ศูนย์วัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตพิษณุโลก


ที่อยู่:
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตพิษณุโลก ต.บ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก 65000
โทรศัพท์:
0-5526-2789, 0-5529-8438 ต่อ 129
โทรสาร:
0-5529-8440
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน ยกเว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 08:30-16:00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2542
ของเด่น:
เครื่องปั้นดินเผาที่ค้นพบในมหาวิทยาลัยและวัดใกล้เคียงแสดงให้เห็นที่ตั้งเมืองพระยายามราช, คณฑี, ว่าว
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตพิษณุโลก


“เริ่มต้นครั้งแรกเป็นผู้สอน รับผิดชอบหัวหน้าแผนกสังคมศาสตร์
สมัยก่อนเป็นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเกษตรพิษณุโลก
เด็กจะเรียนประมง เกษตร พวกนี้ลงพื้นที่เมื่อมีการขุดดินและพบแจกัน
เราเก็บวางบนโต๊ะทำงาน ราว พ.ศ. 2529 สิ่งเหล่านี้พบในดิน


...วันหนึ่งคิดว่าเราทำวัฒนธรรมสี่ภาค เราอยากทำห้องสังคม เราถามเด็กว่า เด็กๆ มาจากภูมิภาคที่แตกต่างกัน แล้วเราจะคุยกันเรื่องเรามีตัวแทนเวลาเธอกลับบ้านเธอเอาของมาได้ไหม นี่เป็นที่มาของตู้วัฒนธรรมตั้งแต่ พ.ศ. 2529”
ผศ. สุภวรรณ พันธุ์จันทร์ ผู้ดูแลศูนย์วัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เขตพื้นที่พิษณุโลก กล่าวถึงแนวคิดในการพัฒนาสื่อเพื่อการเรียนการสอนทางด้านสังคมศึกษา เพื่อให้นักศึกษาด้านเทคโนโลยีและเกษตรกรรมมีส่วนร่วมในการพัฒนาความรู้ทางสังคมศึกษา วัตถุต่างๆ จากนักศึกษาและการค้นพบในพื้นที่มีมาเป็นลำดับกระทั่ง พ.ศ. 2542 มหาวิทยาลัยฯ มีโครงการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2542 โดยมีวัตถุประสงค์ในการ “จัดนิทรรศการอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านร่วมกับชุมชนและละแวกใกล้เคียง”

ผศ.สุภวรรณกล่าวถึงการทำงานในระหว่างการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรม “พี่อาจจะเป็นหลัก ตัวเองไม่มีความรู้ แต่มีอาจารย์จากหลายสาขามาช่วย บุคลากร เด็ก คนงานมีความรู้ นอกจากนี้ อบต. เข้ามาก็มาช่วย” จนมีการพัฒนาเป็นห้องจัดแสดงทั้งหมดหกห้อง หนึ่ง ห้องเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ห้องนี้จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติแสดงภาพที่เกี่ยวข้องกับพระราชกรณียกิจ อาจารย์สุภวรรณกล่าวถึงที่มาของภาพที่มาจากหนังสือจิตรกรรมวัดสุวรรณดารารามและนำมาขยายใหญ่ นอกจากนี้ ในห้องยังแสดงประติมากรรมรูปสมเด็จพระนเรศวร

ห้องที่สอง ห้องเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในด้านสังคม การศึกษา ศาสนา นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการของพระบรมราชินีนาถ เรื่องพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจเนื่องในวโรกาสครบ 72 พรรษา ภายในห้องยังมีรูปบรรพกษัตริย์ของไทยพระองค์ต่างๆ และหนังสือที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ให้นักศึกษาและผู้ที่สนใจได้ศึกษา อาจารย์สุภวรรณยังได้กล่าวถึงภาพจัดแสดงต่างๆ ภายในห้องไม่ได้ติดตั้งไว้อย่างถาวร เนื่องจากการใช้ประโยชน์สิ่งจัดแสดงต่างๆ ในห้องนี้ต้องพร้อมสำหรับการเคลื่อนที่ไปในกิจกรรมวันสำคัญต่างๆ ของจังหวัดอีกด้วย

ห้องที่สาม ห้องเมืองพระยายมราช คำว่า “พระยายามราช” หมายถึงราชทินนาม พระยายามราชในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและกรุงธนบุรีใช้กับเสนาบดีกรมเวียง ห้องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นห้องที่จัดแสดงภาชนะดินเผา เศษภาชนะดินเผา ใบเสมา วัตถุต่างๆ เหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่อันที่เป็นตั้งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลฯ

“เราจะเปิดศูนย์วัฒนธรรม เหมือนข่าวแพร่ไป พระที่วัดธรรมเกษตรส่งลูกศิษย์มาบอกว่า ผู้รับเหมาก่อสร้างที่สร้างตึกวิศวะฯ พบใบเสมาแล้วนำไปที่บ้านแล้วร้าน ‘บ้านร้อน’ ไม่มีความสุข ผู้รับเหมาจึงนำมาให้กับวัด แล้วก็เรียกให้ทางมหาวิทยาลัยไปรับ พี่เริ่มสงสัยมากขึ้น ที่นี่เป็นเมืองโบราณ เพราะพบเศษกระเบื้อง พี่เองไปสำนักพุทธฯ ประจำจังหวัด แล้วได้ข้อมูลว่าในบ้านกร่าง มีวัด 31 วัด วัดร้าง 16 วัด ปัจจุบันมีวัดดำเนินกิจกรรม 15 วัด ในมหาวิทยาลัยมีถึง 3 วัด วัดคุ้งมะกูดที่ได้ใบเสมา วัดเกาะแก้ว และวัดคุ้งขี้เหล็ก ...พี่เชิญสมาคมประวัติศาสตร์ฯ ศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร มาดู ท่านบอกว่าโบราณวัตถุสมัยลพบุรี”

ในเอกสาร “ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เขตพื้นที่พิษณุโลก” ระบุไว้ว่า เมืองพระยายามราชมีความเป็นมาตั้งแต่ 2,000 ปี เมืองแห่งนี้มีแม่น้ำไหลมาจากตำบลจอมทองและตำบลบ้านกร่าง จากนั้นไหลมารวมที่ ‘ทะเลแก้ว’ที่ตั้งของสถาบันราชภัฎพิบูลสงคราม (ปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัย) ในส่วนของทะเลแก้ว ในสมัยโบราณเชื่อว่าแม่น้ำน่านเคยไหลผ่านมาถึงหน้าวัดพระยายามราชและเคยมีเรือสำเภาจากจีนมาจอดที่หน้า ‘เมืองวังพิง’ (ถัดจากเมืองวังพิงเป็นวัดพระยายมราช) เมืองวังพิงมีเจ้าเมืองที่มีความเด็ดขาด ผู้คนยำเกรง ลักษณะของเจ้าเมืองที่มีความเด็ดขาดประชาชนขนานนามเจ้าเมืองวังพิงว่า ‘พระยายมราช’ และเรียกเมืองวังพิงว่า ‘เมืองพระยายมราช’ โดยบริเวณพื้นที่โดยรอบคือ บริเวณที่ตั้งวัดพระยายามราชจนถึงเขตบ้านกร่าง”

ห้องที่สี่ ห้องวิถีไทย เป็นห้องที่บอกเล่าเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่พื้นบ้านโดยมีการจำลองเรือยไทยเพื่อแสดงให้เห็นการใช้ประโยชน์พื้นที่ต่างๆ ของเรือน เรือนดังกล่าวตั้งอยู่กลางห้อง และรายล้อมด้วยวัตถุที่ได้รับจากการบริจาคของชาวบ้านได้แก่เครื่องจักสาน เตารีด สำรับอาหาร อาจารย์สุภวรรณกล่าวถึงตู้วัฒนธรรมสี่ภาคที่เคยใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในวิชาด้านสังคมศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของห้องวิถีไทยเพื่อให้ผู้เข้าชมได้รับความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมจากที่อื่นๆ ของประเทศไทยด้วย

ห้องที่ห้า ห้องเกียรติยศชาวราชมงคล นำเสนอเรื่องราวและภาพถ่ายของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเขตพื้นที่พิษณุโลก รวมทั้งถ้วยรางวัลจากการประกวดและการประกาศเกียรติคุณต่างๆ ความหมายของสัญลักษณ์มหาวิทยาลัย เครื่องแบบ และครุยที่ใช้ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ห้องที่หก ห้องไทยศึกษา ที่เป็นการจัดแสดงเรื่องความเป็นไทย ได้แก่ ดนตรีไทย การละเล่นพื้นบ้าน เช่น ว่าวไทย รำมังคละ และกังหันลมที่ผลิตจากวัสดุพื้นบ้านเช่นไม้ไผ่และหญ้าคา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภวรรณกล่าวในช่วงท้ายถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ของนักศึกษา “ทุกปีมีงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ของ ‘ราชมงคล’ เดือนสิงหาคมทุกปี ศูนย์วัฒนธรรมฯ ส่งเสริมให้นักศึกษาได้ทดลองทำแผนพัฒนาธุรกิจกเพื่อนำเอาผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการปฏิบัติในระหว่างปีมาเปิดขายในตลาดพอเพียง และเป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับวิชาปรัชญาเศรษฐกิจฯและวิชาพัฒนาคุณภาพชีวิต นอกจากนี้ ในศูนย์วัฒนธรรมฯ เราเสวนาเรื่องเมืองยมราช ชุมชนโบราณ ซึ่งมีการจัดเป็นระยะๆ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพของเมืองโบราณ หลักฐานที่ค้นพบ เพื่ออธิบายถึงความเป็นท้องถิ่นของบ้านกร่าง”

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม วันที่ 29 มีนาคม 2559


ชื่อผู้แต่ง:
-