พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดพระธาตุหนองสามหมื่น


ที่อยู่:
วัดพระธาตุหนองสามหมื่น บ.ธาตุสามหมื่น ต.บ้านแก้ง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ 36110
โทรศัพท์:
087-248-7049, คุณกัณหา อินทร์รินทร์ ผู้ใหญ่บ้านธาตุสามหมื่น
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ปีที่ก่อตั้ง:
2546
ของเด่น:
วิถีชีวิตท้องถิ่น เครื่องมือทอผ้าตามแบบดั้งเดิม เครื่องมือเกี่ยวกับเกษตรกรรม (ทำนา) อุปกรณ์ในการปั้นหม้อ (ภาชนะดินเผา)
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 21 เมษายน 2557

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดพระธาตุหนองสามหมื่น

อำเภอภูเขียว เป็นอำเภอที่อยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงหนือของจังหวัดชัยภูมิ เป็นอำเภอที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ในแง่หลักฐานทางโบราณคดีมีการค้นพบร่องรองของชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดิน ใบเสมาจารึกอักษรปัลลวะ และโบราณสถานในศิลปะทวารวดี (แบบภาคอีสาน) อยู่หลายแห่ง  สันนิษฐานว่าน่าจะปรากฏเป็นบ้านเมืองมาแล้วตั้งแต่สมัยทวารวดี หรือราวพุทธศตวรรษที่ 13 – 17 ในหลักฐานเอกสารที่เป็นตำนานอุรังคธาตุ (อุรังคนิทาน) ก็ปรากฏชื่อ “กุรุนทนคร” ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชุมชนโบราณในเขตอำเภอภูเขียวในปัจจุบัน ชุมชนในแถบนี้คงมีความเจริญและมีการอยู่อาศัยของผู้คนมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะผ่านเข้าสู่สมัยอิทธิพลอาณาจักรเขมรแห่งเมืองพระนครแล้วก็ปรากฏร่องรอยของโบราณสถานและโบราณวัตถุ
 
พระธาตุหนองสามหมื่น ตั้งตามชื่อหนองน้ำขนาดใหญ่คือหนองสามหมื่นที่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน เป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่ยืนยันถึงการเป็นแหล่งที่ตั้งของชุมชนมาตั้งแต่สมัยโบราณ ด้วยรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนา ล้างช้าง และอยุธยา สันนิษฐานว่ามีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 สมัยพระไชยเชษฐาธิราช แห่งราชอาณาจักรล้านช้าง อีกทั้งยังพบเมืองที่มีคูน้ำ-คันดินล้อมรอบ ชาวบ้านเรียกว่าเมืองรจนา ภายในเมืองมีกู่ที่เรียกกันว่ากู่พระสังข์ และมีเนินดินอีกแห่งเรียกว่าโนนบ้านเก่าพบเสมาหินสลักศิลปะทวารวดีจำนวนหลายแผ่น มีการนำบางส่วนมาเก็บรักษาไว้ที่วัด มีอยู่แผ่นหนึ่งที่มีรอยจารึกถูกเคลื่อนไปไว้เป็นศาลหลักเมืองภูเขียว หลักฐานเหล่านี้ทำให้สันนิษฐานเบื้องต้นว่า พื้นที่แถบนี้น่าจะก่อตั้งเป็นชุมชนมาแล้วตั้งแต่สมัยทวารวดี สมัยอาณาจักรเขมรแห่งกัมพูชา (เนื่องจากพบเสาหินศิลาแลงอยู่ภายในวัดด้วย) ต่อเนื่องมาจนกระทั่งถึงอาณาจักรลาวล้านช้าง และอยุธยา
 
ประวัติพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น วัดพระธาตุหนองสามหมื่น
ในอดีตวัดพระธาตุหนองสามหมื่อเป็นวัดเล็กๆ มีพระสงฆ์ประจำอยู่เพียงกุฏิเดียว แต่เมื่อประมาณ 40 กว่าปีก่อน เมื่อหลวงพ่อศรีทัตวิปัสสโนซึ่งเป็นพระสงฆ์มาจากโคราชได้เข้ามาดำรงตำหน่งเจ้าอาวาสก็ได้ดำเนินการพัฒนาวัดโดยการสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นมากมาย จากเดิมที่มีเพียงกุฏิเพียงหลังเดียวกับสิมไม้ริมน้ำ ก็ขยายเป็นสร้างอุโบสถ พระนอนองค์ใหญ่ ศาลาพันห้อง รอยพระพุทธบาทจำลอง หุ่นจำลองพระมาลัย นรก-สวรรค์ หลวงพ่อศรีทัตวิปัสสโนมรณภาพเมื่อไปเมื่อก่อน พ.ศ.2527 (ผู้ให้ข้อมูลจำไม่ได้ชัดเจน) ปัจจุบันยังมีรูปหล่อจำลองของหลวงพ่ออยู่ในศาลาเล็กๆ นอกเขตกำแพงแก้วด้านหน้าอุโบสถให้ชาวบ้านมาเคารพสักการะอยู่
 
