ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ วัดดอนอภัย


ที่อยู่:
วัดดอนอภัย เลขที่ 32 บ้านหนองตาเขียว ตำบลบ่อทอง อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก 65140
โทรศัพท์:
081 379 4672, ติดต่อคุณดอกรัก วันทัศน์
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ของเด่น:
เรือนไทดำ
จัดการโดย:
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 02 กันยายน 2558

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ วัดดอนอภัย


อดีตผู้ใหญ่บ้านดอกรัก วันทัศน์ เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการเล่าเรื่องความเป็นมาของชุมชนไทยทรงดำในพิษณุโลก จากความทรงจำของครอบครับ

“พ่อเกิดที่เขาย้อย [จังหวัดเพชรบุรี]พอสงครามเลิกก็มาอยู่นครสวรรค์ พ่ออายุ 21 ปี แต่เพราะว่านครสวรรค์น้ำท่วมถึง น้ำท่าวต้นกระทุ่มกลางนามิด ไม่ได้กินข้าว [ข้าวเพาะปลูกไม่ได้ผล]พ่อได้ยินข่าวว่าอำเภอบางระกำเปิดให้จับจองที่ พ่อเลยมาหาผู้ใหญ่บ้าน แล้วก็พาวัดเป็นเส้น [เครื่องมือที่ใช้วัด] เป็นเหล็กที่คล้องกัน เส้นละสองบาทได้ ไม่ได้ที่ทางเยอะเท่าไร ...มาแล้วก็ปลูกกระท่อม เห็นพ่อว่า เอาหมามาด้วย กลางคืนเสือก็เอาไปกิน เดินทางยังไม่ข้ามทุ่งก็มืดแล้วก็มีเดินทางเป็นเดือน พอปลูกกระท่อมแล้วกลับไปรับครอบครัวที่เก้าเลี้ยว [นครสวรรค์]พ่อมาอยู่ที่ตำบลพันเสาได้สี่ห้าปีประมาณ พ.ศ. 2490 ตอนผู้ใหญ่เกิด พ.ศ. 2501 พ่อมีลูกอีกสามคน”

อดีตผู้ใหญ่บ้านดอกรักเล่าให้ฟังเพิ่มเติมเหตุใดจึงมีผู้คนเคลื่อนย้ายจากจังหวัดเพชรบุรี และเดินทางมาในหลายจังหวัด ในนครปฐม สุพรรณบุรี นครสวรรค์ พิจิตร ถึงพิษณุโลก “หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาอยากกลับบ้านเดิม ‘เมืองแถน’แต่มาเป็นโรคระบาดมาได้แค่พิษณุโลก มาสิ้นสุดที่วังทอง” จากนั้น อดีตผู้ใหญ่ดอกรักเท้าความถึงเรื่องราวของตนเองอย่างย่นย่อ และกล่าวถึงการพัฒนาศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมไทยทรงดำ

“เดิมทีเป็นผู้ใหญ่บ้านมะค่างาม ตำบลพันเสา เป็นมาสิบปี [ราว พ.ศ. 2540]ตอนนั้นเริ่มมีชมรมไทยทรงดำแห่งประเทศไทย และได้รู้จักกับผู้ใหญ่สล่า  เวลาจัดงานประจำปีของชาวไทยทรงดำ ทางเพชรบุรีและทางสุพรรณบุรีนำเอาเสื้อก้อมเสื้อไทมาขาย เห็นว่า ปีหนึ่งๆ เขาขึ้นมาขายครั้งหนึ่ง ตอนนั้น ตนเองคิดว่า ทำไมเราไม่ทำ ไม่ขาย ตนเองเคยเรียนตัดเย็บเสื้อผ้า พอครบสิบปี เราหยุดเป็นผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ. 2551

เราเริ่มเอาเสื้อมาดู เสื้อฮี เสื้ออะไร เราทำได้อยู่แล้ว ไปเอาเสื้อของแม่แบบเก่าๆ มาดู เริ่มทำและทำเรื่อย ผู้ใหญ่บ้านทางนี้ทำ ‘โครงการ SML’ เลยเอาเงินมาลงนี่ ทำเสื้อผ้าไทยทรงดำ ได้งบฯ มาซื้อกี่มาสองตัว คนมาเรียน 20 คน เรียนจนจบมาทอกัน แต่คนเดี๋ยวนี้ชอบผ้าโรงงาน เพราะผ้าทอราคาแพงกว่า” ผู้ใหญ่กล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมไทยทรงดำที่ตั้งอยู่ที่บ้านของตนเอง นอกจากนี้ ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับการส่งเสริมการสืบทอดวัฒนธรรมด้านอื่นๆ

“เรามาทำอนุรักษ์ [หมายถึง] มาสร้างกลุ่มเด็กมารำ แต่เด็กๆ โตกันไปหมดแล้ว ตอนนั้นราว พ.ศ. 2553-2554 เรานำเด็กๆ ออกทุกงานไปทั่วทั้งจังหวัด ตอนนี้ทางตำบลคุยม่วงมีกลุ่มอนุรักษ์อยู่ ขนาดงานศพคนแก่ ยังจ้างให้กลุ่มเด็กๆ รำหน้าเมรุเผาศพ หลายคนไม่เคยเห็น”

