โดย:
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555
“ที่นี่ [สถานที่ตั้งศูนย์ศิลปวัฒนธรรมฯ เดิมทีเป็นหอประชุมราชานุเคราะห์ สร้างโดยทรัพย์สินส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ 8”
จ. พิษณุโลก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา ร.ร.เฉลิมขวัญสตรี
“ที่นี่ [สถานที่ตั้งศูนย์ศิลปวัฒนธรรมฯ เดิมทีเป็นหอประชุมราชานุเคราะห์
สร้างโดยทรัพย์สินส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ 8”
อาจารย์สำเนา กล่าวถึงความภาคภูมิใจของสถานที่จัดตั้งอาคาร ที่ต่อมาได้รับการปรับปรุงไว้สำหรับศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา อาคารดังกล่าวเป็นเรือนไม้สองชั้น ด้านบนเป็นห้องโล่ง ซึ่งเป็นอาคารเรียนเก่า เรียกว่า “อาคารเหลือง” ในปัจจุบัน ใช้ชื่อว่าอาคาร 5 ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมฯ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2532 โดย อาจารย์สุภาพร สงวนให้ เป็นผู้ก่อตั้ง
“ในเวลานั้นอาจารย์สุภาพรเคยใช้ชั้นล่างเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน แสดงข้าวของเครื่องใช้โบราณ เช่น เครื่องมือจับปลา ทอผ้า ส่วนด้านบนเป็นห้องเรียน จากนั้น สมัยท่านผู้อำนวยการโรงเรียน ประสบศรี เตมียบุตร ขอระดมทุนจากศิษย์เก่า เพื่อปรับปรุงอาคารหลังนี้ให้เป็น ‘ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา’ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2543 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด”
อาจารย์สำเนาให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อครั้งการปรับปรุงดังกล่าวอาจารย์สุภาพรจึงเชิญเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรจากสำนักงานสุโขทัยในฐานะผู้เชี่ยวชาญ มาช่วยดำเนินการในการแยกแยะให้ข้อมูลเกี่ยวกับโบราณวัตถุที่ได้มาจากการขุดค้น “บริเวณที่ตั้งโรงเรียนเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ เป็นวังเก่า” วัตถุที่จัดแสดงอีกส่วนหนึ่งมาจากการบริจาค และเปิดดำเนินการเรื่อยมา จนเมื่อราวสองสามปีที่แล้ว เกิดหลังคารั่ว จึงมีการปรับใหม่
เนื้อหารในการจัดแสดงแบ่งเป็นสามส่วนด้วยได้ ประกอบด้วย หนึ่ง “เฉลิมขวัญศึกษา” เป็นการให้ข้อมูลประวัติการก่อตั้งโรงเรียน บุคคลสำคัญเช่นลำดับผู้อำนวยการโรงเรียน และศิษย์เก่าโรงเรียนเฉลิมขวัญฯ ที่มีชื่อเสียงในแวดวงการทำงาน บ้างได้เป็นข้าราชการระดับสูง บ้างได้เป็นสมาชิกผู้แทนราษฎร
“ศิษย์เก่าเหล่านี้เป็นความภาคภูมิใจของโรงเรียน” อาจารย์สำเนากล่าวถึงชื่อบุคคลสำคัญ เช่น คุณสุวรรณี สุคนธา, ท่านยิ่งพันธ์ มนะสิการ อาจารย์สำเนาให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า เหตุที่มีศิษย์เก่าเป็นชายด้วย เนื่องจาก “เดิมที หากต้องการศึกษาสายศิลป์ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงต้องมาเรียนที่โรงเรียนเฉลิมขวัญฯ ส่วนนักเรียนที่จะเรียนสายวิทยาศาสตร์ ต้องไปเรียนที่ ‘โรงเรียนชาย’ [โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม]” ในปัจจุบัน อาจารย์ผกามาศ บุญเผือน เป็นผู้รับผิดชอบในการให้ความรู้ด้านอัตลักษณ์ศึกษาของโรงเรียน
การจัดแสดงในส่วนที่สอง ส่วนนี้จัดแสดงเกี่ยวกับเครื่องถ้วยชามสังคโลก จัดแสดงแบ่งตามยุคสมัยและตามประเภท ส่วนมากเป็นเครื่องปั้นดินเผา เครื่องเคลือบ ตุ๊กตา หม้อ พระพุทธรูป และยังมีการจัดแสดงเครื่องแต่งกาย ผ้าทอของโซ่ง อาจารย์สำเนาให้ข้อมูลเพิ่มเติม “เดิมทีมีการจัดแสดงไว้เป็นสัดส่วนว่าด้วยเรื่องผ้าและการทอผ้า แต่เนื่องจากการปรับปรุงอาคารเมื่อราว พ.ศ. 2557 จึงไม่ได้มีการนำเสนอในแบบเดิม”
