พิพิธภัณฑ์บัญชา


ที่อยู่:
37/4 หมู่ 4 ซ.ขุนทิพย์ ต.อรัญญิก อ.เมือง จ.พิษณุโลก
โทรศัพท์:
081-036-3406
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อก่อนเข้าชม
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2556
ของเด่น:
ใบปิดหนังที่แสดงโดย “มิตร ชัยบัญชา” กว่า 400 ชิ้น
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 09 ตุลาคม 2556

ไม่มีข้อมูล

แฟนคลับ “มิตร ชัยบัญชา” เปิดบ้านพิพิธภัณฑ์ให้ดูฟรี ทำบุญให้ดาราผู้ล่วงลับ

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 8 ต.ค. 2556;8-10-2013

ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์

แหล่งค้นคว้า:

โดย: ศมส.

วันที่: 02 กันยายน 2558


ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์บัญชา


“...คิดว่าให้ลูกหลานมากกว่า ฝังใจเรื่องดูหนัง กว่าเราจะเข้าไปดูหนัง
ค่อนข้างลำบาก ยื่นรอกว่าจะได้ดูตอนปิดวิค
...ประเด็นที่ว่าเด่น คือชีวิตของมิตร ชัยบัญชา เขามีชีวิตแบบลูกทุ่งคล้ายกัน
เป็นเด็กวัดเหมือนกัน ผมเพิ่งมาดู ‘หนังมิตรฯ’ บ้างในตอนหลัง”
 

บัญชา  วาจาสุวรรณ นักสะสมโปสเตอร์ภาพยนตร์และวัตถุสะสมที่มีอายุราว 50 ปี ในปัจจุบัน คงทำหน้าที่เป็นช่างภาพผู้สื่อข่าวให้กับสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 พี่บัญชาเริ่มต้นบอกเล่าถึงความสำคัญในการสะสมงานที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ สิ่งของที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิง และของใช้ของกินในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะโปสเตอร์ภาพยนตร์ของดารา มิตร ชัยบัญชา เพราะความประทับใจในเรื่องราวของการต่อสู้ชีวิต และความต้องการให้เด็กๆ รุ่นหลังมีโอกาสเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่ครั้งหนึ่ง นับเป็นสิ่งยากยิ่งที่จะเข้าถึง

พี่บัญชาเท้าความเกี่ยวกับการเริ่มต้นสะสม ดังนี้ “เริ่มแรกผมได้จากญาติพี่น้องมาก่อน พอมาระยะหลัง เริ่มตระเวนไปร้านของเก่า ซื้อมากิโลฯ กิโลฯ ละสามบาท พอมาปีหลังๆ เพิ่งได้ออกมาจัดอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน โดยส่วนมากแล้ว ผม ‘เล่น’ โปสเตอร์หนัง โดยไปดูจากสถานที่ที่เขารับซื้อทั่วไปของเก่า ต่อมาในระยะหลัง เริ่มเล่นกล้องถ่ายรูป เตารีด ตะเกียงมีอยู่แล้ว ราคาเดี๋ยวนี้แพงแล้ว บางครั้งชั่งเป็นกิโล อย่างหนังสือที่เราเรียน เล่มล่ะห้าสิบตางค์ เล่มละบาท มีคนมาขอแลกแต่ไม่ได้ปล่อยในตอนที่เริ่มสะสมนั้น ไม่มีใครสนใจ แต่ผมคิดว่าเป็นสิ่งของที่มีค่าในอนาคต บางคนคิดว่าผมบ้าหรือเปล่า ชอบแต่ของเก่า แต่ในระยหลังๆ เริ่มมีคนคิดว่า ‘มีค่า’ผมภาคภูมิใจ”

ผู้เขียนสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนของสะสม เพราะเป็นเรื่องปกติที่นักสะสมจะมีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนสิ่งของสะสม พี่บัญชาบอกเล่าเรื่องนี้ไว้ว่า “ครั้งแรกมีคนเดินทางมาจากกรุงเทพ เพราะมีสื่อมวลชนหนังสือพิมพ์ตีพิมพ์เรื่องผมที่สะสมโปสเตอร์เกี่ยวกับมิตรฯ ผมไม่รู้ว่าชิ้นไหนมีค่าสูง มีการแลกเปลี่ยนกัน เขาไม่บอกว่ามีราคา แต่แผ่นต่อแผ่นแลกกันไป บางภาพมีค่าเป็นหมื่น แต่ผมไม่ได้ปล่อยไป ในช่วงห้าปีมานี้ ไม่ได้แลกเปลี่ยนกับใครแล้ว ผมคิดว่าอยากให้ลูกหลานมากกว่า”

พื้นที่ด้านล่างของบ้านทั้งหมด เป็นการจัดแสดงสิ่งสะสม ตั้งแต่กล้องถ่ายรูป แผ่นเสียง โปสเตอร์ภาพยนตร์ (ที่ไม่ได้เข้ากรอบจัดแสดงอีกเป็นจำนวนมาก) รวมถึงตะเกียง เตารีด ของที่แจกกับผลิตภัณฑ์สินค้าเพื่อเป็นแรงจูงใจในการซื้อ เช่น น้ำดื่มบางยี่ห้อ ส่วนในชั้นสองของอาคาร เป็นการจัดแสดงโปสเตอร์ภาพยนตร์ขนาดใหญ่ เต็มผนังบ้าน รวมทั้งในห้องสุขา กลุ่มวัตถุที่น่าสนใจอีกจำนวนหนึ่งคือ ภาพเก่าเมืองพิษณุโลก ทั้งที่พี่บัญชาบันทึกภาพด้วยตนเองและจากการสำเนาภาพมาจากแหล่งอื่นๆ

