข้าว, งานวิจัยเกี่ยวกับไก่พื้นบ้าน
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 06 กรกฎาคม 2559

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ศูนย์เรียนรู้เรื่องข้าวและภูมิปัญญาไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก


“เราต้องการรวบรวมปราชญ์ชาวบ้านตั้งแต่ดั้งเดิมถึงปัจจุบัน ถ่ายทอดมาถึงปัจจุบัน
และมีการต่อยอดเป็นเทคโนโลยีการผลิตข้าว เราได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย
สถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน  เครือข่ายเทคโนโลยี เครือข่ายของ ‘ราชมงคล’
และศิษย์เก่าที่โคราช ศิษย์เก่าที่กรมการข้าว อบต.บ้านกร่าง ชุมชนบ้านกร่าง
ในการรวบรวมองค์ความรู้ ส่วนจุดประสงค์หลัก เราเป็นมหาวิทยาลัยเกษตร
เราชูเรื่องข้าวเรามีที่รวบรวมความรู้ต่างๆ เพื่อการเรียนรู้”


ดร.ทินกร ทาตระกูล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เขตพื้นที่พิษณุโลก กล่าวถึงวัตถุประสงค์และความร่วมมือต่างๆ ที่ได้รับจากภาคีเพื่อพัฒนาศูนย์เรียนรู้เรื่องข้าวและภูมิปัญญาไทย ศูนย์ดังกล่าวเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2558 อาจารย์ทินกรกล่าวถึงกิจกรรมที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์เรื่องของข้าว ชุมชน และเทคโนโลยี ชาวชุมชนสูงอายุได้เข้ามาร่วมกิจกรรมบอกเล่าถึงพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกข้าวให้กับนักศึกษา ชาวบ้านที่เข้ามาสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์และพืชที่ใช้น้ำน้อยที่มหาวิทยาลัยทดลองปฏิบัติ

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น แอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับการเพาะปลูกข้าวที่ลดการใช้สารเคมีและเมล็ดพันธุ์ นี่เองที่แสดงให้เห็นว่าศูนย์การเรียนรู้เรื่องข้าวต้องการตอบโจทย์ทั้งมหาวิทยาลัยที่ได้พัฒนาองค์ความรู้ให้สมกับเป็นมหาวิทยาลัยด้านการเกษตร การศึกษาความรู้จากชุมชนเพื่อถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่ เช่นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยหรือนักเรียนจากสถาบันการศึกษาใกล้เคียง และการถ่ายทอดความรู้การเกษตรด้วยเทคโนโลยีที่กลับไปสู่ชุมชน

รศ.ดร.พรรณระพี อำนวยสิทธิ์ ไล่เรียงถึงการจัดเนื้อหาต่างๆ ในศูนย์เรียนรู้เรื่องข้าวฯ ที่จัดแบ่งเป็นสี่พื้นที่สำคัญ ได้แก่ บริเวณแสดงเทคโนโลยีพื้นบ้านในการปลูกข้าว ห้องแสดงพันธุ์ข้าวพื้นบ้านและประวัติข้าวในประเทศและในภูมิภาค รวมทั้งเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับพันธุ์ไก่พื้นบ้าน ห้องสารสนเทศทางการเกษตร และห้องประชุมที่ใช้ในการจัดกิจกรรมและมุมแสดงเครื่องจักสาน

“ห้องนี้เป็นองค์ความรู้เรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าว ประวัติ เมล็ดข้าวโบราณพบที่แม่ฮ่องสอน เรียกได้ว่าอาจเป็นถิ่นกำเนิดข้าวในเอเชีย นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงสายพันธุ์ต่างๆ จากการขุดค้นทางโบราณคดี เช่น ในวัฒนธรรมบ้านเชียง แม่ฮ่องสอน ประกอบกับการพบเครื่องมือและภาพเขียนที่เกี่ยวกับการปลูกข้าว” อาจารย์พรรณระพียังกล่าวถึงพันธุ์ข้าวปิ่นแก้วที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์

“พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำริให้มีการประกวดการปลูกข้าวเพื่อส่งไปขาย ข้าวพันธุ์แรกคือพันธุ์ปิ่นแก้วและยังส่งประกวดที่ข้าวโลกเราได้รางวัลที่หนึ่ง ต่อมาองค์กร ‘FAO’เห็นว่าพันธุ์ข้าวพื้นเมืองแม้จะมีรสชาติอร่อยแต่ได้ผลผลิตน้อย จึงแนะนำกรมวิชาการเกษตรให้ทำพันธุ์ข้าวลูกผสม นักปรับปรุงพันธุ์จึงได้เริ่มพัฒนาสายพันธุ์ อย่างที่มักได้ยินกันพันธุ์ข้าว กข เพื่อเน้นปริมาณในการผลิตแต่ความอร่อยลดลง จึงส่งผลให้ข้าวปิ่นแก้วหาย พอต่อมาสมัยรัชกาลปัจจุบัน ให้สืบหาว่าข้าวปิ่นแก้ว 56 กลับมาค้นพบได้ที่พิษณุโลก เมล็ดยาวแต่ผลผลิตได้น้อย ไม่ได้รับการส่งเสริมเพราะรัฐบาลให้แต่ปริมาณการผลิตอย่างเดียว” นอกจากนี้ ยังมีการให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย

จากนั้น อาจารย์พรรณระพีกล่าวถึงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับพันธุ์ไก่พื้นบ้านที่มีความพิเศษเพราะการจำแนกหรือแบ่งประเภทของชาวบ้านและผู้เลี้ยงไก่ชน ไก่พันธุ์พื้นเมืองอาศัยการแบ่งตามลักษณะที่ปรากฏภายนอก ตั้งแต่ลักษณะของหงอน สร้อย หาง งานวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาวบ้านในการรู้จักสังเกตและนำเอาสายพันธุ์ของไก่มาใช้ประโยชน์ตามความต้องการ เช่น การเลี้ยงไก่ชน นอกจากนี้อาจารย์ยังได้ทำการวิจัยเรื่องเกี่ยวกับประวัติไก่ชนพระนเรศวร ซึ่งพยายามศึกษาจากบันทึก พงศาวดาร และภาพเขียนต่างๆ แสดงให้เห็นถึงข้อกังขาหลายประการเกี่ยวกับประวัติไก่ชนพระนเรศวร ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากงานวิจัยหรือการเยี่ยมชมในนิทรรศการของศูนย์เรียนรู้เรื่องข้าวและภูมิปัญญาไทยนี้

ส่วนห้องสารสนเทศเทคโนโลยีการเกษตร ดร.ทินกรกล่าวโดยสังเขป “ข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้จากการผลิต เช่น ระบบสารสนเทศช่วยในการดูแลการให้ปุ๋ยการกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีการที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีการทำวีดิโอสาธิต มีเอกสาร หนังสือในรูปแบบดิจิทัล หรือสรุปเป็นเอกสาร เป็นองค์ความรู้ในหลายสื่อ สื่อความรู้ทั้งหมดที่เกี่ยวกับข้าว เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์”

ตั้งแต่ศูนย์เรียนรู้เรื่องข้าวฯ ได้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2558 ได้ต้อนรับนักศึกษาและนักเรียนจากสถาบันต่างๆ ในพื้นที่ เช่น โรงเรียนประชาสงเคราะห์วิทยา โรงเรียนอนุบาลโรจนวิทย์ป้อมเพชร ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เขตพื้นที่พิษณุโลกกล่าวถึงประโยชน์ที่นักเรียนได้รับจากการเข้าชมศูนย์เรียนรู้เรื่องข้าวและภูมิปัญญาไทย  “เด็กๆ มีโอกาสเข้าชมฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ ฟาร์มโคนม และฟาร์มสุกรของสาขาสัตวศาสตร์ และฐานความรู้ต่างๆ ในศูนย์เรียนรู้ฯ นักเรียนได้ศึกษาเรียนรู้นอกสถานที่ ทำให้ได้รู้จักและได้สัมผัสกับสิ่งต่างๆ อาทิ น้องๆ เคยทานไข่ไก่  แต่ไม่เคยทราบว่าไข่ไก่ได้มาอย่างไร  เลี้ยงไก่อย่างไรแล้วได้ไข่ไก่  ก็ได้เห็นและสัมผัสจริง”

ศูนย์เรียนรู้เรื่องข้าวและภูมิปัญญาไทยจึงมีสถานภาพเป็นศูนย์กลางที่บูรณาการความรู้ต่างๆ ทางด้านการเกษตร เทคโนโลยีการอาหาร และอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยราชมงคลฯ ถ่ายทอดให้กับบุคคลภายนอกได้เรียนรู้เรื่องราวจากอดีตสู่ปัจจุบันและเข้าใจความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว และสามารถประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันในอนาคตได้เช่นกัน.

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม วันที่ 29 มีนาคม 2559


ชื่อผู้แต่ง:
-