ช่วงประมาณ พ.ศ.2546 คณะกรรมการของวัดมีความคิดที่จะรวบรวมวัตถุข้าวของเครื่องใช้เก่าๆ ในหมู่บ้านมาจัดแสดงเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับลูกหลานในหมู่บ้าน จึงเลือกใช้ศาลาพันห้องที่สร้างโดยหลวงพ่อศรีทัตฯ ในครั้งนั้นผู้ร่วมก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วย คณะกรรมการวัด ไวยาวัจกร (คุณสวัสดิ์ แสดง) และเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันคือพระครูปลัดสมโภชกวิสโร ร่วมกันรวบรวมและจัดแสดงวัตถุ ต่อมามีการปรับปรุงพื้นศาลาพันห้องด้วยเหตุที่ว่ามีสภาพเก่าทรุดโทรม ทำให้ต้องเคลื่อนย้ายวัตถุที่เคยจัดแสดงมากองรวมไว้ด้วยกันอยู่ในสภาพคล้ายส่วนเก็บของ ยังไม่มีเวลาจัดแสดงใหม่ ในอนาคตทางวัดและคณะกรรมการคิดว่าต้องการรื้อฟื้นและจัดการพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
 
วัตถุและเนื้อหาจัดแสดง
เนื่องจากในขณะนี้วัตถุส่วนใหญ่ถูกนำมากองรวมกันจึงยังไม่มีการจัดแสดงเพื่อเล่าเรื่อง แต่จากการนำชมและบอกเล่าเกี่ยวกับวัตถุในพิพิธภัณฑ์ก็ทำให้พอจะแบ่งออกได้เป็น 7หมวด ดังนี้
 
เครื่องมือทอผ้า ประกอบด้วย ไนเข็นฝ้าย จ่อเลี้ยงไหม เพียก (ใช้ใส่สำหรับดีดฝ้าย) สายดีดฝ้าย (ลักษณะคล้ายคันธนู) กวักปั่นฝ้าย อิ้วหีบเม็ดฝ้าย จี้กวักไหม ฟืมทอผ้า แผงหวี (หวีใช้หวีเส้นฝ้าย ทำจากก้านตาล) ที่สาวไหม หม้อสาวไหม ไม้ขืบสาวไหม (ใช้ในการบังคับเส้นไหมเป็นเส้นเดี่ยวเวลาดึงขึ้นจากหม้อต้มก่อนจะขึ้นไปที่ที่สาวไหม) และกระบุงใส่เส้นไหม/เส้นฝ้าย 
 
เครื่องมือเครื่องใช้ในการจับสัตว์น้ำและนก ประกอบด้วย ซ่อนดักปลา (คล้ายอีจู๊ดักปลาไหล ลักษณะเป็นปากแตรมีเขี้ยวกันไม่ให้ปลาว่ายออก ล่อให้ปลาว่ายเข้าไป ตอนท้ายเป็นกรวยมน) ข้องใส่ลา ไซ ลอบดักปลา กรงต่อนกคุ่ม กรงนกเขา
 
เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ขันหมากไม้ ครกไม้ โบมใส่ข้าวเหนียว และตะกร้าสาน
 
เครื่องใช้ในการเกษตร คราด ไถ
 
ของใช้ในวัด กลองของวัดพร้อมหน้ากลองหนัง ขนาดใหญ่ ปัจจุบันชำรุด
 
เอกสารเก่า มีทั้งจดหมายเก่าที่ลูกหลานในหมู่บ้านส่งมาตั้งแต่ พ.ศ.2508 และเก็บรักษาไว้ที่วัด และสมุดบันทึก
 