“...ภาพอย่างนี้มีค่า อันนี้นักร้อง พุ่มพวง สายัณห์ ยอดรัก ไม่ได้ใส่กรอบทั้งหมดกลัวซีด อันนี้โรงเรียนชายเก่า คนพิษณุโลกเขามาขอสำเนา ผมมาตั้งรกรากที่พิษณุโลกตั้งแต่ยุคที่โรงเรียนชาย [พิษณุโลกพิทยาคม] ยังไม่รื้อ ผมกดภาพไว้เองทั้งหมด ยังมีภาพเรือนแพในแม่น้ำน่าน อันนี้หน้าวัดใหญ่ ซึ่งทางการให้รื้อไปเมื่อเมื่อช่วง พ.ศ. 2540 ต้องการปรับปรุงแม่น้ำ นี่ภาพสมเด็จพระเทพรัตนฯ เสด็จวางศิลาฤกษ์ นอกจากนี้ มีภาพงานกาชาด ผมเก็บภาพมาเรื่อยๆ อยากให้ลูกหลานมีใจอย่างนี้สักนิด”

ความน่าสนใจบนชั้นที่ 2 ของบ้าน คือห้องเก็บสะสมภาพบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ในห้องนี้เป็นภาพในหลวงอย่างเดียว ผมร่วมปั่นจักรยานทั้งสองครั้ง Bike for Mom, Bike for Dad ยังมีอัลบั้มภาพเมืองพิษณุโลก อาคารต่างๆ สมุดภาพการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งแรก พ.ศ. 2501 พระองค์ทรงพระราชดำเนินทางด้วยรถไฟจากสวนจิตรลดา จอดพิจิตร จอดที่พิษณุโลก

ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกมีโอกาสมาเที่ยวบ้าน ได้ทำหนังสือเชิญไปประชุม เพื่อทำหนังสือประกอบเกี่ยวกับพิษณุโลก ทางจังหวัดฯ ทำหนังสือขอมาและตีพิมพ์เมื่อปีที่แล้ว หากได้เล่มนี้ มีหมด ตั้งแต่เรื่องไฟไหม้ ในหลวงเสด็จทั้งหมด 13 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีสมุดภาพชุดภาพทรงผนวชทั้งเล่ม เคยส่งไปประกวดหนังสือเก่า ได้ที่หนึ่ง...”

อีกบริเวณหนึ่งที่จัดแสดงสิ่งสะสมอยู่นอกเรือน เป็นโรงรถที่เกิดจากการซื้อที่ดินเพิ่มเติมและปรับเปลี่ยนเป็นที่จัดแสดง บรรยากาศของร้านค้า ร้านตัดผม และรถประจำทางที่เคยวิ่งให้บริการในพิษณุโลก แต่ในปัจจุบัน ปิดกิจการไปแล้ว พี่บัญชาบอกเล่าเรื่องการได้รถประจำทางด้วยความภาคภูมิใจ และนับเป็นวัตถุสะสมอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงเรื่องราวของพิษณุโลกได้เป็นอย่างดี “รถเมล์ในพิษณุโลก ประกาศเลิกเดินรถเมื่อปีที่แล้ว ผมขอไปคุยกับผู้จัดการ ผมไปทำข่าวและมีโอกาสขึ้นรถเที่ยวสุดท้าย ตั๋วรถใบสุดท้าย ผมคุยกันกับผู้จัดการแล้วถูกใจ รอบสุดท้าย เขายกเลิกหมดเลย และมีโอกาสพูดคุยกันหลังจากนั้นเป็นระยะ จนในที่สุด เมื่อยายป่วย [ภริยาเจ้าของกิจการรถประจำทาง]ลุงเขามอบรถเมล์ให้ไว้ คันนี้ตีไว้สองแสนห้า ผมตั้งใจไว้ว่า หากมีเงินเอามาทำแอร์เป็นห้องสมุด มันเป็นดวงดลใจ ราคาเป็นแสน ยังได้มาฟรี ห้ามขายเด็ดขาด มันเป็นที่ดวงและใจรัก”

ผู้เขียนสอบถามถึงประโยชน์ของงานสะสมเหล่านี้ นอกจากที่จัดแสดงไว้ในบ้านของตนเอง พี่บัญชากล่าวถึงการจัดนิทรรศการต่างกรรมต่างวาระ

“เช่น ในวันเด็ก ผมเอาไปจัดนิทรรศการ อยากให้มาดูหนังเก่า ผมฉายหนังเรื่องวัลลี ให้เด็กสะเทือนบ้าง หนังกุมารทองให้แง่คิดดีๆ เป็นการฉายหนังด้วยซีดีให้ตรงกับโปสเตอร์ อย่างเช่นเมื่อปีที่แล้ว เอาฉายให้เด็กดูเมื่อปีที่แล้ว และจัดแสดงโปสเตอรที่ใส่กรอบรูปไว้ เมื่อสองสามวันนี้ ไปพบอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร เขาขอจองตัวไว้เลยวันที่ 4 เมษายน ซึ่งเป็นวันภาพยนตร์แห่งชาติ อาจารย์ท่านั้นอยากให้ผมนำโปสเตอร์หรือภาพดารารุ่นเก่ามาแสดงไว้ในงาน ผมภูมิใจมาก ผมออกงานมาหลายครั้ง ได้ร่วมจัดงานย้อนยุคริมแม่น้ำน่าน ...มีโปสเตอร์ที่เราเรียงคนได้ชมในถนนคนเดิน”

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2558
ชื่อผู้แต่ง:
-