ในการจัดแสดงโบราณวัตถุ “ดังที่ได้เรียนไว้เบื้องต้นเมื่อการปรับปรุงเป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรมฯ กรมศิลปากรมาร่วมดำเนินการจัดการแสดง สิ่งใดสวยอย่างไร สำหรับใช้ประโยชน์ในเรื่องใด จึงมีการให้ข้อมูลไว้เบื้องต้น และยังมีข้อมูลอีกบางส่วนที่ได้รับการบรรจุไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ในขณะนี้เครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวไม่สามารถใช้การได้ จึงทำให้ไม่มีข้อมูลในรายละเอียด ...ในส่วนที่สองนี้ยังมีภาพเก่าที่เกี่ยวข้องกับธรณีวิทยา เนื่องด้วยอาจารย์วิทยาศาสตร์ได้รับบริจาคมาจากเพื่อนที่ทำงานอยู่กรมทรัพยากรธรณี แต่ในปัจจุบันอาจารย์ท่านั้น เกษียณอายุ จึงทำให้ไม่มีผู้รู้ข้อมูลนัก” อาจารย์สำเนาไล่เรียงให้เห็นความหลากหลายที่มาของวัตถุ และรูปแบบการจัดการที่แตกต่างกัน
ในส่วนที่สาม เป็นนิทรรศการที่ได้รับการจัดทำใหม่เมื่อ พ.ศ. 2558 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแสดงให้เห็นพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื้อหาเกี่ยวข้องกับพระราชประวัติ อภิเษกสมรส ทรงผนวช การเจริญสัมพันธไมตรี วัตถุสำคัญในส่วนนี้คือ “ระนาดที่สมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงเล่น เมื่อเสด็จเปิดอาคารใหม่ของโรงเรียน เมื่อ พ.ศ. 2550”
ในปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้ใช้ในการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในหัวเรื่อง “พิษณุโลกท้องถิ่นของเรา” ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแห่งนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เรื่องราวประวัติบุคคล อาชีพ วัด วัง อาจารย์สำเนากล่าวเสริมว่า “นักเรียนชั้น ม.4 ทุกห้องเรียนต้องมาเรียน มาศึกษาตรงนี้ เราก็ให้บันทึกว่ามีอะไรบ้าง รู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เห็น จริงๆ แล้วไม่มีในหลักสูตร แต่ทางโรงเรียนเล็งเห็นคุณค่า และยังใช้อยู่หลักสูตรท้องถิ่นศึกษา เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ เราสอนต้องมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ วัตถุหรือบันทึก เพื่อสามารถอ้างอิง ใช้ในการเรียนการสอน”
นอกจากนี้ พื้นที่ชั้นบนของอาคารบางส่วน ยังได้รับการพัฒนาเป็นศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เมื่อผู้เขียนสอบถามว่าการดำเนินการต่างๆ บรรลุได้แท้จริงหรือไม่ อาจารย์สำเนาให้ความเห็นไว้ว่า “ก็ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ อยากให้ทุกสาขาวิชามาบูรณาการ [แต่เท่าที่ผ่านมา] เมื่ออาจารย์ที่เคยใช้เกษียณ ไม่มีผู้อื่นมาใช้ประโยชน์ ทั้งอาจารย์ผกามาศที่ใช้ในการสอนพุทธศาสนา และส่วนตัวเองยังใช้ศูนย์ฯ เพื่อการเรียนการสอนจนเกษียณ เนื้อหาของตนเองที่ใช้สอนมีการปรับปรุงทุกปี เช่น ตุ๊กตาเสียกบาล นำไปสู่เรื่องของความเชื่อได้ หลักฐานดังกล่าวกรมศิลป์มาระบุได้ด้วย คือเราได้ประโยชน์จากเขา เราทราบว่าวัตถุนั้นๆ เก่าแก่ขนาดนั้นจริงไหม”
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม วันที่ 25 ธันวาคม 2558
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
วิถีชีวิตท้องถิ่นและภูมิปัญญา เครื่องเคลือบดินเผา
พิพิธภัณฑ์วัดท่าตะเคียน
จ. พิษณุโลก
ศูนย์อนุรักษ์ไท-ยวน ตำบลสมอแข
จ. พิษณุโลก
พิพิธภัณฑ์กษัตริย์ไทยเมืองพิษณุโลก
จ. พิษณุโลก