อุปกรณ์ในการตีหม้อ ในอดีตหมู่บ้านแห่งนี้มีช่างทำหม้อดินเผาไว้สำหรับใช้ทั้งในครัวเรือน/หมู่บ้านเอง และส่งขายไปยังหมู่บ้านในละแวกใกล้เคียง ปัจจุบันคือเขตอำเภอเกษตรสมบูรณ์และหนองบัวแดง (ในจังหวัดชัยภูมิ) ขณะนำชม คุณพะยอม แสงสุขอายุ 61 ปี ยังสามารถสาธิตวิธีการผลิตได้ดี คุณพะยอมเล่าว่าในอดีตอุปกรณ์ในการทำหม้อดินเผานี้จะให้ผู้ชายในครอบครัวเป็นผู้จัดทำ คือไม้คอ (ใช้ตีขึ้นโครงและขึ้นรูปหม้อ) ไม้ลาย (ใช้ตีลายบนหม้อดิน และบางครั้งก็ใช้ตีขึ้นรูปด้วย) รวมทั้งหาวัตถุดิบคือดินจากหนองน้ำสาธารณะใกล้หมู่บ้าน ส่วนผู้หญิงจะเป็นคนปั้นทุกกระบวนการตั้งแต่การขึ้นหม้อ การทำลาย ทำหินดุ (หินที่ใช้รองขณะตีขึ้นรูป) ส่วนขั้นตอนการเผานั้นต้องใช้แรงงานหลายๆ คน อย่างน้อย 3 คน เพื่อช่วยในการโยนฟางเผาในแต่ละด้านให้ไฟไหม้ทั่วถึง
 
การบริหารจัดการ
การบริหารจัดการของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการร่วมมือของคนในชุมชน คือ กรรมการวัด ผู้แทนชาวบ้านในชุมชน ทั้งในแง่ของสถานที่ (ทางวัด) การดูแลจัดหาวัตถุ และการนำชม (กรรมการวัด และชาวบ้านในชุมชน) ปัญหาในขณะนี้คือ ต้องการผู้ช่วยแนะนำและช่วยจัดการเพื่อการจัดแสดงวัตถุ
 
การเดินทาง
เดินทางด้วยรถยนต์จากกรุงเทพไปตามถนนพหลโยธิน มุ่งขึ้นเหนือไปทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อถึงช่วงรังสิตเลือกช่องทางสู่ถนนพหลโยธิน วิ่งตรงไปเรื่อยๆ ผ่านอำเภอวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตรเมื่อเข้าสู่เขตตัวเมืองสระบุรี จะมีทางเบี่ยงขวาเข้าสู่ถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) ผ่านสระบุรี อำเภอแก่งคอย อำเภอปากช่อง และเมื่อเข้าเขตอำเภอสีคิ้วก่อนเข้าอำเภอเมืองโคราช ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร ก่อนเข้าตัวเมืองชัยภูมิ จะพบสามแยกที่เรียกว่าสามแยกบายพาส (ถนนเส้นเลี่ยงเมือง) ให้เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนหมายเลข 201 ขับตรงไประมาณ 43 กิโลเมตร จะพบสามแยกที่ทางขวามือป้ายบอกทางไปจังหวัดขอนแก่น เลือกเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนหมายเลข 201 ขับตรงไปอีกประมาณ 40 กิโลเมตร ผ่านอำเภอแก้งคร้อ และอำเภอภูเขียวตามลำดับ เมื่อเข้าเขตอำเภอภูเขียวจะพบสามแยกบเลี้ยวโค้งขวาไปตามถนนสายหลัก วิ่งผ่านตัวอำเภอภูเขียวขับตรงไปเรื่อยๆ ประมาณ 7 กิโลเมตร จะสี่แยกเล็ก เลี้ยวซ้ายไปตามป้ายบอกทางไปโรงเรียนหนองสองห้อง หรือพระธาตุหนองสามหมื่น เป็นเส้นทางหมายเลข 2055 วิ่งตรงไปประมาณ  6.5 กิโลเมตร มีจุดสังเกต เป็นสี่แยกขนาดเล็กมีอาคารของสถานีตำรวจภูธรบ้านแก้ง อยู่ทางด้านขวามือ จะขับต่อมาประมาณ 1.5 กิโลเมตร จะเห็นป้ายทางซ้ายมือ บอกทางไปพระธาตุหนองสามหมื่น เมื่อเลี้ยวซ้ายเข้าไปตรงไปเรื่อยๆ ประมาณ 4 กิโลเมตร จะถึงวัดพระธาตุหนองสามหมื่น
 
พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ / เขียน
สำรวจภาคสนาม เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2556
 
อ้างอิง
สัมภาษณ์ คุณกัณหา อินทร์รินทร์ อายุ 53 ปี ผู้ใหญ่บ้านธาตุสามหมื่น วันที่ 14 กันยายน 2556
สัมภาษณ์ คุณพะยอม แสงสุข อายุ 61 ปี วันที่ 14 กันยายน 2556
สัมภาษณ์ คุณศิริลักษณ์ ประเสริฐกุล ไวยาวัจกรของวัดพระธาตุหนองสามหมื่น วันที่ 14 กันยายน 2556
สัมภาษณ์ คุณสวัสดิ์ แสดง อายุ 80 ปี อดีตไวยาวัจกรวัดพระธาตุหนองสามหมื่น วันที่ 14 กันยายน 2556
ชื่อผู้แต่ง:
-