ในช่วงที่เริ่มจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมฯ เพื่อผลิตเสื้อผ้าไทยทรงดำออกจำหน่าย เป็นช่วงเวลาที่มีความคึกคักมาก การถ่ายทอดประเพณีการร่ายรำ การร้อง กลายเป็นกิจกรรมที่สร้างความมีชีวิตชีวาให้กับชมรม แต่เมื่อเวลาผ่านไป กิจกรรมหลักๆ ของศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมไทยทรงดำแห่งนี้ คงเหลือแต่การตัดเย็บเสื้อผ้า เพื่อจำหน่ายให้กับกลุ่มไทยทรงดำและผู้ที่สนใจ ได้ซื้อหาเป็นเจ้าของ และสวมใส่ในวาระสำคัญๆ ของชุมชน

เมื่อผู้เขียนสอบถามถึงเรือนไทยทรงดำที่วัดดอนอภัย อดีตผู้ใหญ่ดอกรักให้ข้อมูลอย่างคร่าวๆ โดยกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่อาคารดังกล่าวจะสร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2540 โดยมีผู้ใหญ่สละของหมู่ที่ 10 บ้านดอนอภัย อำเภอบางระกำเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการขับเคลื่อน  

อดีตผู้ใหญ่ดอกรักให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดงานประจำปีของไทยทรงดำในจังหวัดพิษณุโลก “การจัดงานของวัดดอนอภัย คือ วันที่ 25 เมษายน วันที่ 15 มกราคมเป็นของตำบลไผ่รอบ หนองหลวง และที่จัดโดยเทศบาลในวันที่ 12 เมษายน แต่ปีที่แล้วจัดวันที่ 9 เมษายน เขาขอเลื่อน” และยังได้ไล่เรียงอีกหลายแหล่ง ทั้งวัดกลาง คุยม่วง เนินสำราญ ฯลฯ ในปัจจุบัน ในการจัดงานเฉลิมฉลองมีการจ้างวงดนตรีมาจากเพชรบุรี

“ทางโน้นเขาคิดค่าน้ำมันของเขามาหมดเลย แล้วเราหาเวที เครื่องไฟ ที่ปั่นไฟ ทำอาหารไว้เลี้ยงเขา งานนี้กินฟรีหมดเลย ผู้ใหญ่บ้านกำนันต่างทำหน้าที่ในการตระเตรียมสถานที่ อาหาร ทั้งแกงหน่อไม้ แกงพลำ แกงบอน” อดีตผู้ใหญ่ดอกรักให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่าในปัจจุบันได้รับเงินสนับสนุนในการจัดงานจากทางจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  

ผู้เขียนมีโอกาสสำรวจเรือนไทยทรงดำที่วัดดอนอภัย ลักษณะของเรือนคล้ายกับเรือนไทยดำที่ปลูกอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ของชาวไทยทรงดำ ทั้งในเพชรบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี และอีกหลายแห่งที่มีชุมชนชาวไทยทรงดำ ใต้ถุนนั้นยกสูง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เรือนดังกล่าวไม่ได้รับการใช้งานมากนัก จึงทำให้มีสภาพทรุดโทร ข้าวของที่เคยจัดแสดงไว้อย่างเป็นสัดส่วน เช่น ครัวไฟ หิ้งวางเหนือเตาไฟ อยู่ในสภาพชำรุด สิ่งที่ยังระบุลักษณะของเรือนคือโครงสร้างที่สะท้อนให้เห็นการใช้งานในลักษณะต่างๆ ทั้งชานหน้าเรือน ด้านในเป็นโถงขนาดใหญ่ ไม่มีฝาผนังกั้นห้องตามขนบของบ้านไทยทรงดำ และพื้นที่หลังบ้าน นอกจากนี้ ใต้ถุนยังมีสีฝัดและอุปกรณ์การเกษตรเพียงเล็กน้อยให้พอเห็นเค้าลางของการจัดแสดงที่เคยเป็น

เมื่อผู้เขียนสอบถามเพิ่มเติมถึงวัตถุประสงค์ในการจัดทำเรือน ผู้ใหญ่ดอกรักให้ข้อมูลอย่างกระชับว่า “ทำเอาไว้ดูเฉยๆ” ผู้ใหญ่แสดงความเห็นส่วนตัวว่าคนรุ่นใหม่ในบ้านดอนอภัยแถบนี้แตกต่างจากที่ตำบลพันเสา เพราะพ่อแม่มักพูดภาษาไทยกลางกลับลูกหลานของตน มากกว่าการใช้ภาษาไทยทรงดำ “ขนาดว่าเดี๋ยวนี้ทางชมรมไทยทรงอยากมาสอนสิบวันยี่สิบวันไม่เอา เด็กไม่เอา อย่าว่าเลย พ่อแม่พูดไทยใส่ลูก ไม่เหมือนที่บ้านตนเองยังพูดภายไทยทรงดำอยู่”

ก่อนจบการสนทนา อดีตผู้ใหญ่ดอกรักให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับชมรมไทยทรงดำในภาคเหนือตอนล่าง “ภาคเหนือตอนล่าง กำแพงเพชร สุโขทัย นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก โดยมีประธานชมรมเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบางยางใหญ่ อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ชื่อ วิเชียร [เชื่อมชิต] เป็นประธานชมรมภาคเหนือตอนล่าง เป็นตัวแทนไปประชุมใหญ่ จังหวัดนครสวรรค์มีกลุ่มชาวไทยทรงดำจำนวนมากและจัดประจำปีตามหมู่บ้านต่างๆ มากที่สุด”

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ / เขียน
สำวจข้อมูลภาคสนาม วันที่ 13 มกราคม 2559

ชื่อผู้แต่ง:
-